วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เทศกาลภาพยนตร์บูรณะแห่งเอเชีย @ Lido : รำลึก ลิโด-สกาล่า ตอนที่ 2 ลิโด

แน่นอนว่าจากที่กล่าวไปในครั้งที่แล้ว ว่าความตั้งใจหนึ่งของผมคือการไปดูสโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ในโครงการ ทึ่ง ! หนังโลก ที่สกาล่า เมื่อใกล้วันฉายและใกล้วันเดินทางเพื่อเข้ากรุงนั้น ผมก็ทำสิ่งที่เคยทำอยู่เป็นกิจวัตรในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้ทำมานานเหมือนกัน นั่นก็คือเข้าไปเช็คที่เว็บไซต์ และ facebook ของ Apex ดูเสียหน่อย (ซึ่งจริงๆไม่ต้องก็ได้เพราะก็รู้อยู่แล้วว่าสโนไวท์ฯฉายวันไหน เพราะมันก็มีวันเดียวรอบเดียว แต่มันเป็นความเคยชินน่ะครับ) และแล้ว... ผมก็พบว่าในช่วงเดียวกันนี้ มันมีโครงการ เทศกาลภาพยนตร์บูรณะ ของหอภาพยนตร์จัดภาพยนตร์มาฉายที่โรงภาพยนตร์ Lido แถมช่วงเวลามันก็ช่างพอดีกับเวลาที่ผมเข้าเมืองกรุงเหลือเกิน

ตอนนั้นไม่ได้ไปหาข้อมูลอะไรเพิ่มเลยครับ ภาพยนตร์บูรณะคืออะไรก็ไม่แน่ใจ เดาไว้ว่าคงคล้ายๆตอน เจอฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา แล้วเขาเอามาเข้ากระบวนการบูรณะใหม่ อะไรแบบนี้ รู้แค่ชื่อภาพยนตร์แต่ละเริ่องที่เข้าฉาย มาจากหลากหลายประเทศ ซึ่งก็ไม่รู้จักซักเรื่อง (คุ้นๆอยู่แค่ Gate of Flesh ล่ะกระมัง) แต่ตั้งใจไว้เลยว่า เราจะไปดูแน่นอน รายละเอียดอะไรก็ช่างมัน ไปให้ทันดูก่อนก็แล้วกัน

ภาพจาก www.womjapan.com


นั่นล่ะครับ มันก็เป็นมาด้วยประการล่ะแบบนี้เอง พอเห็นท่าว่า เฮ้ย แถมไม่น่าเชื่อเผลอๆจะไปดูได้ทุกเรื่องในโปรแกรมด้วยเว้ยเฮ้ย เราก็ดีใจเล็กๆ ซึ่งบางคนคงไม่แน่ใจว่าจะดีใจทำไม แต่ก็เอาน่ะ ผมดีใจของผม มันก็ช่วยไม่ได้

จริงๆแล้วนี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่คาดหวังได้จาก ลิโด-สกาล่า ในช่วงหลังๆมานี้อยู่แล้ว เนื่องจากหลังยุครุ่งเรื่องของโรงภาพยนตร์ที่เพิ่งเริ่มสร้างธุรกิจ และตัวอาคารให้มีความโอ่โถง รองรับผู้ชมได้เป็นจำนวนมาก จนหลังๆโรงภาพยนตร์กลายเป็นมัลติเพล็กซ์ แตกเป็นโรงย่อยๆขนาดพอประมาณหลายๆโรง ย้ายตัวไปอยู่บนตึกอาคาร มีที่จอดรถ ทีกิน ที่ช๊อปฯ สรรพสินค้า ฯลฯ ทั้งในเวลาต่อมาการดูหนังก็สะดวกไปอีกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเตอร์เน็ต โรงภาพยนตร์แบบเก่าจึงซบเซาลงมากกว่ายุครุ่งเรืองมาก

โรงภาพยนตร์ในเครือ Apex ก็ไม่ต่างกัน ทั้ง สยาม ลิโด สกาล่า ว่าไปการที่โรงยังยืนหยัดฉายหนังในรูปแบบโรงภาพยนตร์แบบเดิมมาจนปัจจุบันได้น่าจะเป็นเรื่องที่น่าทึ่งอย่างนึงด้วยซ้ำ ทั้งๆที่โรงภาพยนตร์อันใหญ่โตมีชื่อและรุ่งเรื่องในอดีตล้วนล้มเลิกกิจการกันไปหมดแล้ว

ว่าไป ลิโด (ที่เรา และก็ผม รู้จัก) ในตอนนี้ ก็ไม่เชิงเป็นโรงภาพยนตร์ในรูปแบบดั้งเดิมนัก เพราะครั้งนึงลิโดก็เป็นโรงใหญ่ Stand Alone รองรับผู้ชมจำนวนมากและฉายภาพยนตร์ได้ครั้งละ 1 เรื่อง เหมือนๆสยามกับสกาล่าน่ะแหละ แต่ในกาลต่อมาลิโดเกิดไฟไหม้ หลายอย่างเสียหายไป แต่ลิโดก็ยังไม่ล้มเลิก ยังปรับปรุงโรงและพื้นที่โรง เพื่อเป็นโรงฉายภาพยนตร์ขนาดเล็กลง 3 โรง รายล้อมด้วยพื้นที่ร้านค้าให้เช่า โรงภาพยนตร์ลิโดจึงยังคงยืนหยัดเป็นสถานที่ฉายภาพยนตร์แห่งหนึ่งกลางสยามมาจนทุกวันนี้

ผมเองรู้เรื่องเหล่านี้หลังจากรู้จักกับ ลิโด ครั้งแรกๆไปเป็นปีแล้ว(มัง) ก็แปลกใจอยู่นิดๆว่าทำไม ลิโด ไม่เหมือนโรง สยาม กับ สกาล่า (แต่ก็ไม่ค่อยได้คิดเรื่องนี้หรอก ทีแรกคิดเอาเองว่าหรือลิโดจะสร้างทีหลังสุด แล้วเขาปรับให้ย่อยเป็นหลายโรงสไตล์คล้ายๆมัลติเพล็กซ์ด้วยซ้ำ)

ผมลองพยายามนึกดู ก็จำไม่ได้ซะแล้วว่าภาพยนตร์เรื่องอะไรที่ผมได้เข้าไปดูที่ ลิโด เป็นครั้งแรก หรือความจริงจะให้นึกเรื่องแรกที่ไปดูที่ สยาม หรือ สกาล่า ก็จำไม่ได้เหมือนกัน - - (จะ SF Cinema City MBK หรือจะ Paragon โน้นนี่ ก็จำไม่ได้เหมือนกันเหอะ แม้ว่าจะมีเรื่อง 'พิเศษ' ที่จำได้ในกรณีเฉพาะกว่านี้ก็ตาม...) เอาเป็นว่าในครั้งแรกที่เข้ากรุงไปอยู่แถวๆนั้นเป็นนานนั้น ผมไม่ได้เข้าไปดูหนังที่ทั้ง 3 โรงเป็นที่แรกๆหรอกครับ ก็เข้าไปดูในโรงมัลติเพล็กซ์ตามห้างทั่วไปนั่นแหละ SF MBK ไรงี้ จำได้ว่าตอนนั้นยังมี EGV ที่ Siam Discovery กับ Big C ตรงข้าม World Trade Center (อดีตของ Central World ฮะ เผื่อใครไม่รู้) อยู่เลย (แถมโรงภาพยนตร์บน World Trade Center ก็เป็นโรงของเครือ Major ซะด้วยนะ) พารากอนยังไม่มีด้วยซ้ำ (อืม ดูยาวนานขึ้นมาทันที แถม:เป็นยุคที่หนังเข้าใหม่ยังเปิดตัววันศุกร์กันอยู่เลย อืม...)

เอาเป็นว่าครั้งแรกจริงๆที่ผมขึ้นไปเพื่อจะดูว่าโรงภาพยนตร์ ลิโด เป็นยังไง ถ้าพูดกันตรงๆ ผมออกอาการ เหวอ นิดๆด้วยซ้ำ เพราะมันดูต่างจากโรงตามห้างอยู่ประมาณหนึ่ง (ก่อนหน้ายุคนั้นผมไม่ค่อยได้ดูภาพยนตร์เท่าไหร่ครับ ไม่มากที่มากโรงนัก ไม่ว่าจะจังหวัดไหนก็ตาม ภาพของโรงภาพยนตร์ในความคิดของผมก็เลยไม่ได้หลากหลายอะไรนัก) แต่สรุปแล้วทำไปทำมา สรุปก็ได้ไปดูภาพยนตร์ที่โรง ลิโด ซึ่งก็รวมทั้ง สยาม และ สกาล่า ด้วย ก็ไม่แน่ว่าจากโรงในเครือเอเพ็กซ์ทั้งหมด ลิโด น่าจะเป็นโรงแรกที่ผมได้เข้าไปดู? อันนี้พยายามนึกก็ไม่แน่ใจ(อีกแล้ว)จริงๆ

แต่ ลิโด ก็เป็นโรงภาพยนตร์ที่ผมเข้าไปดูภาพยนตร์บ่อยที่สุดแน่นอนในระยะหลังๆ

บางคนคงคุ้นเคย...

สิ่งที่ทำให้ผมเข้าไปดูภาพยนตร์ในโรงเครือเอเพ็กซ์นั้น  ไม่นับว่าครั้งแรกจริงๆก็เป็นเพราะหนังที่อยากดูในรอบที่คิดว่าโอเคมันฉายอยู่ที่นั่น (ซึ่งจำไม่ได้แล้วว่าเป็นเรื่องอะไร แต่เป็นเพราะหนังแน่นอน อันนี้มั่นใจ) ว่ากันซื่อๆในครั้งแรกๆส่วนนึงก็มาจากเรื่อง ราคาค่างวดในการชมภาพยนตร์นั่นเอง จำได้ว่าในตอนนั้นถ้าไม่ 100 บาท ก็คงจะ 80 บาท ซึ่งราคาตั๋วชมภาพยนตร์โดยทั่วไปแพงกว่านี้ และก็จริงอยู่ที่เราสามารถมีวิธีชมภาพยนตร์ในราคาประมาณนี้บนโรงมัลติเพล็กซ์ในห้างได้เหมือนกัน แต่ถ้าไม่ต้องเลือกเวลา ก็ดูที่ ลิโด-สยาม-สกาล่า นี่แหละ ถูกสุดแล้ว สำหรับโรงภาพยนตร์ที่มีทั้งเครื่องเคราและบรรยากาศในการชมภาพยนตร์ในระดับนี้  ยิ่งทำให้ผมไม่ค่อยคิดอะไรมากเมื่อมีหนังที่อยากดูเข้าที่โรงเหล่านี้ ผมก็หาเวลาไปชมเลย จบ. (ยกเว้นถ้าเดือนนี้รู้สึกว่าหนังที่อยากชมมันจะมากเรื่องไปหน่อยไหมเอ็ง อันนี้ก็มีบ้างที่แบบ เฮ้ย เอาน่ะ เดือนนี้ประมาณนี้พอ สำหรับใครที่สงสัยว่าทำไมต้องดูเป็นเดือนๆ เอาว่าเหล่ามนุษย์มาม่าท้ายเดือนคิดว่าคงพอเข้าใจกัน(ล่ะกระมัง?))

อีกอย่างก็คือ "นี่คือ บัตรสะสมแต้ม เอาไว้ถ้าดูครบ 10 เรื่อง ก็สามารถดูฟรีได้ 1 เรื่อง ค่ะ" (นี่แต่งเองล้วนๆ เดาว่าผมคงเคยถามวิธีใช้บัตรเก็บแต้มอันทรงคุณค่านี้แน่นอนในตอนแรกๆ แต่จำไม่ได้หรอกว่าถามยังไง เมื่อไหร่ ที่ไหน แล้วเจ้าหน้าที่เขาตอบมายังไง แต่ก็น่าจะประมาณนี้แน่นอน - -) พอเขายื่นบัตรใบที่ว่านี่พร้อมวิธีการใช้ โลกของผมก็พลันเปลี่ยนไป ประเสริฐยิ่งนัก แถมยังดูโรงไหนในเครือก็ได้ (อยู่ใกล้ๆกันทั้ง 3 โรงนี่แหละ) ได้หมด ประทับตราครบ 10 เรื่องก็มาแลกตั๋วฟรีไปเรื่องนึง แถมไม่มีหมดอายุ ดูปีละเรื่องครบ10ปีค่อยมาแลกไปดูปีที่11ก็ยังได้ (แต่นี่เขาจะปิดแล้วเห็นไหม เอ็งมาดูปีละเรื่อง คิดได้ยังไง?! ตอนนี้มันไม่ทันแล้วว้อย!! สมน้ำหน้า) ช่างประเสริฐยิ่งนัก ทั้งยังเรียบง่ายไม่ยุ่งยาก ดู(เกือบๆจะ)เซนอย่างยิ่ง  (ต้องบอกว่าโรงเครือใหญ่ก็มีการสะสมแต้ม โปรโมชั่นโน้นนี่เหมือนกันนะครับ ซึ่งครั้งนึงบางช่วงมันก็เคยง่ายๆแบบ ลิโด (บทความนี้เอา ลิโด เป็นตัวแทนไปเลยละกันนะ) นี่แหละ แต่ทำไปทำมา บางทีมันพิสดารน่ารำคาญขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่คิดได้เลยว่าชาตินี่ยังไงก็ตรูคงไม่ได้ไอตั๋วฟรีที่ว่าแหงๆ(ก็ไม่ต้องห่วงขนาดนั้น เขาให้โปรนี้แค่เดือนนึงเท่านั้นล่ะจ่ะ ดูทันไหมล่ะ 10 เรื่องน่ะ หือ พยายามเข้าหน่อย แค่นี้จะบ่นอะไร ลูกผู้ชายรึเปล่า หือ (เหตุการณ์ขึ้นอยู่กับความจำกระท่อนกระแท่นเป็นสำคัญ และยังไม่ได้พาดพิงถึงผู้ใด กรุณาใช้วิจารณญาณในการอ่าน) หมายเหตุ : คนมีคู่หรือไปเป็นหมู่คณะอาจจะสะสมได้เร็วก็ได้มัง แต่ผมไปคนเดียวอ่ะ จบ.) ซึ่งเอาจริงๆความทรงจำอันพึ่งมากไม่ได้ก็บอกไม่ได้แน่ชัดว่าใครทำโปรฯแบบนี้มาก่อน ชาไข่มุก หรือ ลิโด? แต่สำหรับในบทความนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงความทรงจำ (และความ hype ที่มีต่อ ลิโด) ก็อาจกล่าวได้ว่า ลิโด-สยาม-สกาล่า ยังมีโปรโมชั่นนี้กก่อนร้านชาไข่มุกทั้งหลายเสียอีก! ร้านชามาเอาวิธีนี้ไปจากลิโดใช่ไหมล่ะ?! สารภาพมา!

เอาล่ะครับ ก่อนที่เรื่องราวจะเข้ารกเข้าพงไปมากกว่านี้ (ทีช่วงไร้สาระล่ะยาวจัง - -) เรากลับมาที่เรื่องของ ลิโด อย่างเป็นจริงเป็นจังต่อดีกว่า (คือข้างบนนี่ก็เรื่องลิโดทั้งนั้นนะ แต่อาจจะอีโมมากไปหน่อย) อีกเรื่องนึงที่ทำให้ผมมาชมภาพยนตร์ที่ ลิโด บ่อยๆก็คือ มันมักจะมีหนังแปลกๆมาเข้าโรงอยู่บ่อยๆ ผมเองความจริงที่รู้จักข่าวหนังแปลกๆส่วนนึงก็คงจากการติดตามนิตยสารภาพยนตร์อย่าง Bioscope หรือบางทีก็เห็นเอาจาก เอนเตอร์เทน บ้าง ซึ่งก็เพิ่งมารู้เอาทีหลังนี่เองว่านี่เหมือนเป็น 'โมเดล' หนึ่งของ ลิโด ที่พยายามเป็นที่ลงโรงฉายของภาพยนตร์นอกกระแส ซึ่งแน่นอนว่าแม้มันจะไม่มีแรงดึงดูดมหาชนมหาศาลให้ตบเท้าเข้าโรงควงคู่ควงคี่มาดูอย่าง Fast & Furious หรือ Avengers (ซึ่งผมก็ดูนะ) แต่มันก็มีคอภาพยนตร์ส่วนนึงที่อยากเหลือเกินกับการได้ชมภาพยนตร์จากประเทศ อิหร่าน เยอรมัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฯลฯ  ที่มีคนในแวดวงที่อาจเรียกได้ว่า คอภาพยนตร์ (จะย่อมาจาก(ฮาร์ด)คอ(ร์)ภาพยนตร์หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ นี่ผมก็จำเขามาเขียนอีกที) บอกต่อๆกันมาถึงความน่าดูน่าชมดูซักทีของมัน ซึ่งเผอิญว่าผมก็เป็นคนนึงที่ตกบ่วงนี้ไปกับเขาด้วย ทีแรกผมก็ไม่ได้รู้สึกอะไรนัก แต่ความที่เขาก็เอาภาพยนตร์นอกกระแสเหล่านี้มาฉายเรื่อยๆ เวลาไปดูเราก็จะได้ชมตัวอย่างภาพยนตร์ที่ดูท่าทางก็จะนอกกระแสเหมือนกันเรื่องอื่นๆไปเองก่อนชมภาพยนตร์ จนบางทีไม่ต้องไปอ่านไปฟังมาจากที่ไหน ไอเราก็อยากดูของเราเองอยู่ดี มันก็เลยกลายเป็นวัฏจักรในการเวียนชมภาพยนตร์นอกกระแสเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ซึ่ง ลิโด เองหลังๆก็มีชื่อเสียงในทางเป็นโรงที่คอภาพยนตร์สามารถมาดูมาชมภาพยนตร์นอกกระแสได้ที่นี่ (แถมยังเป็น Original Soundtrack ประกอบซับฯไทย เสียเป็นส่วนใหญ่ 99.99% ซึ่งเป็นความประเสริฐอีกอย่างสำหรับผม อย่าถามว่าผมฟังภาษาอเมซอนรู้เรื่องหรือ? คือที่อยากได้มันคือแบบว่า ฟีลลิ่ง น่ะครับ ฟีลลิ่งได้ เราก็ยอมแลกกับการอ่านซับฯเอา บางคนก็อาจไม่ชอบแบบนี้ ก็ไม่เป็นไรครับ) สรุปก็เลยเป็นเหตุนึงที่ผมเวียนไปวนมามาชมภาพยนตร์ที่ ลิโด บ่อยๆ  (ถึงตอนนี้บางทีก็ไม่เกี่ยวกับราคาแล้ว หนังอยากดูเข้าก็มา แค่นั้น แต่ก็จริงที่ถ้ามันเป็นหนังอยากดู แต่ไปเข้าโรงตั๋วราคา 300 ผมก็จะคิดมากหน่อย (แล้วสุดท้ายก็มักจะไม่ไป)) ซึ่งจริงๆเขาก็มีบางเรื่องฉายที่ สยาม ด้วย ส่วน สกาล่า จะเน้นภาพยนตร์ค่อนข้างแมสหน่อย แต่ก็มีฉายภาพยนตร์นอกกระแสด้วยบ้าง แต่ที่ ลิโด เหมาะกับการฉายมากกว่า ก็คงเพราะลิโดซอยตัวเองเป็นสามโรงย่อย รองรับผู้ชมได้ปริมาณพอเหมาะ (ก็บอกแล้วว่ามันไม่ได้แมส) ฉายหนังนอกกระแส กับหนังแมส(ซึ่งบางเรื่องก็ย้ายมาจากสกาล่าหลังสัปดาห์แรกๆ) ลงโปรแกรมคละเคล้ากันไปได้สะดวกกว่า

นี่จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมเสียดายยิ่งนัก แม้ว่า ลิโด จะไม่มีสถาปัตยกรรมเด่นๆอย่าง สกาล่า (หรือกระทั่ง สยาม) แต่ด้วยการที่ ลิโด ซอยย่อยเป็น 3 โรง มันจึงสามารถจัดโปรแกรมลงหนังได้ยืดหยุ่นกว่า และมีโอกาสมีหนังแปลกๆทั้งไทยทั้งเทศหลุดมาให้ชมในโปรแกรมได้ง่ายกว่าด้วย (ไม่นับว่าหลังเทียวไปเทียวมาจนชิน การที่หนังยังไม่ฉายแล้วเทียวไปเทียวมาในพื้นที่ลิโด แล้วค่อยมาหาที่นั่งรอเวลาหนังฉาย ก็ยังเป็นความเคยชินที่ออกจะเป็นความชิวสำหรับผม) แม้หลังๆจะมีโรง House Rama ณ RCA เกิดขึ้นเพื่อฉายหนังไม่แมสเหล่านี้ด้วย ซึ่งหลายเรื่องก็ฉายแตกต่างกับลิโด และผมก็ยังคงถ่อไปชม แต่พอดีว่าเทียบกัน ผมสะดวกเดินทางมา ลิโด มากกว่า สุดท้ายจึงยังเป็น ลิโด นั่นเองที่ผมตบเท้าเข้ามาชมภาพยนตร์บ่อยที่สุด (ทั้งในและนอกกระแส)

ผมเองได้ชมหนังแปลกๆเยอะแยะมากมายที่ ลิโด (นี่คือพูดถึงลิโดแบบเฉพาะเจาะจงเลย) ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ อย่างที่ว่าบางทีแค่เดินผ่าน อ่าว มีนี่มาฉายด้วย ก็เฮ้ยดูได้ไหมนะ ติดขัดอะไรไหม เอ้า ดูได้ก็ดู คือที่พูดแบบนี่้เพราะหนังบางเรื่องก็เฉพาะกิจจริงๆ ฉายวันละรอบ แค่ 3 วัน อะไรแบบนี้ บางเรื่องมารอบเดียวด้วยซ้ำก็มี (เท่าที่พอจะคุ้นๆนะ?) ซึ่งก็เป็นความพึงใจอย่างนึง ที่ดูแล้วชอบก็มีไม่ชอบก็มี บางเรื่องชอบมากจนคิดว่าดีจริงๆที่ได้มาดู หรือบางทีแม้อาจไม่ได้ชอบสุดขีดก็มีความประทับใจที่ได้มาดู ซึ่งผมคิดว่าลิโดได้เปรียบเพราะ ขนาดและจำนวนโรง ซึ่งคงไม่สะดวกเท่าสำหรับสกาล่าถ้าจะจัดฉายในลักษณะนี้ 

นอกจากนี้ทั้ง ลิโด-สกาล่า ก็เป็นสถานที่ที่มีการเช่าจัดกิจกรรมพิเศษ ทั้งเกี่ยวกับการฉายหนังและไม่ฉายหนัง อย่างสกาล่าก็มักเป็น ที่จัดคอนเสิร์ต หรือการแสดงละคร บางทีก็เป็นเทศกาลหนังเพื่อสังคม หนังสถาปัตย์ ฯลฯ ทำนองนี้ หรือบางทีก็มีรอบกาล่าเปิดตัวหนังบางเรื่อง (เคยไปชมมา 1 เรื่องถ้วน เรื่องอื่นอ่านเห็นข่าวแต่ไม่เคยไปชมเลย) ส่วนลิโดก็มีการจัดฉายหนังเฉพาะกิจเหมือนกัน อย่าง การจัดฉายหนังของ โก๋ฟิล์ม การฉายสารคดี เด็กโต๋ , The Down ของ a day ก็เหมือนผมจะได้ดูที่นี่ เทศกาลภาพยนตร์สั้น หรือผมเคยได้ดู สารคดี  'รงค์ วงษ์สวรรค์ หรือหนังอย่าง Unreasonable Man ของ คุณ เต๋า สมชาย เข็มกลัด ก็ที่นี่ หนังของคุณเต๋อ นวพล อย่าง 36 , Mary is Happy ก็เคยมาฉายที่นี่ หรือเคยดู สถานี 4 ภาค ของผู้กำกับ บุญส่ง นาคภู่ แล้วชอบมากก็จำได้ว่ามาดูที่นี่

(บางทีมารู้ว่ามีฉายก็ตอนมาดูโปรแกรมที่หน้าโรงน่ะแหละ อยากดูเอาตอนนั้นก็หลายเรื่อง บางเรื่องด้วยความที่รอบน้อยความต้องการก็สูง บางทีมาไม่ทันก็ต้องลองดูดีมานด์ว่ามีใครอยากมาดูแบบตรูไหม แล้วก็แง้วๆรอๆกะเขาไป บางทีก็มีโอกาสได้ดูเฉย จำได้ว่ามีครั้งนึงได้นั่งเก้าอี้เสริมดูสารคดี  'รงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วยนะเออ)
ยังมีเทศกาลอย่าง Little Big Film Project (ที่หลังหายไปหลายปี ก็มีโครงการนี้มาใหม่เมื่อซัก 2 ปีที่แล้ว ไปดูมาหมดด้วยนะ แต่ป่านนี้เขียนถึงไป 1 เรื่องถ้วน - -) หรือเทศกาลหนัง ชุนจิ อิวาอิ (ได้ดู April Story ในโรงซะทีว้อยย) ซึ่งบางเทศกาลหนังก็เข้าที่ House ด้วย หรือหลังๆก็มีเข้าโรงเครือใหญ่ด้วยก็มี

และในช่วงนึง ผมก็รู้สึกว่า หอภาพยนตร์ก็มีการจัดเทศกาลที่ ลิโด / สกาล่า มากขึ้น (ซึ่งก่อนนี้ก็มีโปรแกรมอย่าง Cinema Diverse หรือ ชั้นครู จัดที่หอศิลป์ด้วย) อย่างในช่วงหลังๆก็มี ทึ่ง ! หนังโลก ฉายต่อจาก ภาพยนตร์ที่ทรงเสด็จทอดพระเนตรในโรงภาพยนตร์ ที่สกาล่า ส่วนที่ลิโด เทศกาลหนึ่งที่ผมน้ำตาจะไหลที่มีขึ้นก็คือ เทศกาลภาพยนตร์หนังเงียบครับ เป็นการเอาหนังขาวดำสมัยก่อนที่ track ฟิล์มภาพยนตร์ยังไม่มี track เสียง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตัวละครพูดบางเรื่องเราจะเห็นเป็นตัวหนังสือขึ้นมาหลังฉากที่ตัวละครขยับปากพูดแล้วเท่านั้น โดยในระหว่างฉายก็จะมีการบรรเลงดนตรีประกอบ ซึ่งก็ถือเป็นภาพหนึ่งในวิวัฒนาการของภาพยนตร์ที่น่าสนใจมาก และแน่นอนที่ผมไม่มีโอกาสได้เป็นสักขีพยานในช่วงเวลานั้นแน่ๆ แต่ในเทศกาลนี้ เราก็จะได้ยิน (หรือถ้าใครพยายามเพ่งมองก็จะได้เห็นด้วย แต่ก็จะต้องละสายตาจากหนังที่ดูไปบ้าง) ดนตรีสดๆที่มีนักเล่นดนตรีประกอบภาพยนตร์เงียบทั้งไทยและเทศมาเล่นให้ฟังกัน ซึ่งสำหรับผมมันเป็นเทศกาลที่น่าประทับใจมาก โดยเฉพาะยิ่งคิดว่าสนนราคาค่าตั๋วก็เพียง 100 บาทเท่านั้น! โอ ยกเว้นโปรแกรมพิเศษโดยมากมักเป็นหนังเปิดเทศกาลที่สกาล่าซึ่งตั๋วจะแพงกว่า จำไม่ผิดก็ 300 บาทมัง? ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เพราะสกาล่าโรงใหญ่ แต่เป็นเพราะถ้าเป็นที่สกาล่า เราจะได้ดู 'วงดนตรี' ฮะ! พอดีว่าเชิญมาเล่นหลายคน มันก็ต้องแพงกว่าเป็นธรรมดา แต่น่าเสียดายว่าผมพลาดรอบที่ว่านี้ไปทุกรอบเลย T T โดยไม่ได้นัดหมาย คือวันนั้นต้องไม่สะดวกทุกปีเป๊ะๆทุกทีซิน่า...

ซึ่งหลังจากผมไปชมบางเรื่องในเทศกาลในปีแรกด้วยความเหนื่อยอ่อน (คือวันนั้นถ่อไปดูก็ไปทั้งเหนื่อยๆแล้ว อย่ามาถามว่าเรื่องอะไร ต้องนึกกันนาน จำไม่ได้อีกเช่นเคย) ผมก็พบว่าถ้าได้ดูทุกเรื่องมันก็ดีซิเฮ้ย (เรื่องเดียวกันแต่คนละรอบก็อาจจะได้บรรยากาศต่างไป เพราะคนเล่นดนตรีเป็นคนละท่านกัน หรือบางทีท่านเดียวกันเล่น ก็คงจะไม่เหมือนเดิม แต่ผมไม่สามารถพิสูจน์เรื่องนี้ได้เพราะ...) แต่ว่ามันก็ไม่สามารถทำได้ครับ เนื่องจากมันจัดในช่วง 1 สัปดาห์ (ที่ลิโด 1 โรงไปเลย ไม่ต้องเซตสถานที่กันใหม่ เพราะมันจะมีเปียโนไปตั้งอยู่ในโรงด้วย 1 หลัง อะไรแบบนี้นะเออ) บางครั้งผมก็ไม่สามารถไปชมบางเรื่องในวันธรรมดาได้จริงๆ  อย่างที่ว่า ไม่เคยได้ไปดูหนังรอบเปิดเทศกาลที่สกาล่าเลย T T ทั้งที่บรรยากาศเอย แถมดนตรีประกอบเล่นเป็นวงคงจะแกรนด์มากแน่ๆ เสียดายจริงๆ...  เทศกาลจัดต่อเนื่องกันมา 4 ปีแล้ว (ปีที่ 4 เป็นปีที่ไม่มีโอกาสไปเทศกาล) และปีนี้น่าดีใจว่าเขาก็จะยังคงจัดอยู่ เป็นปีที่5 ซึ่งก็น่าจะเป็นปีสุดท้ายแล้วที่ ลิโด ใครสนใจลองเช็ครอบกันดูครับ ถือเป็นเทศกาลหนึ่งที่น่าดูมาก นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความคุ้นชินและความน่าเสียดายหนึ่งสำหรับผมที่ ลิโด จะไม่ได้เปิดบริการฉายภาพยนตร์ต่อไปอีก...

กลับมาที่เทศกาลภาพยนตร์บูรณะแห่งเอเชีย แม้จะไม่ได้ไปดูด้วยความตั้งใจแต่เดิม แต่พอรู้ว่ามีฉาย ก็ตั้งใจไปดูอย่างยิ่ง แต่ด้วยความที่ไม่รู้อะไรมาก่อน ผมจึงเพียงรีบๆเปิดข้อมูลดูผ่านๆ พอรู้แค่คร่าวๆว่ามันน่าจะฉายราว 2 ทุ่มของทุกวัน และมันจะเริ่มฉายวันแรกที่ผมผ่านเขตเมืองกรุงเข้าไปนี่แหละ

และนั่น...ก็เป็นความน่าชี้ช้ำที่ทำให้ผมพลาดหนังเรื่องแรกของเทศกาลไปอย่างไม่น่าให้อภัย เพราะมันฉายรอบ 18:00 น. ไม่ใช่รอบ 2 ทุ่ม! (ซึ่งเพราะไปดูคนเดียวไม่ได้นัดใครไว้ เลยไม่รู้เหมือนกันว่าใครจะทำหน้าที่ให้อภัยผม ก็เอ็งนั่นแหละ! อยากไปดูก็ไม่ดูให้ดี ดูพลาดเอง) ไม่มีคำใดจะเอื้อนเอ่ย ทีแรกก็จัดโปรแกรมโน่นนี่อย่างดี(มัง) เพราะอันนี้คือโปรแกรมแทรกที่ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะมาทำด้วย ก็เลยต้องมีสลับลำดับโน่นนี่วุ่นวาย สุดท้ายพอสบายใจกะว่า ทำธุระตามลำดับแล้วไปดูพอดีเวลา ชิว ก็...ระหว่างเดินทางไปที่โน่นที่นี่อยู่นั่นเอง ด้วยความอยากเช็ครอบเอาชัวร์อีกที ผมก็ลองเปิดไปดูรอบฉาย ก่อนจะพบว่า เฮ้ย! Gate of Hell จากญี่ปุ่น (ซึ่งเป็นเรื่องที่สนใจอยากดูที่สุดในเทศกาล เพราะเหมือนๆจะรู้จัก(=เคยได้ยินชื่อ)อยู่เรื่องเดียว - -) มัน มัน ไม่ใช่รอบ 2ทุ่ม (ว้อย!) พลันดูเวลาก็พบว่า...ตอนนั้น 18:15 แล้ว... นี่ไม่ทันแน่นอน ก็เลยพลาดเรื่องนี้อย่างเสียดายที่สุดด้วยความช้ำใจ ว่ามีโอกาสได้ดูแล้ว สุดท้ายก็พลาดจนได้ T T  (ในชีวิตก็เจอเรื่องทำนองนี้มาหลายครั้งแล้ว เวลาก็ยังไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่ ก็ไม่ชินซักที และก็ไม่ใช่แค่เรื่องการดูหนังด้วย... - -)

บรรยากาศหน้างาน (ถ่ายไม่ชัดเล้ย)

อย่างไรก็ดี แม้จะพบด้วยความช้ำใจว่าอีทีแรกเราดันไปดูเรื่องวันท้ายๆว่ามันฉาย 2 ทุ่มหมด เลื่อนมาหน้าๆก็ยังใช่ เลยเหมาเอาว่ามันฉายเวลาเดียวกันหมดแหละ เว้นเรื่องนี้อยู่เรื่องเดียวจริงๆ - - เรื่องอื่นก็ได้ไปดูหมด และด้วยเทศกาลนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานบูรณะฯ หรือสถานทูตของประเทศต่างๆ (อย่าง Gate of Flesh ก็ได้รับความร่วมมือจาก เจแปนฟาวน์เดชั่น) ก็จะมีผู้มีเกียรติจากองค์กรเหล่านั้นมาร่วมชมด้วย ทั้งก่อนฉายยังมีการเล่าที่มาที่ไปของภาพยนตร์บูรณะฯเหล่านี้ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งก็น่าสนใจและก็น่าสนุกดีสำหรับผู้ที่สนใจ (แต่เพราะตั๋วนั้นฟรี แค่มาลงทะเบียนรับตั๋วก็พอ อย่างวันแรก(เรื่องที่ 2 ของเทศกาล - -) ผมกระหืดหระหอบวิ่งไปบนลิโด (รู้เวลา พลาดมาที ยังจะมาพอดีเวลาอีกนะ อ่อ คือไม่รู้ว่าคนมาเยอะขนาดไหน กลัวพลาดอีก) ก็เพิ่งรู้ว่าเทศกาลนี้ดูฟรี - - เพราะงั้นก็มีบ้างที่บางคนอาจจะมาลองดูซิ๊ เพราะดูฟรี แต่เอาเข้าจริงก็อาจพบว่าไม่ตรงกับความคาดหวังนัก เลยมีการคุยกันบ้าง และก็มีการโดนทักท้วงบ้าง) ด้วยต้องมีการเตรียมการขลุกขลักกันพอสมควร วันหลังๆก็เลยเลื่อนไปเป็น 20:15 น.ไป

บรรยากาศในโรงฉาย (วันไหนซักวันนี่แหละ)

รวมๆก็ยังเป็นเทศกาลที่ผมประทับใจที่หอภาพยนตร์ฯจัดให้มีขึ้น ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าแม้ตัวหนังอาจจะมีความติดตามยากอยู่บ้างสำหรับบางเรื่องในระดับหนึ่ง เพราะเทคนิคหรือรูปแบบการเล่าที่อาจจะต่างไปจากความนิยมในสมัยนี้ (ไม่นับว่าด้านเนื้อเรื่องก็อาจจะต่างไป หรือมีความหนักอยู่พอควร) และซับฯก็เป็นภาษาอังกฤษ แต่อีกด้านเราก็จะได้รู้ถึงความเคลื่อนไหวของวงการ มีการพยายามอนุรักษ์ภาพยนตร์ที่ฟิล์มถูกพบ โดยการรีมาสเตอร์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งแม้ไม่ได้ลงลึกด้านเทคนิคอะไร แต่ผลงานการบูรณะที่ปรากฎบนจอหลายเรื่องก็ดูคมชัดจนน่าประทับใจทีเดียว หลายเรื่องอาจจะมีที่หาดูได้บ้างตามโน่นนี่ (เดาเอา ยังไม่เคยลองค้น) แต่เวอชั่นในเทศกาลซึ่งถูกบูรณะมาแล้ว หลายเรื่องมีคุณภาพความคมชัด/คุณภาพเสียงที่น่าประทับใจมากๆ คงให้บรรยากาศการชมต่างออกไปแน่นอน ทั้งเรายังได้สัมผัสหน้าประวัติศาสตร์หรือความคิดอ่านที่เคลื่อนไหวอยู่ในประเทศนั้นๆในช่วงเวลาอดีตที่ผ่านมาและถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ทีเดียว

แนะนำภาพยนตร์บูรณะฯ เกร็ดสนุกๆน่าสนใจ (ขออภัย จำไม่ได้ซะแล้วว่าเป็นช่วงแนะนำของเรื่องอะไร - -)

และนี่ก็เป็นความรู้สึกสั้นๆสำหรับแต่ละเรื่อง (ซึ่งมีความเลือนลางบ้าง เพราะปล่อยไว้นานกว่าจะเขียน... เช่นเคย) เนื้อเรื่องรายละเอียดสั้นๆ อ่านได้ที่หน้าของเว็บไซต์หอภาพยนตร์ฯครับ

Gate of Flesh (พ.ศ. 2496 : ญี่ปุ่น) พลาดชม T T

Batch ’81 (พ.ศ. 2525 : ฟิลิปปินส์)
หนังได้เข้า director's fornight เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ตัวหนังมีทั้งช่วงผ่อนคลายด้วยทั้งมุกตลกและการแสดง นักแสดงนำหน้าตาดีกว่าผู้ร่วมจอส่วนใหญ่ (อืม) จึงดูโดดเด่นขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ และมีส่วนที่ค่อนข้างตึงเครียด คิดว่าหนังแสดงให้เห็นถึงเรื่องของซีเนียร์ การอยากได้รับการยอมรับ การร่วมกันเป็น 'พรรค' หรือกระทั่งการกลายเป็น cult จนบิดความหมายหรืือกระทั่งกลับหัวหางสถานะ และการกระทำของผู้คนไป สุดท้ายเรื่องก็นำไปสู่บทที่ค่อนข้างน่ากลัวและน่าสะเทือนใจ ติดตามยากเล็กน้อย (เพราะผมอ่านซับฯอังกฤษทันบ้างไม่ทันบ้าง แปลออกบ้าง/ไม่ออกบ้าง) แต่สิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจมากสำหรับเรื่องนี้คือ การบูรณะที่ทำโดยหน่วยงานของสิงคโปร์ (ร่วมกับผู้กำกับ และผู้กำกับภาพ) นั้นน่าประทับใจมากๆทีเดียว

ทรชนคนสวย (พ.ศ. 2510 : ไทย)
หนังไทยของ มิตร ชัยบัญชา ที่มีบรรยากาศ บู๊ สนุกสนาน และตื่นเต้น เขย่าขวัญ ปะปนกัน (ผมอยากจะเรียกว่าบรรยากาศ 'หลากหลาย(เหลือเกิน)' มากกว่า) น่าจะเป็นแนวทางของหนังไทยสายบันเทิงในยุคหนึ่ง มีจุดขายเป็นดาราสาวชาวไต้หวัน มิสจิ้นหลู ด้วย หนังเป็นหนังสายลับสไตล์ เจมส์ บอนด์ 008 แต่ก็ปนบรรยากาศหรรษาและดราม่าเขย่าขวัญ เนื้อเรื่องหลายช่วงน่าสนใจกับบทพลิกผันและดราม่า แต่ด้วยอารมณ์ของหนังค่อนข้างหลากหลาย ก็ค่อนข้างจับอารมณ์ยากสักหน่อยสำหรับผม (พลิกผันเยอะ ทั้งเนื้อเรื่องและอารมณ์ ตามไม่ทัน) ก็เป็นหนังที่มั่นใจว่าติดตามเนื้อเรื่องได้มากที่สุดในเทศกาล (ก็พากษ์ไทย - - เป็นหนังพากษ์นะครับ มิสจิ้นหลู ก็พูดไทยไฟแล่บ ด้วยอารมณ์หางเสียงแบบการพากษ์หนังสมัยนั้น) น่าสนใจที่ได้เห็นอารมณ์การเล่าของหนังสมัยนั้น ว่าไปหนังก็ดูมีทั้งความตลก ความร้าย ติดจะเพี้ยนเล็กๆจนเซอร์เรียลไปเลยก็มีบ้าง ฉากเพลงก็สนุกดี และความเซ็กซี่เกินหนังไทยมาตรฐาน (เรท PG-13 ซึ่งหนังไทยไม่มีเรทนี้) ไปเหมือนกัน (คือคิดว่าถ้าเป็นในยุคนี้นะ) การได้เห็นเหล่านักแสดงไทยในตำนาน ทั้งมิตร ชัยบัญชา และคนอื่นๆ ร่วมจอกับนักแสดงต่างประเทศ ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจดี หนังอาจจะไม่ได้มีกระบวนการบูรณะขั้นเทพมากทั้งภาพและเสียง ส่วนใหญ่เป็นการปรับสี/แสง และแปลงเป็นดิจิทัลครับ

โปรแกรมพิเศษ Archival Gems Screening (ภาพยนตร์สั้นๆหลากแนวจากหลายประเทศ)
เป็นภาพยนตร์สั้นๆที่มีการอนุรักษ์และได้รับการบูรณะจากหลากหลายประเทศ จากหลากหลายยุค บางเรื่องออกเชิงสารคดี บางเรื่องก็เป็นภาพข่าว บางเรื่องก็มีการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์สั้นๆ เนื้อหามีทั้งเกี่ยวกับนักดนตรี การเมือง บางเรื่องที่เลือกมาฉายด้วยมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทยด้วย อย่างเช่นมีหนังจากน่าจะฮ่องกงหรือไต้หวัน (ผมจะไปลองค้นข้อมูลอีกทีนะครับ - -) เป็นภาพข่าวตอนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในไทยด้วย และไฮไลท์ที่น่าสนใจและน่าประทับใจยิ่งอันนึงก็คงเป็น ภาพยนตร์จากพี่น้องลูมิแอร์ ผู้ผลิตกล้องถ่าย/ฉายภาพยนตร์ ผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการให้กำเนิด ภาพยนตร์ (motion picture) จนกลายมาเป็นอย่างทุกวันนี้ เรื่องแรกเป็นการบันทึกภาพระหว่างรถไฟวิ่งตามราง และอีกเรื่องเป็นการถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีโครงส่วนนึงจาก The Hunchback of Notre-Dame ถึงจะไม่มีเสียงประกอบเลย บอกตรงๆว่าบางทีก็ดูบางอย่างไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อคิดว่าได้ดูประวัติศาสตร์หรือบรรยากาศในยุคนั้น นี่ก็เป็นเรื่องน่าประทับใจมาก เรื่องราวของการค้นพบหรือบูรณะฯที่มีตัวแทนจากองค์กรต่างๆออกมาเล่าให้ฟัง ก็ยังเป็นรายละเอียดสนุกๆประกอบไปกับเรื่องเหล่านี้ด้วย

Barbed Wire Fence (พ.ศ. 2505 : อินโดนีเซีย)
เป็นภาพยนตร์ขาว-ดำ เล่าเรื่องสมัยสงครามประกาศอิสรภาพของอินโดนีเซียจากเนเธอร์แลนด์ ชะตากรรมของเชลยในค่ายชาวดัทช์ บรรยากาศค่อนข้างหดหู่และเคร่งเครียด สำหรับผมถือว่าติดตามค่อนข้างยากเหมือนกัน (ส่วนนึงจากความเหนื่อยในการเทียวไปเทียวมา) มีการกระทบกระทั่งกันระหว่างบุคคล ความสัมพันธ์ส่วนตัว ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความคิดความเชื่อ ในระหว่างกลุ่มปัญญาชนหรือผู้ร่วมขบวนอื่นๆที่มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน รวมไปถึงความรัก เนื้อเรื่องค่อนข้างเนิบช้า กดดัน และค่อนข้างสะทเทือนใจ แม้จะมีตัวแปรเป็นทหารชาวดัทช์นายหนึ่งที่มองเชลยอินโดนีเซียด้วยสายตาต่างไปจากทหารคนอื่นๆ แต่สุดท้ายเรื่องก็จบลงอย่างน่าเศร้า...

Insiang (พ.ศ. 2519 : ฟิลิปปินส์)
หนังได้เข้าร่วม director's fornight ของเมืองคานส์เช่นกัน ได้รับทุนสนับสนุนการบูรณะจาก World Cinema Project ของผู้กำกับ Martin Scorsese ซึ่งจริงๆอารมณ์ของหนังที่มีความเข้มคลั่งซ่อนอยู่ในฉากหน้าที่ดูสงบนิ่งก็ทำให้นึกถึงหนังของผู้กำกับ Martin Scorsese เหมือนกัน อาจจะเรียกว่าเข้าทางแกก็ได้ ส่วนตัวอาจจะเพราะเนื้อเรื่องถ่ายทอดโดยมีความปั่นป่วนซ่อนอยู่ภายใต้การดำเนินชีวิตของผู้หญิงคนนึงชื่อ อินเชียง ที่หน้าตาสะสวย (จริงๆ) เธออาศัยอยู่กับแม่ของเธอที่ดูจะเป็นคนไม่ค่อยมีน้ำจิตน้ำใจกับคนรอบข้างและญาติๆ แต่กลับไปหลงรักหนุ่มโรงฆ่าอายุน้อยกว่ามาก (ฉากเปิดเรื่องนี้ แม้อาจไม่ได้ตั้งใจสื่อความในแง่อะไรนอกจากกำหนดอารมณ์ของเรื่อง หรือสภาพภายในใจของตัวละคร แต่เป็นฉากที่ทำให้นึกถึงหนังหลายเรื่องอย่างเช่น Fast Food Nation หรือ Okja ทีเดียว) มันจึงส่งผลไปถึงชีวิตของ อินเชียง ให้พลิกผัน และด้วยเรี่ยวแรงของผู้หญิงตัวเล็กๆคนนึง แม้จะมีความงามเป็นอาวุธ ก็ดูเหมือนมันจะไม่ได้ช่วยอะไรเธอนักยกเว้นเป็นเรื่องที่ทำให้เธอถูกฉกฉวยเอาจากคนที่เธอเข้าไปขอความช่วยเหลือมากกว่า... หนังเข้มข้นมาก (ทั้งติดตามง่าย รวมกันแล้วจะว่าคาดไม่ถึงว่าหนังจะน่าติดตามขนาดนี้ก็ได้) และคิดว่าค่อนข้างเข้าถึงได้ไม่ยากเป็นหนังที่น่าจะบอกได้ว่าผมติดตามอย่างมีอารมณ์ร่วมไปมากที่สุดในเทศกาล และการบูรณะก็ออกมาดีมากเหมือนกัน คิดว่าคุ้มค่าที่ได้ดูครับ (คุ้นๆว่าเรื่องนี้คนก็ดูค่อนข้างเยอะ)

เป็นโครงการที่ดีใจที่ได้ดูอีกโครงการนึงที่หอภาพยนตร์ฯจัดให้มีขึ้นที่ลิโดครับ ชมฟรีอีกต่างหาก ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้



สำหรับ ลิโด เองยังมีความทรงจำอีกหลายอย่างที่อยากพูดถึง จะป้ายไฟ ที่ได้รู้เห็นความเป็นมาจากสารคดี สกาล่า ก็ดี การที่ความจริงแล้วผมคิดว่าการมีลิโดอยู่ ก็น่าจะช่วยให้เอเพ๊กซ์บริหารจัดการได้โอเค เนื่องจากลิโดมี3โรงย่อยช่วยให้การฉายหนังยืดหยุ่นมากกว่า และการที่มีพื้นที่ให้เช่าค้าขายในบริเวณลิโดด้วย (ก่อนนี้เข้าใจว่าแถวๆนี้ก็เป็นแหล่ง ติว ที่ค่อนข้างแน่นแห่งนึง ก่อนที่ภายหลังกระจายตัวออกไป หรือการที่หลังๆพืนที่ช็อปปิ้งแถวนี้อาจได้รับความนิยมลดลง) ก็ดี หรือการที่ร้านดีวีดีร้านหนึ่งตัดสินใจลงหลักปักฐานในบริเวณใต้ลิโด ในยุคที่ร้านดีวีดีซบเซาไปมาก (ให้นึกถึงสาขาของ Boomerage หรือ Caps หรือ แมงป่อง) และตั้งชื่อร้านว่า ลิโดดีวีดี ให้คอหนังดูหนังในโรงเสร็จก็มาลองหยิบจับซื้อหาหนังของผู้กำกับหรือหนังเก่าที่น่าสนใจ หนังลดราคา กันดู หรือเรื่องอื่นๆก็ดี คิดว่าคงได้มีโอกาสมาเขียนถึงบ้างในโอกาสต่อไป (คิดว่าคงไม่ทันเขียนก่อนลิโดอำลาสิ้นเดือน พ.ค. นี้แล้ว เศร้า...)

ป้ายไฟ ที่เงยมองแทบทุกทีที่ผ่านไปหลังชมสารคดี สกาล่า

หอภาพยนตร์เองก็มีโครงการสำหรับผู้สนใจหลากหลายมาก เข้าไปติดตามได้ในเว็บไซต์ www.fapot.org แต่เนื่องจากผมเองสะดวกในการเดินทางไป ลิโด-สกาล่า มากกว่า จึงยังไม่เคยเดินทางไปหอภาพยนตร์ฯซักที อยากไปมากเหมือนกัน

ระหว่างนี้อย่าลืมครับสำหรับผู้สนใจ เทศกาลภาพยนตร์เงียบครั้งที่ 5 ซึ่งปีนี้มีภาพยนตร์เด่น คือ  The Passion of Joan of Arc (ซึ่งไม่สามารถไปชมได้อีกแล้ว T T) และสามารถดูรายละเอียดโปรแกรมเรื่องอื่นๆด้วยได้ ที่นี่ ครับ













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น