วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2559

[ภาพยนตร์] NERVE เล่นเกม เล่นตาย : เลทส์มีทเดอะ 'บิ๊ก' บราเธอ'ส์'


แบบสั้นๆ
แม้น้อง เอ็มม่า โรเบิร์ตส์ อาจดูผอมแห้งไปนิดนอก็โอเคครับ 7.9 คะแนน

เอาแค่นี้ก็น่าด่าเหมือนกันนะ อุตส่าห์สร้อยซะใหญ่โต อืม... จริงๆคิดว่าตอนดูเรื่องนี้อาจจะตั้งแต่ตัวอย่างแล้ว บางคนคงนึกไปถึงการ์ตูนไทย (โดยคุณ เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์) และหนังไทย (กำกับโดย มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีรกุล) อย่าง 13 เกมสยอง (แถมฮอลลีวู้ดยังซื้อไปรีเมกด้วย ฉายเมื่อไม่นานเม่าไหร่นักไปนี่เอง แต่ไม่ได้ดู) ซึ่งผมเองก็รู้สึกแบบนั้นอยู่เหมือนกัน แต่ที่ยังรู้สึกว่าน่าไปดูซักที ไม่เกี่ยวกับ เอ็มม่า โรเบิร์ตส์ ก็คือการที่ 'เกม' ในเรื่องแม้โครงหลักๆจะดูคล้ายกับเรื่องราวในรูปรอยของ 13 เกมสยองอยู่มาก แต่มันก็มีเรื่องราวที่สอดรับไปกับบริบทของปัจจุบัน(หรืออนาคต?อันไม่ไกล?) ของทั้งรูปแบบชีวิตและเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้อยู่มาก ซึ่งก็จริงครับ พอไปดูแล้วคิดว่านี่เป็นส่วนที่ทำให้หนังน่าสนใจเอาเรื่องและดูสนุกใช้ได้ทีเดียว

และเรื่องที่น่าสนใจเรื่องนึงก็คือเรื่องของการเฝ้ามองและการถูกเฝ้ามอง

แน่นอนว่าในทุกวันนี้เรื่องของการถูก 'เฝ้ามอง' จะเพื่อดูแลความเรียบร้อยหรือรักษาระเบียบหรืออื่นๆก็ยังคงเป็นหัวข้อที่น่าหวาดวิตกและเป็นเรื่องใหญ่ที่มีการให้ความสำคัญในระดับต่างๆกันไป โดยเฉพาะเมื่อมองในมุมของ 'อำนาจ' และการ 'ควบคุม'

ในแง่นึงเมื่อมีฝ่ายที่สามารถเฝ้ามองและควบคุมเราโดยที่เราไม่รู้ว่าถูกเฝ้ามองหรือถูกควบคุมอยู่แค่ไหน? มันก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงสถานะ 'เหนือกว่า' ไม่ว่าจะโดยเอกฉันท์หรือกลายๆก็ตาม และโดยแนวความคิดในปัจจุบันที่มีการให้ความสำคัญกับเรื่องของความเป็นส่วนตัว (privacy) มากขึ้น มันก็ยิ่งทำให้หัวข้อเหล่านี้เป็นที่พูดคุยหรือถกเถียงกันมากขึ้น แน่นอนว่าโดยส่วนใหญ่ถ้าเรารู้สึกว่าถูก 'เฝ้ามอง' เราก็น่าจะไม่ชอบสถานะที่ว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการถูก 'ควบคุม' และอาจทำให้เรารู้สึกถึงการถูก 'อำนาจ' ที่เหนือกว่าครอบคลุมอยู่

แต่ความจริงในปัจจุบันมันก็มีสถานการณ์และรูปแบบหลากหลายขึ้นที่จะทำให้เราถูก 'เฝ้ามอง' ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยยินยอมหรืออาจไม่ยินยอม แม้อาจไม่ใช้การถูก 'เฝ้ามอง' ทุกขณะของชีวิต แต่เป็นบางส่วนก็ตาม เช่น การที่เรายกเลิกบัตรเครดิตธนาคารนึงไปแล้วไม่นานก็อาจมีธนาคารอื่นโทรมาเสนอบัตรเครดิตพร้อมข้อเสนอที่แตกต่างให้กับเราในเวลาไม่นาน หรือการที่โฆษณาบางอย่างถูกส่งผ่านผลการค้นหา หน้าเว็บไซต์เครือข่ายสังคม หรือกระทั่งข้อความหรือแอพพลิเคชั่น ได้ตรงกับข้อมูลการซื้อในอดีตหรือรสนิยมของเราเสียเหลือเกิน ซึ่งอาจเกิดจากการประมวลผลการค้นหาประจำบนเครื่อง บนโปรแกรม บนแอคเคาท์ บนบัตรสมาชิก หรือเครื่องมือชื่อน่ารักอย่าง Cookies ฯลฯ ของเรา ซึ่ง ในแง่มุมบางอย่างนี้อาจมี 'ความสะดวก (ที่เราอาจไม่รู้รายละเอียดเบื้องหลัง)' ที่บางคนชอบบางคนชังแตกต่างกันไปก็ได้

แต่เราจะพูดถึงประเด็นประมาณนี้ไว้เท่านี้พอก่อน เพราะลักษณะของ 'เกม' ใน Nerve นั้นก็ต่างออกไปจากลักษณะเหล่านี้

"In the future, everyone will be world-famous for 15 minutes."
Andy Warhol 

ไหนๆก็น่าจะยกประโยคที่มีชื่อเสียงประโยคหนึ่งนี้ (ซึ่งถูกเสนอไว้ตั้งแต่ราวๆยุค 70 ยุค 80 ) มาเสนอไว้เสียหน่อย ที่ว่า ในอนาคตทุกๆคนจะได้กลายเป็นคนมีชื่อเสียงกันซักคนละ 15 นาที ไม่ว่าประโยคนี้ดั้งเดิมแล้วจะเป็นคำกล่าวของ แอนดี้ วอร์ฮอล หรือไม่ก็ตาม? เพราะแม้ว่าในปัจจุบันนี้ประโยคนี้อาจไม่จำเป็นต้องเทียบเคียงเฉพาะเพียงกับเรื่องราวใน Nerve เพียงเท่านั้น แต่มันก็ดูเข้ากันกับเรื่องราวที่เกิดใน Nerve อย่างยิ่ง

เรื่องที่ Nerve เอามาเล่นนั้นเป็นเรื่องราวและรูปแบบที่สอดรับกับทั้งเรื่องราวของ 'การเฝ้ามอง' และ ประโยคข้างต้นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเราก็ได้เห็นกันอยู่ในปัจจุบันเมื่อปรากฎทั้งผู้มีชื่อเสียง (ทั้งมนุษย์และไม่ใช่ - แม้ทั้งหมดก็น่าจะโดยมนุษย์เป็นสำคัญก็ตาม) ผ่านการ 'นำเสนอ' หลายระดับที่มีทั้งคุณสมบัติของ 'ความปัจจุบันทันด่วน' 'เหตุการณ์สด' และ 'การส่งต่อและแพร่กระจาย' อย่างรวดเร็วผ่านเทคโนโลยี อุปกรณ์ และโลกออนไลน์ ซึ่งจริงๆเรื่องเหล่านี้ก็สัมผัสได้ผ่านตัวอย่างของหนังอยู่แล้ว

ความจริงถ้าพูดกลับกัน 'ความมีชื่อเสียง' นั้นก็ต้องเกิดจาก 'การรับรู้ของคนหมู่มาก' อยู่แล้ว ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็สอดรับกับโลกและเกมที่ Nerve สร้างขึ้นได้อย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันผนวกเอาเรื่องของ เงินรางวัล เข้าไว้เป็นสิ่งตอบแทนในเกมด้วย
หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องของ บิ๊กบราเธอร์ ซึ่งกลายเป็นคำแทนความหมายที่มีอิทธิพล (ประมาณ แฟ้บ แทนฝงซักฟอก หรือ มาม่า แทน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) กล่าวถึง อำนาจที่เฝ้ามองและควบคุม จากนิยายดังเรื่อง 1984 ของ จอร์จ ออเวลส์ และในปัจจุบันก็ยังน่าจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น และมีการถูกใช้มากขึ้นในหลายๆบริบท รวมถึงส่งอิทธิพลต่อสื่อและเรื่องแต่งมากมาย และเป็นนิยามและลักษณะที่หลายคนยังกังวลว่ามีโอกาสเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นได้เรื่อยๆเหมือนกันในปัจจุบัน

ในขณะที่ด้านหนึ่งความกังวลในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็มีรูปแบบอีกลักษณะหนึ่งเช่นกันที่ทำให้ อำนาจของการเฝ้ามองและถูกเฝ้ามอง เปลี่ยนรูปแบบไป อย่างที่ก็เกิดขึ้นในปัจจุบัน และถูกนำมาเล่นได้อย่างน่าสนใจใน Nerve ในมุมมองของ  Nerve ผู้เล่น Nerve จำต้องเปลี่ยนสถานะจาก ผู้ดู หรือ ผู้เฝ้ามอง ไปเป็น ผู้เล่น หรือ ผู้ถูกเฝ้ามอง เพื่อมีโอกาสเข้าถึง ชื่อเสียง และ รางวัล ซึ่งในทางกลับกันเป็นสิ่งที่ ผู้ดู (หรือ ผู้เฝ้ามอง) ให้แก่ ผู่เล่น (หรือ ผู้ถูกเฝ้ามอง) และ เมื่อมันเป็น เกม ก็ยังมีการ แข่งขัน ระหว่างผู้เล่นเพื่อดึงความสนใจและความนิยมจากผู้ดู ถึงตรงนี้เรื่องของ อำนาจ ใน Nerve ก็ดูจะซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อผู้ดูจ่ายประโยชน์ให้ผู้เล่น ด้วย การมีชื่อเสียง อันดับ และเงินรางวัล ผู้เล่นยังมี 'อำนาจ' ในการ 'โหวต' กำหนดโจทย์ให้ผู้เล่น

ใน 1984 เราอาจมอง บิ๊กบราเธอร์ เป็น กลุ่มองค์กรโดยไม่แน่ใจว่าใครสังกัดองค์กรที่ เฝ้ามอง และ มีอำนาจนี้บ้าง ที่มีหลักการร่วมกัน(แม้อาจมีรายละเอียดต่างกันบ้าง) ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าหวาดผวาในแบบหนึ่ง แต่เราจำต้องอยู่ภายใต้อำนาจนี้ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
แต่ใน Nerve ผู้เล่นเข้าสู่เกมโดยตั้งใจ โดยมีผลประโยชน์เป็นชื่อเสียงและรางวัล แต่ผู้ดูใน Nerve นั้นกระจัดกระจายและไม่จำเป็นต้องมีอะไรร่วมกันเลย แม้ว่าการให้คะแนน การโหวต การเลือกโจทย์จะถือเป็นการกระทำร่วมกันก็เป็นไปในแบบหลวมๆ และไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อ รายละเอียดอื่น หรือไม่จำเป็นต้องรับรู้ว่ามีใครเป็น 'ผู้ดู' อยู่บ้างด้วยซ้ำ (ในองค์กรใน 1984 ยังน่าจะต้องมีระบุแยกแยะบ้างว่าใครอยู่ในองค์กรและอยู่ในระดับไหน) ความเกี่ยวข้องหรือความรับผิดชอบของ กลุ่มผู้ดู ใน Nerve จึงเบาบางขณะเดียวกันก็แข็งแกร่ง เนื่องจากยากที่จะควบคุมตรวจสอบเพราะกระจัดกระจาย ทั้งยังมีโอกาสมีคนที่มีสกิลและอุปนิสัยหลากหลายในกลุ่มผู้ดู แตกต่างกับฝั่ง ผู้เล่น ที่เป็นเป้าสายตาที่จำต้องถูกเฝ้าดูอย่างชัดเจน ทั้งมีโอกาสถูกจับจ้องถึงข้อมูลเชิงลึกโดยผู้ดูที่มีสกิลสูง และถูกเผยแพร่ได้ง่าย และมีโอกาสถูกขยายการถูกคนดูควบคุมเนื่องเพราะการเป็นที่สนใจนี้ด้วย... กลายเป็นการถูก เฝ้ามอง และ ควบคุม ด้วย 'กลุ่มผองเพื่อนน้องพี่(?)' ในโลกออนไลน์ ขนาด 'ใหญ่' ที่ต่างไปจากองค์กรในรูปรอยของ(ลูกพี่ใหญ่) 'บิ๊กบราเธอร์' ที่เรารู้จักใน 1984 อย่างแทบจะสิ้นเชิง... และตอนนั้น Nerve ก็กลายเป็นเกมที่ไม่ได้เล่นกันหนุกๆขำๆให้อิจฉากันเล่นอีกต่อไปแล้ว

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราในฐานะผู้ดูผ่านจอหนัง ก็ถือเป็น 'ผู้ดู' เกมนี้อีกชั้นหนึ่ง ถึงเราจะรู้ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ก็น่าตั้งคำถามเหมือนกันว่า ถ้าเรารู้สึก สนุก ไปกับ Nerve เราสนุกกับมันเพราะอะไร? บ้าง?

ซึ่งสำหรับผมเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ตัวเอกเผชิญกับวิกฤติและต้องหาทางเอาตัวรอดนั้นทำให้เรื่องราวตื่นเต้นเข้มข้นและน่าติดตามขึ้น จนก็น่าตั้งคำถามเหมือนกันว่ามันเป็น ความสนุก แบบเดียวกับ ผู้ดู เกม Nerve ในหนังที่พากันโหวตและควบคุมผู้เล่นในเกมรึเปล่า?

สุดท้าย...คำถามอาจกลายเป็นว่า เราเริ่มรู้สึกขึ้นมาในตอนไหนว่า เกมนี้อันตราย? และสุดท้าย เราอยากให้เกมนี้จบลงยังไง?...
แม้ว่ามันอาจดูเป็นแค่เกมในหนัง แต่ความจริงหลายๆคุณสมบัติของมันก็อาจไม่ได้ต่างกับ หลายๆสถานในโลกปัจจุบันของเราซักเท่าไหร่เลย

เมื่อเทียบกับเรื่องราวของ 13 เกมสยอง ก็จะรู้สึกว่าแกนของมันไม่ได้ต่างกันมาก แม้ว่าแรงจูงใจในการเข้าเล่นจะต่างกัน ซึ่งใน Nerve การที่เอาเรื่องมาเกิดในหมู่เพื่อนวัยรุ่นก็ถือว่าทำให้เรื่องราวมีที่มาที่ไปและเหตุผลได้น่าเชื่อใช้ได้ทีเดียว และสิ่งที่ทำให้ Nerve ยังคงน่าสนใจก็คือการที่มันหยิบจับเอา ความปัจจุบัน (หรืออันใกล้) มาขยำรวมกันเป็นเรื่องราวได้น่าตระหนกและน่าสนใจในเวลาเดียวกันนี่เอง เราจะเห็นได้ว่ารอบๆตัวมีอะไรที่มีคุณสมบัติร่วมๆคล้ายๆกับสิ่งที่เห็นใน Nerve อยู่เต็มไปหมด ทั้งเรื่องของสือสังคมออนไลน์ ไอดอลโลกออนไลน์ พฤติกรรมออนไลน์ และเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีลักษณะร่วมกับสื่อและเทคโนโลยีเหล่านี้ เช่น เทคโนโลยีกระจายศูนย์อย่าง Bit Torrent หรือ Bitcoin หรือแนวคิดอย่าง Crowdfunding หรือ Sharing Economy ฯลฯ ซึ่งก็ถือว่า Nerve หยิบจับมาวางไว้ในขอบเขตที่ดู 'เป็นไปได้' ได้อย่างน่าสนใจและน่าสนุก (อ่าว ตกลงคือสนุก??)

Nerve จึงเป็นหนังในกลุ่มที่มีองค์ประกอบหลายอย่างในระดับ 'ใช้ได้' และที่ทำให้มันน่าสนใจขึ้นก็เพราะ 'แนวคิด' ของมันซึ่งทำให้มันพิเศษไปจากหนังที่อาจไม่มีแนวคิดเหล่านี้บรรจุไว้ (แม้จุดประสงค์ของมันอาจเป็นเรื่องของการนำเสนอเพื่อเป็นจุดขายก็ตาม) ซึ่งก็เป็นหนังในกลุ่มเดียวกับหนังประมาณ The Purge (ที่เพิ่งมีภาค Election Year ไป)และความจริง Nerve ก็อาจรวบรวมแนวคิดที่ก็อาจไม่ได้ต่างจากแนวคิดที่มีอยู่ก่อนแล้ว แต่ถูกเทคโนโลยีเพิ่มความสะดวก (หรือเพิ่ม'อำนาจ' - ไม่ว่าจะฝ่ายไหน?!) ให้มีความสามารถ ช่องทาง หรือแนวคิดที่ซับซ้อนหรือมีทางเลือกมากขึ้น เช่น เมื่อพูดกันถึงในทางหนึ่งการที่มีผู้ ดึงความสนใจจากผู้ดูไว้ได้ มีผู้เล่น หรือผู้ชม ก็อาจไม่ต่างจากการที่ผู้ชมตามดูตามโหวตรายการเรียลลิตี้โชว์หรือการแข่งขันแสดงความสามารถที่เห็นกันตามรายการโทรทัศน์นัก ในรูปแบบหนึ่ง การที่สะกดให้มีผู้ตามดูตามชมได้ก็ถือเป็น อำนาจ ที่ผู้เล่น มีต่อผู้ชม ขณะเดียวกัน ผู้ชม ก็มีอำนาจลงคะแนนให้ ผู้เล่น เช่นกัน โดยยังมีผู้จัดรายการเป็นผู้รับผลประโยชน์อีกฝ่ายหนึ่ง (และรายการจะมีต่อไปแค่ไหนก็ขึ้นกับเรตติ้ง) ซึ่งก็ดูเป็นการคานอำนาจที่ดูนุงนังดีเพราะ ถ้าผู้ดูหลงใหลรายการผู้จัดก็จะได้ผลประโยชน์ ผู้เล่นมีเวทีแสดงฝีมือได้รับโอกาสแต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน และในบางรายการบางความเห็นอาจจะเห็นว่าถ้าคนดูหลงใหลมากๆก็อาจจะกลายเป็นการมอมเมาผู้ชมไปซะงั้น แต่ใน Nerve ตัด 'ตัวกลาง' ออกไป และผู่เล่นต้องเผชิญกับ 'ผู้ดู' ที่มี 'อำนาจ' มากกว่าที่คาดคิด หรือถ้าจะพูดในอีกซักด้านหนึ่ง ในเรื่องผู้เล่น เวที ตัวแสดง และ การเรียกความนิยมแล้ว... มันก็อาจไม่ได้ต่างอะไรกับการเลือกตั้งเวทีการเมืองเหมือนกันนะ? หึหึ ต่างก็แต่ว่าถ้าเลือกไปแล้ว คนที่ได้รับคะแนนนิยมก็จะได้อัพเกรดระดับอำนาจให้ไปควบคุมประเทศต่อ (แม้จะเห็นตัวได้(?)ก็เถอะ) นี่เขียนแล้วรู้สึกว่าน่าจะไปเขียนที่บอกจะเขียนต่อใน The Purge : Election Year ได้ซักทีแล้ว (ก่อนจะลืมหมด...) แต่ก็ไม่รู้เมื่อไหร่... - -

เอาจริงๆ หนังหลายๆเรื่องก็ผนวกเอาความเป็นปัจจุบันทั้งในด้านเทคโนโลยีและรูปแบบพฤติกรรมการดำเนินชีวิตมาใช้ในหนังกันมากแล้วในปัจจุบัน จะเนียนมากเนียนน้อยก็ว่ากันไป ซึ่ง Nerve ก็เอามาเล่นได้ใช้ได้ จริงๆตอนเริ่มๆเรื่องแม้จะดูโอเคดี แต่ผ่านไปซักแป๊บผมยังกลัวๆว่ามันจะ เล่น จนน่ารำคาญด้วยซ้ำ แต่ตอนหลังก็ไม่นะ แถมช่วงแรกๆก็ยังรู้สึกว่านักแสดงยังดูจะ แสดง(หนัก) กันอยู่ชอบกล เช่น ตอนโจทย์ข้อจูบ (ทั้งน้องเอ็มม่า (หลาน จูเลีย โรเบิร์ตส์) น้องเดฟ (น้องชาย เจมส์ ฟรังโก) เลย)แต่อันนี้ดูไปเรื่อยๆก็รู้สึกเป็นธรรมชาติขึ้นไปเอง ก็แก้ตัวแทนให้ไปเลยละกันครับ ว่ามันอาจจะดูติดแสดงอยู่ในช่วงแรกๆ เพราะพวกเขาก็ต้องแสดงให้คนดูดูเหมือนกัน หุหุ... และตอนจบที่อาจจะยังดูง่ายไปซักนิด แม้ว่าหนังจะใส่รายละเอียดมาพอสมควรแล้ว แต่ก็คิดว่าก็ใช้ได้ และมีเรื่องราวในส่วนนี้ที่ก็น่าสนใจทีเดียว รวมๆแล้วหนังก็ดูสนุก (อ่าว อีกแล้ว ตกลงว่าสนุกนะ?!) และน่าสนใจด้วยประเด็นของหนังและการเล่าเรื่องของเทคโนโลยีและพฤติกรรมในปัจจุบันครับ ชอบเพราะเรื่องนี้มากอยู่ และก็อย่างที่บอก แม้น้อง เอ็มม่า จะผอมบางไปบ้าง แต่ก็ใช้ได้

ทำไมดูจบหลงประเด็นชอบกล ก็เอาเป็นว่า 7.9 คะแนนครับ

ส่วนคำถามสำหรับ 'คนดู' อย่างคุณๆ เอาไปลองคิดต่อกันเองนะครับ...  



แบบยาวๆ 
จะ...ยาวกว่านี้... ยกไปเขียนเรื่องใหม่เลยดีกว่ามัง... เวงกำ...



นึกถึง
จริงๆทีแรกอยากจะลองนึกถึงหนังน้อง เอ็มม่า โรเบิร์ตส์ แหละ แต่คิดไปคิดมาเอาไว้ก่อนดีกว่า ขอไปเรื่องอื่นก่อนละกันครับ

จริงๆ คุณสมบัติของ ออนไลน์ ก็หาทางใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงของคนจำนวนมากมานานแล้วในหลายรูปแบบเยอะแยะ เช่น การใช้พลังประมวลผลของโปรเซสเซอร์ที่ไม่ถูกใช้งานในโครงการ SETI@Home (ลองอ่านดูใน วิกิพีเดีย) หรือในโครงการแนวนี้อื่นๆ เอาจริงๆอย่าง Wikipedia นี่ก็ถือเป็นโครงการที่ก่อสร้างและขยายตัวด้วยคนจำนวนมากที่น่าสนใจเหมือนกัน

หรือโครงการหนุกๆขำๆ ตั้งกะ 2 ปีที่แล้ว อย่างการร่วมเล่น Pokemon (ภาค Red ซึ่งเป็นเกม Pokemon เจนแรกสุดบนเกมบอย) กันเป็นหมื่นคนผ่าน IRC (ลองไปอ่านดู ที่นี่) ซึ่งก็ไม่เชิงเป็นการโหวตเพราะออกแนวใครกดก่อนได้ก่อน สร้างความอลหม่านสนุกสนานเป็นที่ยิ่ง (แต่ใครไม่เคยเล่นคงจะงงนะตอนดู ไม่เหมือน Pokemon Go ที่กะลังฮิตๆเท่าไหร่นะบอกก่อน ไปเหมือนกับเวอชั่นเก่าที่มีคนทำแจกกันช่วงนี้มากก่า - แต่เป็นกราฟฟิก8บิทเกมบอยแหละนะ) ไม่รู้ป่านนี้ยังมีถ่ายทอดอยู่ไหมนะ? กดไปดูได้ที่ www.twitch.tv/twitchplayspokemon  แต่ไหนๆตอนนี้ กระแส Pokemon Go กะลังมา น่าจะมาใหม่นะ 555 แถมดู Nerve แล้วก็คิดว่าถ้าเขาทำให้มันโหวตได้ เช่น รอซัก 30 วินาที ว่าใครใส่คำสั่งอะไรมากสุดก็จะใช้คำสั้งนั้นก็น่าจะใกล้เคียงนะ น่าสนุกดีเหมือนกัน แต่อาจจะดูไม่สนุกนักเพราะอาจต้องรอและดูไม่อลหม่านว่องไวนุงนังเท่ากดก่อนได้ก่อนนะ 555

อ่ะ แปะวิดีโอที่เขาบันทึกไว้ให้ดูบน Youtube เผื่อๆละกัน แต่มันเร็วจนไม่น่าดูรู้เรื่องหรอกนะ 555 หากดดูอันอื่นที่รู้เรื่องกว่านี้เอาแทนละกัน...เพื่อ?! (แล้วไหงมาจบที่ Pokemon ซะงั้น?! หัวเป็น เอ็มม่า โรเบิร์ตส์ (?) กลาง Nerve ท้ายเป็น โปเกมอน ซะงั้น โคตรมั่ว - พฤติกรรมออนไลน์ก็แบบนี้!? - ไม่ใช่แหล่วววว เอ็งแหละมั่ว!!?)






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น