วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ชวนดู เทศกาลภาพยนตร์เงียบ ประเทศไทย ครั้งที่ 5 (24-31 พฤษภาคม พ.ศ.2561) @ Lido

อย่างที่กล่าวถึงไป นี่เป็นเทศกาลที่ผมรู้สึกดีใจที่มีหอภาพยนตร์ฯการจัดขึ้น และได้จัดขึ้นที่ ลิโด ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 แล้ว (และคงเป็นปีสุดท้ายที่ ลิโด...)

ในเวลาก่อนนานมานั้น ภาพยนตร์ในรูปม้วนฟิล์มยังไม่มีการแทรก track เสียงเข้าไปประกอบกับ track ภาพเคลื่อนไหวได้ การฉายภาพยนตร์ในยุคเก่าก่อนก็สมกับคำว่า motion picture ที่แปลว่าภาพเคลื่อนไหวจริงๆ เพราะมีแค่ภาพเคลื่อนไหวให้ดูให้ชมกัน แต่ไม่มีเสียง เข้าใจว่าบางที่ก็คงดูกันไปเงียบๆอย่างนั้น (ไม่ทันเป็นสักขีพยาน) บางที่ก็คงมีการใช้เสียงประกอบบ้าง ดนตรีบ้าง พูดบรรยายเอาบ้าง

แต่ในบรรยากาศโรงภาพยนตร์ยุคหนึ่ง ก็คงมีการนำดนตรี หรือวงดนตรีไปประกอบให้สมกับเป็นการแสดงในโรงมหรสพ และลักษณะเช่นว่านั้นก็ได้ปลาสนาการไปจากการฉายภาพยนตร์ในปัจจุบันยาวนานแล้ว ยิ่งไม่นับว่าฟิล์มเองก็กลายเป็นการถอดรหัสดิจิทัล เพื่อแสดงภาพและเสียงแก่ผู้ชมในโรง

อย่างไรก็ดี ก็คงมีผู้อยากรู้ อยากรับบรรยากาศของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในยุคเก่าก่อน ประกอบกับคงมีการพยายามบูรณะหลักฐานและมรดกทางประวัติศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะ เหล่านี้เก็บไว้ จึงมีการบูรณะภาพยนตร์เงียบเหล่านี้มาเพื่อฉายในยุคดิจิทัล และมีการแสดงดนตรีประกอบ ให้กลับไปคล้ายคลึงกับรูปแบบการฉายในสมัยนั้น แม้ไม่อาจถอดแบบมาได้สมบูรณ์ทั้งหมด แต่สำหรับบางคนมันอาจเป็นเรื่องน่าตื่นตา ตื่นหู และตื่นใจ ไม่แพ้การชมภาพยนตร์ในโรง IMAX ทีเดียว ซึ่งบรรยากาศเหล่านั้นยังคงสะกดใจคนที่สนใจหลงใหลในเรื่องราวเหล่านั้นได้เสมอ หลายคนอาจได้ลองชม The Artist ภาพยนตร์ออสการ์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่เป็นเหมือนจดหมายรักถึงยุคแห่งภาพยนตร์เงียบ ซึ่งก็อาจจะพบว่ามันสนุกและบันเทิงได้ไม่ต่างไปจากระดับความรู้สึกที่ได้จากหนังในทุกวันนี้เลย

ภาพจากเว็บไซต์ของหอภาพยนตร์ www.fapot.org

หอภาพยนตร์ได้จัดเทศกาลภาพยนตร์เงียบขึ้นนประเทศไทยด้วย (ซึ่งอย่างที่กล่าวไว้ว่าผมประทับใจมาก ลองกลับไปอ่านในบทความก่อนดู) และต่อเนื่องมาถึงในปีนี้ ซึ่งมีการเลือกธีม เลือกภาพยนตร์สำคัญๆ พร้อมคุณูปการของเรื่องนั้นๆไว้ย่อๆเพื่อผู้สนใจชมได้ทราบ แล้ว ลองเข้าไปดูรายละเอียดภาพยนตร์ในเทศกาลปีนี้ทั้งหมด ระหว่างวันที่ 24-31 พฤษภาคม พ.ศ.2561 ได้ที่เว็บไซต์หน้าเทศกาลฯของหอภาพยนตร์ และหน้า facebook ของ Apex ซึ่งในบรรยากาศและขนาดของโรงลิโด ผมคิดว่ามันพอดีเหมาะเจาะทีเดียวในการที่จะชมภาพยนตร์ และชมดนตรี ไปพร้อมๆกัน

ภาพจาก www.apexsiam-square.com


วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เทศกาลภาพยนตร์บูรณะแห่งเอเชีย @ Lido : รำลึก ลิโด-สกาล่า ตอนที่ 2 ลิโด

แน่นอนว่าจากที่กล่าวไปในครั้งที่แล้ว ว่าความตั้งใจหนึ่งของผมคือการไปดูสโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ในโครงการ ทึ่ง ! หนังโลก ที่สกาล่า เมื่อใกล้วันฉายและใกล้วันเดินทางเพื่อเข้ากรุงนั้น ผมก็ทำสิ่งที่เคยทำอยู่เป็นกิจวัตรในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้ทำมานานเหมือนกัน นั่นก็คือเข้าไปเช็คที่เว็บไซต์ และ facebook ของ Apex ดูเสียหน่อย (ซึ่งจริงๆไม่ต้องก็ได้เพราะก็รู้อยู่แล้วว่าสโนไวท์ฯฉายวันไหน เพราะมันก็มีวันเดียวรอบเดียว แต่มันเป็นความเคยชินน่ะครับ) และแล้ว... ผมก็พบว่าในช่วงเดียวกันนี้ มันมีโครงการ เทศกาลภาพยนตร์บูรณะ ของหอภาพยนตร์จัดภาพยนตร์มาฉายที่โรงภาพยนตร์ Lido แถมช่วงเวลามันก็ช่างพอดีกับเวลาที่ผมเข้าเมืองกรุงเหลือเกิน

ตอนนั้นไม่ได้ไปหาข้อมูลอะไรเพิ่มเลยครับ ภาพยนตร์บูรณะคืออะไรก็ไม่แน่ใจ เดาไว้ว่าคงคล้ายๆตอน เจอฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา แล้วเขาเอามาเข้ากระบวนการบูรณะใหม่ อะไรแบบนี้ รู้แค่ชื่อภาพยนตร์แต่ละเริ่องที่เข้าฉาย มาจากหลากหลายประเทศ ซึ่งก็ไม่รู้จักซักเรื่อง (คุ้นๆอยู่แค่ Gate of Flesh ล่ะกระมัง) แต่ตั้งใจไว้เลยว่า เราจะไปดูแน่นอน รายละเอียดอะไรก็ช่างมัน ไปให้ทันดูก่อนก็แล้วกัน

ภาพจาก www.womjapan.com


นั่นล่ะครับ มันก็เป็นมาด้วยประการล่ะแบบนี้เอง พอเห็นท่าว่า เฮ้ย แถมไม่น่าเชื่อเผลอๆจะไปดูได้ทุกเรื่องในโปรแกรมด้วยเว้ยเฮ้ย เราก็ดีใจเล็กๆ ซึ่งบางคนคงไม่แน่ใจว่าจะดีใจทำไม แต่ก็เอาน่ะ ผมดีใจของผม มันก็ช่วยไม่ได้

จริงๆแล้วนี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่คาดหวังได้จาก ลิโด-สกาล่า ในช่วงหลังๆมานี้อยู่แล้ว เนื่องจากหลังยุครุ่งเรื่องของโรงภาพยนตร์ที่เพิ่งเริ่มสร้างธุรกิจ และตัวอาคารให้มีความโอ่โถง รองรับผู้ชมได้เป็นจำนวนมาก จนหลังๆโรงภาพยนตร์กลายเป็นมัลติเพล็กซ์ แตกเป็นโรงย่อยๆขนาดพอประมาณหลายๆโรง ย้ายตัวไปอยู่บนตึกอาคาร มีที่จอดรถ ทีกิน ที่ช๊อปฯ สรรพสินค้า ฯลฯ ทั้งในเวลาต่อมาการดูหนังก็สะดวกไปอีกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเตอร์เน็ต โรงภาพยนตร์แบบเก่าจึงซบเซาลงมากกว่ายุครุ่งเรืองมาก

โรงภาพยนตร์ในเครือ Apex ก็ไม่ต่างกัน ทั้ง สยาม ลิโด สกาล่า ว่าไปการที่โรงยังยืนหยัดฉายหนังในรูปแบบโรงภาพยนตร์แบบเดิมมาจนปัจจุบันได้น่าจะเป็นเรื่องที่น่าทึ่งอย่างนึงด้วยซ้ำ ทั้งๆที่โรงภาพยนตร์อันใหญ่โตมีชื่อและรุ่งเรื่องในอดีตล้วนล้มเลิกกิจการกันไปหมดแล้ว

ว่าไป ลิโด (ที่เรา และก็ผม รู้จัก) ในตอนนี้ ก็ไม่เชิงเป็นโรงภาพยนตร์ในรูปแบบดั้งเดิมนัก เพราะครั้งนึงลิโดก็เป็นโรงใหญ่ Stand Alone รองรับผู้ชมจำนวนมากและฉายภาพยนตร์ได้ครั้งละ 1 เรื่อง เหมือนๆสยามกับสกาล่าน่ะแหละ แต่ในกาลต่อมาลิโดเกิดไฟไหม้ หลายอย่างเสียหายไป แต่ลิโดก็ยังไม่ล้มเลิก ยังปรับปรุงโรงและพื้นที่โรง เพื่อเป็นโรงฉายภาพยนตร์ขนาดเล็กลง 3 โรง รายล้อมด้วยพื้นที่ร้านค้าให้เช่า โรงภาพยนตร์ลิโดจึงยังคงยืนหยัดเป็นสถานที่ฉายภาพยนตร์แห่งหนึ่งกลางสยามมาจนทุกวันนี้

ผมเองรู้เรื่องเหล่านี้หลังจากรู้จักกับ ลิโด ครั้งแรกๆไปเป็นปีแล้ว(มัง) ก็แปลกใจอยู่นิดๆว่าทำไม ลิโด ไม่เหมือนโรง สยาม กับ สกาล่า (แต่ก็ไม่ค่อยได้คิดเรื่องนี้หรอก ทีแรกคิดเอาเองว่าหรือลิโดจะสร้างทีหลังสุด แล้วเขาปรับให้ย่อยเป็นหลายโรงสไตล์คล้ายๆมัลติเพล็กซ์ด้วยซ้ำ)

ผมลองพยายามนึกดู ก็จำไม่ได้ซะแล้วว่าภาพยนตร์เรื่องอะไรที่ผมได้เข้าไปดูที่ ลิโด เป็นครั้งแรก หรือความจริงจะให้นึกเรื่องแรกที่ไปดูที่ สยาม หรือ สกาล่า ก็จำไม่ได้เหมือนกัน - - (จะ SF Cinema City MBK หรือจะ Paragon โน้นนี่ ก็จำไม่ได้เหมือนกันเหอะ แม้ว่าจะมีเรื่อง 'พิเศษ' ที่จำได้ในกรณีเฉพาะกว่านี้ก็ตาม...) เอาเป็นว่าในครั้งแรกที่เข้ากรุงไปอยู่แถวๆนั้นเป็นนานนั้น ผมไม่ได้เข้าไปดูหนังที่ทั้ง 3 โรงเป็นที่แรกๆหรอกครับ ก็เข้าไปดูในโรงมัลติเพล็กซ์ตามห้างทั่วไปนั่นแหละ SF MBK ไรงี้ จำได้ว่าตอนนั้นยังมี EGV ที่ Siam Discovery กับ Big C ตรงข้าม World Trade Center (อดีตของ Central World ฮะ เผื่อใครไม่รู้) อยู่เลย (แถมโรงภาพยนตร์บน World Trade Center ก็เป็นโรงของเครือ Major ซะด้วยนะ) พารากอนยังไม่มีด้วยซ้ำ (อืม ดูยาวนานขึ้นมาทันที แถม:เป็นยุคที่หนังเข้าใหม่ยังเปิดตัววันศุกร์กันอยู่เลย อืม...)

เอาเป็นว่าครั้งแรกจริงๆที่ผมขึ้นไปเพื่อจะดูว่าโรงภาพยนตร์ ลิโด เป็นยังไง ถ้าพูดกันตรงๆ ผมออกอาการ เหวอ นิดๆด้วยซ้ำ เพราะมันดูต่างจากโรงตามห้างอยู่ประมาณหนึ่ง (ก่อนหน้ายุคนั้นผมไม่ค่อยได้ดูภาพยนตร์เท่าไหร่ครับ ไม่มากที่มากโรงนัก ไม่ว่าจะจังหวัดไหนก็ตาม ภาพของโรงภาพยนตร์ในความคิดของผมก็เลยไม่ได้หลากหลายอะไรนัก) แต่สรุปแล้วทำไปทำมา สรุปก็ได้ไปดูภาพยนตร์ที่โรง ลิโด ซึ่งก็รวมทั้ง สยาม และ สกาล่า ด้วย ก็ไม่แน่ว่าจากโรงในเครือเอเพ็กซ์ทั้งหมด ลิโด น่าจะเป็นโรงแรกที่ผมได้เข้าไปดู? อันนี้พยายามนึกก็ไม่แน่ใจ(อีกแล้ว)จริงๆ

แต่ ลิโด ก็เป็นโรงภาพยนตร์ที่ผมเข้าไปดูภาพยนตร์บ่อยที่สุดแน่นอนในระยะหลังๆ

บางคนคงคุ้นเคย...

สิ่งที่ทำให้ผมเข้าไปดูภาพยนตร์ในโรงเครือเอเพ็กซ์นั้น  ไม่นับว่าครั้งแรกจริงๆก็เป็นเพราะหนังที่อยากดูในรอบที่คิดว่าโอเคมันฉายอยู่ที่นั่น (ซึ่งจำไม่ได้แล้วว่าเป็นเรื่องอะไร แต่เป็นเพราะหนังแน่นอน อันนี้มั่นใจ) ว่ากันซื่อๆในครั้งแรกๆส่วนนึงก็มาจากเรื่อง ราคาค่างวดในการชมภาพยนตร์นั่นเอง จำได้ว่าในตอนนั้นถ้าไม่ 100 บาท ก็คงจะ 80 บาท ซึ่งราคาตั๋วชมภาพยนตร์โดยทั่วไปแพงกว่านี้ และก็จริงอยู่ที่เราสามารถมีวิธีชมภาพยนตร์ในราคาประมาณนี้บนโรงมัลติเพล็กซ์ในห้างได้เหมือนกัน แต่ถ้าไม่ต้องเลือกเวลา ก็ดูที่ ลิโด-สยาม-สกาล่า นี่แหละ ถูกสุดแล้ว สำหรับโรงภาพยนตร์ที่มีทั้งเครื่องเคราและบรรยากาศในการชมภาพยนตร์ในระดับนี้  ยิ่งทำให้ผมไม่ค่อยคิดอะไรมากเมื่อมีหนังที่อยากดูเข้าที่โรงเหล่านี้ ผมก็หาเวลาไปชมเลย จบ. (ยกเว้นถ้าเดือนนี้รู้สึกว่าหนังที่อยากชมมันจะมากเรื่องไปหน่อยไหมเอ็ง อันนี้ก็มีบ้างที่แบบ เฮ้ย เอาน่ะ เดือนนี้ประมาณนี้พอ สำหรับใครที่สงสัยว่าทำไมต้องดูเป็นเดือนๆ เอาว่าเหล่ามนุษย์มาม่าท้ายเดือนคิดว่าคงพอเข้าใจกัน(ล่ะกระมัง?))

วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ชวนดู! Apocalypse Now ! ภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา @ Scala วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2561

อย่างที่กล่าวไปใน การไปดู Snow White ด้วยอยากดูและรำลึก สกาล่า-ลิโด ตอนแรก ว่าผมรู้สึกขอบคุณ หอภาพยนตร์ฯ ที่ยังคงมีโครงการนำเอาภาพยนตร์คลาสสิคมาจัดฉายที่สกาล่าอย่างต่อเนื่อง ในโครงการ 'ทึ่ง ! หนังโลก' แม้ว่าจะไม่ได้ฉายด้วยระบบฟิล์ม แต่ก็เป็นการดูภาพยนตร์ระดับ 'ตำนาน' ทั้งหลายในบรรยากาศโรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 'ตำนาน' โรงภาพยนตร์ที่ยังยืนฉายภาพยนตร์จนถึงวันนี้

และแม้ว่าในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ตำนานนั้นคงจะสิ้นสุดลง... แต่อย่างไรก็ดีในวันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2561 นี้ ทางหอภาพยนตร์ฯ และสกาล่า ยังคงจัดฉายภาพยนตร์ในโครงการ 'ทึ่ง ! หนังโลก' ต่อไป

ภาพยนตร์ส่งท้ายโครงการ ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่ควรค่าแก่คอภาพยนตร์ หรือผู้สนใจเข้าชม ที่จะได้ลองเสพภาพยนตร์เหล่านี้ในโรงภาพยนตร์ซักครั้ง ภาพยนตร์เรื่องที่ว่าคือ Apocalypse Now หรือในชื่อไทยว่า  กองทัพอำมหิต เล่าเรื่องช่วงสงครามเวียดนาม ที่ทหารหน่วยรบพิเศษของสหรัฐอเมริกา ได้รับภารกิจพิเศษในระหว่างการสงครามยังดำเนินต่อไปอย่างโหดร้าย แยกตัวออกไปค้นหาและ 'ล่า' พันเอกผู้บังคับหน่วยรบพิเศษที่ละทิ้งหน้าที่ และโดนแทงบัญชีว่าเป็นบุคคลวิกลจริต

13 พฤษภาคม พ.ศ.2561 ไม่อยากให้พลาด กรุณาชมเผื่อผมด้วย T T

ตัวภาพยนตร์ดัดแปลงสร้างจากหนังสือนิยาย Heart of Darkness ของ โจเซฟ คอนราด กำกับโดยผู้กำกับ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ผู้กำกับภาพยนตร์ขึ้นหิ้งอย่าง The Godfather ภาพยนตร์ประสบความยากลำบากในการถ่ายทำมากมาย สุดท้ายเมื่อสำเร็จเสร็จสิ้นและออกฉาย ภาพยนตร์ได้รับรางวัล ปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออกสาร์ 8 สาขา รวมถึง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม ด้วย แม้จะคว้ามาได้เพียงในสาขา เสียงประกอบ และถ่ายภาพ ก็ตาม หรือแม้ มาร์ลอน แบรนโด ผู้แสดงเป็น ดอน วีโต คอร์เลโอเน The Godfather ได้อย่างยอดเยี่ยม จะไม่ได้มีชื่อเข้าชิงในสาขาการแสดงจากเรื่องนี้ก็ตาม การแสดงของ มาร์ลอน แบรนโด ใน Apocalypse Now ก็ยังนับว่าเป็นการแสดงที่ คลั่ง ที่สุดครั้งนึงของเขา และควรค่าแก่การชม

[ภาพยนตร์] Snow White and the Seven Dwarfs สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด @ Scala : รำลึก ลิโด-สกาล่า ตอนที่1

ในการแวะเข้าเมืองของผมในครั้งนี้่ ผมมีสิ่งที่ตั้งใจทำอย่างหนึ่งคือการไปชม สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด (Snow White and the Seven Dwarfs) ซึ่งเป็นการจัดฉายในโครงการ 'ทึ่ง ! หนังโลก' ของหอภาพยนตร์ฯ



ไม่ใช่แค่ว่าผมอยากชม Snow White ในโรงภาพยนตร์ซักที (Snow White ฉายครั้งแรกในอเมริกาปี ค.ศ.1937 (พ.ศ.2480) และฉายในไทยที่โรงภาพยนตร์ฮอลลีวูด ถ.เพชรบุรี (ไม่ใช่เมเจอร์ฮอลลีวูดนะ) แต่ผมหาข้อมูลปีฉายในไทยไม่ได้) เท่านั้น แต่เป็นเพราะผมรู้มาว่า สกาล่าและลิโด จะยุติการดำเนินการโรงภาพยนตร์ในสิ้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2561 ที่จะถึงนี้...

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การจัดฉายเรื่อง สโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ถ่ายที่ลิโด

ผมไม่ค่อยได้เข้าชมภาพยนตร์ในโรงสกาล่าบ่อยนักในช่วงหลัง แต่ก็ตั้งใจแรงกล้าที่จะมาดูส่วนหนึ่งก็เพื่อ 'รำลึก' ถึงโรงภาพยนตร์แห่งนี้ แห่งที่แม้ผมจะไม่ได้โตมาตั้งแต่ที่นี่เริ่มสร้าง ไม่แม้กระทั่งรู้จักโรงภาพยนตร์แห่งนี้ในยุครุ่งเรือง แต่ที่นี่ก็เป็นที่ที่ผมเดินเข้ามาเพื่อชมภาพยนตร์ เป็นกระทั่งกิจวัตรในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่ผมจะไม่สามารถเดินเข้ามายังที่แห่งนี้ ขึ้นบันได ผ่านโคมระย้าใหญ่โต เพื่อเดินเข้าไปซื้อตั๋ว เข้าชมภาพยนตร์ในที่แห่งนี้ได้อีก อย่างที่มันเคยเป็น...

การฉายภาพยนตร์ในโครงการนี้ ต่อเนื่องมาจากนำเอาภาพยนตร์ที่จัดว่า คลาสสิค หลายเรื่องมาฉาย ในโครงการ ภาพยนตร์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ ทอดพระเนตรในโรงภาพยนตร์ น่าจะนับว่ามีเหตุมาจากการจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา หลังจากมีการค้นพบฟิล์มภาพยนตร์ของเรื่องนี้ในต่างประเทศ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความสำคัญประการหนึ่งในการเป็นภาพยนตร์สีฟิล์ม 35 ม.ม.เรื่องแรกของไทย และได้มีการบูรณะภาพยนตร์เรื่องนี้จากฟิล์มที่ค้นพบ หลังได้รับการบูรณะ ภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา ได้เข้าฉายในเซกชั่น "คานส์ คลาสสิค" ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ก่อนมีการจัดฉายรอบพิเศษในไทยขึ้นที่โรงภาพยนตร์สกาล่า ครั้งนั้นนับเป็นครั้งหนึ่งที่คนชมภาพยนตร์เต็มโรงสกาล่าในระยะหลังมานี้ทีเดียว การจัดฉายมีขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2559 เมื่อราวเกือบ 2 ปีก่อน ช่วงก่อนหน้าในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตไม่กี่เดือน... นี้เอง



แทนที่จะปล่อยให้อีเว้นท์นี้ผ่านเลยไป ดูเหมือนหอภาพยนตร์จะเล็งเห็นถึงศักยภาพ ได้ความคิดอันยอดเยี่ยมที่จะจัดฉายภาพยนตร์คลาสสิคอื่นๆให้เข้าตีมกับการจัดฉายภาพยนตร์ สันติ-วีณา นั่นคือการจัดฉายภาพยนตร์ที่ในหลวงรัชกาลที่9 เคยเสด็จฯ ทอดพระเนตรในโรงภาพยนตร์  โดยจัดฉายเดือนละเรื่อง ราวๆอาทิตย์ที่1 หรือ2 ของแต่ละเดือนในรอบเที่ยงวันอาทิตย์ โดยเปิดขายตั๋วล่วงหน้า 1 อาทิตย์ และผมคิดว่านี่เป็นความคิดที่ยอดเยี่ยมจริงๆ นอกจากจะเพิ่มเติมแง่มุมที่เราได้ทำความรู้จักกับในหลวงรัชกาลที่9 ในช่วงเวลานั้นแล้ว ในแง่หนึ่งหลายๆองค์ประกอบนั้นผมคิดว่ามันช่างเหมาะสมกับการจัดฉายที่โรงภาพยนตร์สกาล่าอย่างยิ่ง จริงอยู่ว่าอาจมีข้อติติงจากคนที่คุ้นกับระบบโรงภาพยนตร์สมัยใหม่ ซึ่งใหม่กว่าสมัยที่สกาล่าเกิดขึ้นมา ที่จอดรถอาจไม่สะดวกสบายเท่าในห้างที่จอดแล้วเดินหลบลมฝนดินฟ้าอากาศเข้ามาได้เลย แต่ก็อาจต้องแลกกับการวนจอด 18 รอบ ด้วยเวลาที่เหลือเชื่อว่าจะนานได้ขนาดนั้น แต่ที่ตั้งของสกาล่าซึ่งอยู่บริเวณสยาม และสกาล่าเองก็น่าจะนับเป็นหนึ่งองค์ประกอบที่ค่อยๆช่วยผลักดันให้สยามเติบโตขึ้นเป็นทำเลทองกลางเมืองในยุคก่อนหน้า แม้ว่าปัจจุบันมันจะอ่อนแสงลงไปมากแล้วและมีองค์ประกอบอื่นที่ดึงดูดผู้คนหลากหลายวัยเข้าสู่อณาเขตนั้นก็ตาม ในเมื่อที่ตั้งของสกาล่าอยู่ที่สยามมันก็ยังถือเป็นบริเวณที่เข้าถึงได้ค่อนข้างสะดวก (ถือว่ารถ(สาธารณะ)ติดก็ยังเดินเอาได้(วะ) ผมเองในบางครั้งก็ทำแบบนั้นนะ - - และแม้ว่าบางคนจะไม่ชอบเดินทางเข้าเมืองเลยก็ตาม) และอีกทางหนึ่งที่จอดรถบนห้างก็ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งในการเข้าถึงสกาล่า และสกาล่าก็เป็นโรงภาพยนตร์หนึ่งที่รองรับผู้ชมได้เป็นจำนวนมาก

นอกจากความรุ่งเรื่องในอดีตแล้ว บรรยากาศของสกาล่าที่อยู่ผ่านกาลเวลามาก็ทำให้โปรแกรมการจัดฉายนี้ยิ่งให้ความรู้สึกพิเศษ (ไม่สำหรับใครก็สำหรับผมนี่แหละ) เมื่ออยู่ในพื้นที่แห่งนี้ แน่นอนว่าในด้านหนึ่งการจัดฉายภาพยนตร์คลาสสิค จากยุคเก่า มาฉายที่นี่ เมื่อเดินเข้ามาในสยามผ่านพื้นที่ที่จะเดินไปยังส่วนขายตั๋วและเข้าสู่ห้องฉาย สิ่งที่เราจะได้สัมผัสก็คือสถาปัตยกรรมอันอยู่คู่กับโรงภาพยนตร์ Stand Alone แห่งสุดท้ายของกรุงเทพ (ผมไม่แน่ใจพอจะกล้าเคลมว่าแห่งสุดท้ายของประเทศไทยนะครับ แต่อย่างไรก็ตามสกาล่าก็น่าจะนับเป็น โรง Stand Alone ที่น่าจะโดดเด่นที่สุดแห่งสุดท้ายที่ยังดำเนินการอยู่ในประเทศไทย) แม้อาจดูไม่เรืองรองอย่างในอดีตด้วยสภาพที่เปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย ไม่ใช่แค่โคมไฟใหญ่ หลายสิ่งหลายอย่างยังคงสะท้อนลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมที่ให้ความรู้สึกหรูหราจากสมัยนั้นให้ปรากฎกับสายตาของคนที่เข้ามาชมภาพยนตร์ในโรงแห่งนี้อยู่ แม้อาจจะเป็นบรรยากาศพื้นหลังสำหรับคนที่เข้าไปชมภาพยนตร์ในโรงก็ตาม ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องรื่นรมย์ไม่น้อยเมื่อคิดว่ามันอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมืองที่เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างยุคใหม่อย่างสยาม

ไม่ใช่แค่สถาปัตยกรรมภายนอกเท่านั้น อีกสิ่งหนึ่งที่เมื่อก่อนผมก็ไม่ได้รู้สึกนัก แต่ตอนหลังๆถึงรู้สึกชัดขึ้น (หลังจากตระเวณชมภาพยนตร์ในโรงโน้นนี้มากมาย) ก็คือ พื้นที่ห้องฉายภาพยนตร์ แม้ว่าต้องยอมรับว่าพื้นที่ภายในห้องฉายของสกาล่าไม่ได้สวยใสใหม่เท่าโรงภาพยนตร์สมัยใหม่อื่นๆ ระบบเสียงก็อาจไม่สมบูรณ์เท่าโรงระบบใหม่ๆ ทั้งยังมีกลิ่นของบรรยากาศที่ผ่านกาลเวลามา แต่สิ่งที่ผมรู้สึกเมื่อมาชมภาพยนตร์ในโรงสกาล่า คือ ความโอ่อ่าของมัน สิ่งที่ผมชอบมากมีอยู่ 2 อย่าง คือ บรรยากาศที่ม่านขนาดใหญ่ค่อยๆเลื่อนเปิด และขนาดของโรงและจอสกาล่า มันให้ความรู้สึกแกรนด์อย่างบอกไม่ถูก มีบางเหตุผลที่ทำให้ในระยะหลังๆผมได้เข้าชมภาพยนตร์ที่โรงลิโดบ่อยกว่าสกาล่ามาก แต่เมื่อกลับมาชม โดยเฉพาะเมื่อชมภาพยนตร์ที่มีความรู้สึกใหญ่โตหรือโอ่อ่าในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง ผมจะรู้สึกเสมอว่ามันรู้สึกดีมากที่ได้ดูในโรงสกาล่า ยังกับว่าบรรยากาศของโรงช่วยเสริมส่งให้การชมภาพยนตร์มีบรรยากาศของความโอ่อ่ากว้างขวางบางอย่างประกอบกับตัวภาพยนตร์ แน่ล่ะครับว่าไม่ใช่ภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ผมเอนจอยหรือรู้สึกยิ่งใหญ่ เช่น ผมเคยสัปหงกตอนชมเรื่อง Jane got a Gun ที่สกาล่านี่แหละ (โรงอื่นก็เคยสัปหงกนะ ไม่ใช่ไม่เคย) - - ซึ่งแม้ผมจะตื่นมองจอเมื่อ นาตาลี พอร์ตแมน (ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่มาชม หลังจากรู้สึกว่าไม่ได้เห็นเธอบนจอภาพยนตร์มาซักระยะ) ปรากฎตัวบนจอเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม และแน่นอนว่าจอสกาล่าที่แม้จะใหญ่กว่าโรงทั่วไป ก็ยังไม่อาจใหญ่ได้เท่าจอ IMAX ซึ่งจอขนาดใหญ่ที่สุดในระบบ IMAX อยู่ที่ Siam Paragon (ใกล้ๆนี่เอง) ระบบเสียงก็ไม่อาจอลังการได้ขนาดนั้น หรือไม่มีระบบฉาย 3 มิติ (แว่น) แต่สำหรับผมแล้วสกาล่าก็ 'ดีมากพอ' ที่จะทำให้ผมรู้สึก 'อิ่ม' ในการชมภาพยนตร์ในบรรยากาศของสกาล่า โดยเฉพาะเมื่อมันมีบรรยากาศที่เป็น สกาล่า ซึ่งไม่อาจหาได้จากที่ไหนอีก