วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

N vs N : Nolan vs Netflix กับอนาคตของสื่อชื่อ ภาพยนตร์

หลังจากที่ Netflix สร้างแรงสะเทือนให้วงการด้วยการให้ทุนสร้างภาพยนตร์แก่ผู้กำกับหลายคน กำกับงานที่น่าสนใจออกมา แต่จะฉายเฉพาะในบริการของ Netflix เท่านั้น ไม่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์หรือช่องทางอื่น

ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมแก่วงการภาพยนตร์เมื่อหนังที่สร้างด้วยโมเดลนี้ ได้มีชื่อร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งแรงกระเพื่อมดังกล่าวก็ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับหลายฝ่ายมากมาย มีทั้งฝ่ายที่ตอบรับอย่างกระตือรือร้น และฝ่ายที่ออกมาแสดงท่าทีต่อต้าน ไม่เห็นด้วย อย่างเช่น ผู้กำกับ เปโดร อัลโมโดวาร์ (Pedro Almodóvar) (All about my Mother, Talk to Her, Bad Education, The Skin I Live in, I'm So Excited, Julieta เป็นต้น) ที่ออกมาคัดค้านเสียงแข็ง จนต้องมีการเขียนกติกาของภาพยนตร์ที่จะเข้าประกวดให้รัดกุมขึ้นในครั้งต่อๆไป (อย่างที่ได้เคยพล่ามไว้อีกที่ไปแล้ว)

Pedro Almodóvar


คนหนึ่งที่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ผู้กำกับขวัญใจของหลายๆคน นั่นเอง

Christopher Nolan

โดยเขาแสดงทรรศนะว่าการที่ภาพยนตร์มีฉายเฉพาะช่องทางของ Netflix เท่านั้น จะทำให้อรรถรสของการรับชมบนจอภาพยนตร์ใหญ่ๆลดลงไป ซึ่งแม้ไม่ได้เป็นความเห็นที่เกรี้ยวกราดอะไร แต่ก็อาจจะอย่างที่ข่าวที่ไปเห็นมาจาก Blognone กล่าวไว้ ว่าคงไม่มีชื่อ คริสโตเฟอร์ โนแลน ร่วมงานกับ Netflix แน่ๆ อย่างน้อยก็ในระยะอันใกล้นี้...

(ซึ่งจะว่าไปผู้กำกับอย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน คงไม่เดือดร้อนอะไร จากสถานะของภาพยนตร์ที่เขากำกับ โดยเฉพาะเรื่องหลังๆที่แม้จะทุนสูง แต่ก็ทำรายได้สูงด้วย ขณะที่ผู้กำกับหลายคนก็ให้ความสนใจกับ Netflix ที่เป็นโอกาสและช่องทางหนึ่งที่จะแสดงวิสัยทัศน์และความคิดของเขาผ่านการออกมาเป็นภาพยนตร์ได้)

ความจริงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และยังคงอยู่คู่กับวิถีชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์เสมอมา ภาพยนตร์เองก็เป็นสื่อและรูปแบบการรับชมที่เกิดขึ้นก่อนโทรทัศน์ และเทคโนโลยีในบันทึกและการรับชมรับฟังสื่อผ่านเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงก็มาหลายอย่าง ตั้งแต่ภาพยนตร์ขาว-ดำที่ไม่มีแทร็กเสียง ภาพยนตร์สีที่ได้มาจากการย้อมสีหรือระบายสีลงบนฟิล์ม การพัฒนาระบบเสียงรอบทิศทาง การรับชมแบบ 3มิติทั้งจะด้วยแว่นน้ำเงิน-แดง หรือเทคโนโลยี 3มิติอย่างในปัจจุบัน ซึ่งใช้เทคนิค Stereoscopic ที่อาศัยคุณสมบัติของระบบการมองภาพด้วยสองตาของมนุษย์เช่นเดียวกัน ระบบกล้องและระบบฉายอย่าง IMAX จออย่าง Screen X หรือ มีเก้าอี้โยกได้ พ่นควันใส่ แบบโรง 4DX การที่เทคโนโลยีถ่ายภาพเคลื่อนไหวพัฒนาขึ้นด้วยระบบดิจิตอล และมีขนาดเล็กลง อินเตอร์เน็ตที่ส่งข้อมูลได้มากขึ้นเร็วขึ้น หรือการเข้าสู่เทคโนโลยีอย่าง VR (Virtual Reality) ที่เพิ่มประสบการณ์ในการรับชมภาพเคลื่อนไหวโดยขยายมุมมองในการรับชมได้มากกว่าเดิม หรือเทคโนโลยีอย่าง AR (Augmented Reality) ที่ผนวกเข้ากับเรื่องของการอ้างอิงตำแหน่งหรือสถานที่ในความเป็นจริง (อย่าง Pokemon Go นี่ก็ใช่) ฯลฯ

หลายทรรศนะก็ให้ความเห็นว่า ประสบการณ์การรับชมภาพยนตร์บนจอยักษ์นั้นที่น่าประทับใจนั้น ไม่อาจทดแทนด้วยการนั่งชมที่บ้านได้ (คงไม่มีใครที่จะตั้งโปรเจคเตอร์จอยักษ์เท่า IMAX ที่บ้านได้ เป็นต้น หรือ... แม้คิดว่าคงมีคนทำได้ ก็คงมีไม่กี่คนในโลกหรอกที่ทำได้...ผมก็ไม่ใช่อ่ะคนนึง - -)

แน่นอนว่าการรับชมภาพยนตร์หลายเรื่องบนจอ 'ขนาดใหญ่' ในบรรยากาศของโรงภาพยนตร์นั้นเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจ และภาพยนตร์หลายเรื่องที่แม้จะสื่อความดีงาม (หมายถึงอิมแพ็คท์หรือคุณภาพ ไม่เกี่ยวกับศีลธรรมแต่อย่างใด) ได้แม้จะชมในจอเล็กกว่า แต่เมื่อรับชมบนจอใหญ่มันก็จะยิ่งเพิ่มความน่าประทับใจในประสบการณ์รับชมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ และภาพยนตร์หลายเรื่องก็สามารถมอบความรู้สึก ความคาดหวังว่ามันคงเป็นประสบการณ์ที่เจ๋ง ถ้าจะได้ชมบนจอใหญ่ IMAX ได้ (อย่าง Dunkirk ของ โนแลนเอง ที่ถ่ายด้วยกล้อง IMAX และจะเข้าโรง IMAX ด้วย) อย่างการได้ดูกำปั้นยักษ์ของหุ่นตัวเท่าตึกเหวี่ยงชนหน้าสัตว์ประหลาดบนจอเท่าตึก เครื่องบินบินผ่านหัว (ที่อยู่ตรงหน้า ไม่ได้อยู่บนหัว อันนั้นเป็นความรู้สึก) หรือหวังว่าจะได้เห็นซอมบี้กระโจนมาตรงหน้าราวกับพุ่งออกจากจอ (ขนาดปากมันคงงับตรูได้ทั้งตัวเลยมั้ง - เจ๋งสัส - จริงๆอยากดูชินก๊อตซิลล่าในโรง IMAX ว้อยย - ไหนดูซิ ถ้าเข้าดูจริงจะมีคนดูมากหรือน้อยกว่ารอบที่ไปดู Lego Batman Movie... แต่มันสนุกสลัดทั้ง2เรื่องเลยนะ) หรือกระทั่งได้ดู พระ นาง เต้นหยอกเอินกันในหนังเพลง บนจอใหญ่ๆ แต่ก็ไม่ใช่หนังทุกเรื่องจะประจุความคาดหวังให้กับผู้ชมได้ขนาดนั้น บางเรื่องก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องดูจอใหญ่ๆให้ต้องเอี้ยวคอทำไมเหมือนกัน อย่างไรจอในโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ก็ใหญ่กว่าจอที่ดูกันตามบ้านทั้่วไปแน่ล่ะ

และประสบการณ์และความคาดหวังของทุกคนต่อการรับชมบนจอในโรงภาพยนตร์ก็คงไม่เหมือนกัน เช่น ในการมีจออย่าง IMAX ถ้าไม่ใช่ว่าทุกโรงจอเท่าตึกหมด ราคาเท่ากันหมด หรือไม่แพงเกิน ทุกคนก็คงตบเท้าเข้าชมในโรงจอยักษ์กันหมด แต่ถ้าไม่ บางคนก็คงต้องเลือกว่าเรื่องไหนสนใจจะเข้าชมในโรงจอยักษ์ซึ่งราคาก็จะสูงกว่าเป็นธรรมดา (หรือบางคนอาจจะอยากชมกันสองคนบนเก้าอี้โซฟามีผ้าห่มให้...ก็ช่างแก) เรื่องไหนดูจอขนาดย่อมกว่าย่อมเยากว่าก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นกับความคาดหมายของผู้จัดจำหน่ายและธุรกิจโรงภาพยนตร์ว่าในเมื่อโรงใหญ่ใช้พื้นที่เยอะ เทคโนโลยีแพงกว่า ก็จะมีจำนวนน้อยและแพงเป็นธรรมดา

ไม่นับว่าโรงภาพยนตร์นั้นเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะผสานกันอยู่ บางคนก็มีมุมมองในการใช้โรงภาพยนตร์ไม่เหมือนกัน บางคนไม่เข้าโรงหนังคนเดียว (ถ้าต้องดูคนเดียว กรูโหลดดูอยู่บ้านดีกว่า) บางคนก็ชอบดูคนเดียว บางคนต้องซื้อป๊อบคอร์น น้ำอัดลมเข้าไป บางคนก็ไม่ชอบ บางคนชอบดูเงียบๆสงบๆ แต่บางคนชอบเดินเข้าออก ขออนุญาตปัสสาวะ ซื้อน้ำกินขนมระหว่างดู เอ็กซ์ไซท์ก็อยากตะโกนดังๆ อยากรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน บางคนมีครอบครัว แต่อยากดูก๊อตซิลล่าซาวด์แทร็กซึ่งมีรอบสามทุ่มครึ่ง ก็ต้องหนีบลูกมาดูด้วย ซึ่ง...ก็ไม่น่าจะดูรู้เรื่อง เล่นซ่อนหาสนุกกว่าอีกอ่ะไรงี้ ห่วงธุรกิจ ห่วงไลน์ ห่วงนัดเพื่อน หนังน่าเบื่อแต่ต้องรอเมียตัดผม นอนแช่แอร์มันที่นี่แหละ กรนรึเปล่าก็ไม่รู้? ขอใส่คอสตูมหมวกปีกทรงสูงแบบ Mad Hatter มาดูด้วยได้ไหม(เมิงไปยืนดูแถวหลังสุดเลยไป) ฯลฯ (อีกมากมาย ถ้าต้องเขียนไปเรื่อยๆ 2เดือนก็อาจยังเขียนจบไม่ลง เพราะงั้น พอ) ซึ่งการใช้พื้นที่ร่วมกันก็เป็นมารยาทสังคมที่รับรู้ร่วมกันในระดับหนึ่ง แต่นอกจากการตีความเรื่องเหล่านี้ของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน (ซึ่งบางเรื่องก็มีให้งงว่าทำไม) มันก็รับประกันไม่ได้ว่าคุณจะไม่แจ๊กพ๊อตในหนังสำคัญที่คุณตั้งใจมาดูมาตั้งแต่ 8 เดือนที่แล้ว เพราะฉะนั้นความสะดวกใจในการชมภาพยนตร์ก็มีสิทธิ์เปลี่ยนผันไปตามประสบการณ์ ความคาดหวัง หรือการรับรู้สภาพการณ์รอบข้างที่แต่ละคนได้รับ (เช่น บางคนอาจจะคิดว่าการที่ตรูบ่นความรู้ซึ่งดูมาก่อนรู้มาก่อนแล้วกับเพื่อน คนข้างๆที่อยู่แถวนั้นน่าจะได้ประโยชน์ด้วย เพราะทุกเรื่องที่ดูมา 2 เดือนนี้ประมาณครึ่งโหลทำอย่างน้ทุกเรื่องก็ไม่เห็นมีใครบ่นอะไร (มีแต่ลุกไปฉี่แล้วไม่เห็นกลับมานั่งเลย) แบบนี้เป็นต้น เลิกเรื่องนี้ได้แล้ว พอ)

หรือบางครั้งการรับชมก็จะมีเงื่อนไข เช่น โรงเองมีพื้นที่และรอบฉายจำกัด ถ้าเป็นรอบที่ไม่สะดวก หรือกลับกัน เราซื้อตั๋วอยู่คนเดียว แล้วโรงมีนโยบายยกเลิกรอบถ้าคนซื้อตั๋วไม่ถึง 5 คนก็จะไม่ได้ดู (แต่เห็นหลังๆหลายรอบหลายโรงที่ไปดูก็คนน้อย แต่ก็ได้ดูนะ แต่ก็ไม่ได้นั่งมองรอบตัวนับผู้ชม เพราะฉะนั้นอันนี้ไม่คอมเฟิร์มว่าจริงหรือไม่จริง) ในช่วงหลังๆ ด้วยฟอร์แมตที่เป็นดิจิตอล ภาพยนตร์เองก็มีการฉายในพื้นที่นอกโรงภาพยนตร์มากขึ้น เช่น หอศิลป์ ห้องสมุด หรือร้านอาหาร บาร์ (อารมณ์คล้ายๆจิบเบียร์ดูบอล - แต่ผมก็ไม่ใช่แนวนั้น ถ้าไปก็ไปนั่งดูอย่างเดียว) ซึ่งก็อาจมีข้อจำกัดหรือบรรยากาศที่ต่างไป และก็ไม่ใช่ทุกเรื่องที่อาจจะเหมาะกับทุกบรรยากาศการฉายก็ได้ (เรื่องนี้เองก็น่าสนใจ อาจได้มาพูดถึงจริงจังในคราวต่อๆไป)

ด้านเทคโนโลยีเองก็มีการตอบรับต่างกัน  เทคโนโลยีบางอย่างอย่าง 3D ก็ใช่จะเป็นสิ่งที่ทุกคนชอบ (แต่ผมน่ะชอบอยู่) เกิดดับมาก็หลายครั้ง ขนาดเครื่องรับโทรทัศน์ 3D ที่เคยออกวางจำหน่ายหลากหลายรุ่นและยี่ห้อหลังๆก็ไม่เห็นแล้ว ก็กลายเป็น จอโค้ง เพิ่มความละเอียดเป็น 4K หรือเทคโนโลยีภาพอันน่าประทับใจอย่าง OLED  แต่มันก็โคตรแพงด้วย เป็นต้น ขนาดเครื่องเกมสุดฮิตของ Nintendo อย่าง 3DS ที่ดูชื่อก็รู้ว่ามีเทคโนโลยี 3D (แบบไม่ต้องใช้แว่น) เป็นจุดขาย ยังออกรุ่น 2DS ออกมาวางขายคู่กันเลย (หรือดูอย่าง Virtual Boy เครื่องเกมในตำนานของ Nintendo ซิ...) หรืออย่าง 4DX ที่ก็มีลักษณะของเครื่องเล่นสวนสนุกผสมอยู่ ก็ใช่จะเหมาะกับหนังทุกเรื่องทุกแบบ และบางคนก็ไม่ชอบเลยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เราก็ได้เห็นเทคโนโลยีทั้ง ดับไป หรือเกิดมาใหม่ อย่าง 3D ที่ทุกวันนี้ก็ยังแชร์พื้นที่ในโรงภาพยนตร์อยู่ (และในบางพื้นที่รอบก็ลดลงอย่างน่าใจหาย แม้ก่อนหน้าเขาจะให้เราออกตังค์ซื้อแว่นก็ตาม - อันนี้แล้วแต่เครือ) 4DX หรือ Screen X ก็ดูเป็นความพยายามที่จะมอบประสบการณ์ที่แตกต่าง(และแพงกว่า)ให้กับผู้ชม

ทางฝั่งคนสร้างเองก็มีทัศนคติต่อเทคโนโลยีภาพยนตร์แตกต่างกันไป อย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน เองแม้จะดูชื่นชอบเทคโนโลยีของ IMAX หนังที่แกกำกับเรื่องหลังๆก็ถ่ายทำด้วยกล้อง IMAX ตลอด แต่แกก็ไม่เคยเอาหนังเข้าฉายด้วยเทคโนโลยี IMAX 3D เลย ขณะที่ผู้กำกับอย่าง เจมส์ คาเมรอน ก็ต้องถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ IMAX ขยายโรงได้อีกเยอะ รวมทั้งขยายอายุและความสนใจให้เทคโนโลยี 3D ด้วยหนังปรากฏการณ์อย่าง Avatar (และตอนที่ไม่มีหนังเข้าโรง หรือหนังเลื่อนเข้าโรงไป แกก็เอาตังค์ไปสร้างเรือดำน้ำดำลงไปดูก้นทะเลตามที่แกใฝ่ฝัน - กลายเป็นหนังสารคดีได้อีก) ผู้กำกับจอมเอ็ฟเฟ็กท์สุดเนี๊ยบอย่าง เดวิด ฟินเชอร์ เอง (ที่หนังหลายเรื่องของแกดูเหมือนไม่ใช้เอ็ฟเฟ็คท์ แต่จริงๆใช้เอ็ฟเฟ็คท์แบบเข้มข้นมาก แบบใช้เยอะทั้งที่จริงๆดูเหมือนไม่ใช้เลย) ก็ดูจะไม่สน 3D เลย หรือแม้จะมีหลายคนกังขากับ VR แต่ผู้กำกับอย่าง สตีเว่นสปีลเบิร์กก็ดูจะสนใจกับเทคโนโลยีนี้มาก (อยากดู The Martian VR ว้อยย) กระทั่งโมเดลการนำเสนอหนังสู่บ้านของ ชอร์น ปาร์คเกอร์ ที่หลายคนเองคัดค้าน ก็ยังมีแบ็คอย่าง สปีลเบิร์ก เอง ปีเตอร์ แจ็คสัน และ เจ.เจ. อับรามส์ ด้วย

สุดท้าย...ก็เป็นไปได้ว่า เทคโนโลยีหลายอย่างก็อาจถึงคราวตกยุคและหายไปจากวงกว้าง 3D อาจหายไปอีกรอบ บางอย่างอาจถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ  อาจจะเลือนหายไปโดยเราไม่รู้สึกตัว กระทั่งรูปลักษณ์ของภาพยนตร์อาจเปลี่ยนไป หรือถูกแบ่งย่อยมากขึ้น อย่างเทคโนโลยีอย่าง VR เองก็น่าสนใจ แม้อุปกรณ์ของมันจะขนาดไม่ใหญ่ และตอนนี้เทคโนโลยี VR ที่ดีในระดับหนึ่งก็เข้าสู่การใช้งานในบ้านด้วยราคาที่ไม่แพงเกินอยากจะเอื้อมแล้ว แต่สมมติว่าถ้าต้องการคุณภาพ VR ระดับเทพมากๆแล้วอาจมี cost มหาศาล ต่อไปในโรงภาพยนตร์อาจกลายเป็นอุปกรณ์ VR ที่ราคาแพงเกินกว่าจะเอาไปตั้งไว้ที่บ้าน ทุกคนเข้ามาดูเหมือนเป็นโรง VR (หรืออาจตั้งอยู่หัวมุมหมู่บ้านก็ได้?) มีความส่วนตัวที่ไม่ต้องกังวลว่าจะมีไอนั่นเดินลุกไปฉี่บังเราตอนฉากไคลแม็กซ์ ที่ถ่ายทำด้วยเทคโนโลยีภาพยนตร์ขั้นเทพโคตรแพง ดูราวกับของจริงที่สัมผัสได้ (ต่อไปอาจจะได้จริงๆ) ระดับที่การรับรู้ของเราถูกขังอยู่กับโลกใบนั้น และเรารู้สึกว่าสัตว์ประหลาดตรงหน้าใหญ่โตกว่าจอ IMAX และใหญ่เท่าตึก 30 ชั้นจริงๆ (จนพอมันงาบลงมา คน 15% อาจถึงกับหัวใจวายตายได้ และภาพยนตร์ก็อาจต้องมีการจัดเรตกันใหม่ หรือกระทั่งกระทบต่อกฏหมายอื่นๆ) อาจถึงขั้น โฮโลแกรม หรือรูปลักษณ์ก็อาจเปลี่ยนไปเหมือน ภาพยนตร์ Interactive ที่ Netflix กำลังมีแผนนำเสนอ จนอาจถึงวันที่ภาพยนตร์ที่ดูเรื่องหนึ่งอาจนำเสนอด้วยผู้กำกับ 7 คน หรือมันอาจกลายไปเป็นแค่เกมหนุกๆขำๆ ที่บางคนอาจจะชอบกว่าการดูวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ จนภาพยนตร์แบบเดิมเสื่อมความนิยมไปอย่างน่าเสียดายก็ได้ (ผมอยู่ฝั่งเสียดายไปก่อนเลยละกัน)

จนกว่าจะถึงวันนั้น...เราคงยังไม่รู้ว่ามันจะกลายไปเป็นอย่างไร และคงไม่มีใครตอบได้ แต่ในระหว่างที่เทคโนโลยีใหม่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ ความสนใจ ผสมผสาน เกิด ดับ กันไป ผสานไปกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม(ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของธรรมชาตินะ) และพฤติกรรมของคนในสังคม เทคโนโลยีอันหลากหลายก็มอบพื้นที่ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อมาทดลองช่วงชิงความสนใจจากผู้บริโภคต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่แม้จะมีความกังวลกับสิ่งที่อาจเลือนหายหรือเปลี่ยนรูปไป มันก็เป็นไปได้ที่จะมอบพื้นที่ใหม่ๆ อย่างเทคโนโลยีดิจิตอล ที่มีประสิทธิภาพขึ้น และทำให้การถ่ายทำมีราคาถูกลง การรวบรวมทุนในลักษณะ Crowd Funding การฉายภาพยนตร์ในบริบทใหม่ๆ หรือช่องทางอย่าง Netflix ก็ตาม แน่นอนว่าต้องมีการดื้นรนในระหว่างทางและพื้นที่เหล่านี้อย่างมากมาย

แต่ในระหว่างการดิ้นรนเหล่านั้น ก็อาจไม่ได้นำมาซึ่งสิ่งที่แย่หรือน่าผิดหวังเท่านั้นก็ได้ ครั้งนึงเมื่อวงการภาพยนตร์เผชิญกับสิ่งที่เรียกว่าโทรทัศน์และโฮมวิดีโอ ความไม่รู้จะไปทางไหน ก็ยังเป็นส่วนกดดันให้พื้นที่ที่ต้องการกำไรอย่าง ฮอลลีวู้ด สร้างหนังและผู้กำกับระดับตำนานที่น่าสนใจมากมากมาย อย่างที่บ้างก็กล่าวว่า ถ้าไม่ใช่ในยุคสมัยนั้น หนังอย่าง 2001: A Space Odyssey ของ สแตนลี่ย์ คูบริก หรือ Taxi Driver ของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ อาจไม่ได้สร้างมาประดับวงการก็เป็นได้

ในระหว่างที่อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านด้วยความกังวล ก็น่าจะยังมีพื้นที่ที่ให้เรารอคอยด้วยความตื่นเต้นได้...

ด้วยความหวังว่าท่ามกลางการต่อสู้ดิ้นรนเหล่านี้ จะไม่ได้มีเพียงสิ่งที่สูญหายสลายไป แต่จะมีบางสิ่งตกสะเก็ดออกมาเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงและน่าประทับใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น