วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2559
[ภาพยนตร์, อนิเม] THE BOY AND THE BEAST ศิษย์มหัศจรรย์ กับ อาจารย์พันธุ์อสูร : หนีไปในโลกสรรพสัตว์
อนิเมชั่นจากญี่ปุ่นยี่ห้อ มาโมรุ โฮโซดะ (THE GIRL WHO LEAPT THROUGH TIME, SUMMER WARS, WOLF CHILDREN) เล่าถึงเด็กชายหลงทางไปในโลกของสัตว์ป่า แม้จะยังไม่ได้ดูผลงานที่ผ่านมาในวงเล็บของ มาโมรุ โฮโซดะ เลย แต่คิดว่าแฟนๆไม่น่าจะผิดหวัง เพราะขนาดไม่ใช่แฟนอย่างผมก็คิดว่าดูสนุก และซาบซึ้งพอควร แม้จะให้ความรู้สึกถึงบรรยากาศของมังงะเมนสตรีม (ยกตัวอย่าง... อะไรดี... นารูโตะละกัน) แต่เป็นเรื่องที่วางรายละเอียด เนื้อเรื่อง คาแรกเตอร์ ได้ดี (ชอบกว่าหนังโรงล่าสุดของนารุโตะ - ซึ่งยังไม่ได้เขียนถึง) อาจเพราะมันไม่ต้องมีกรอบเกณฑ์จากต้นฉบับอื่นๆก็ได้ เรื่องถึงได้ดูจบสมบูรณ์ในตัวเอง และลงตัวกว่าเยอะครับ แฟนๆอนิเม รึคนชอบนารูโตะอะไรงี้ก็ดูได้นะครับ อ่อ รึแฟนๆค่ายอื่นอย่างจิบลิ ก็ยังน่าจะดูได้นะครับถ้าไม่เคยดูสายอื่นนอกจากจิบลิ ก็ถือว่าน่าสนใจ เพราะโทนอยู่ในทางซาบซึ้งอบอุ่น (แม้จะรู้สึกว่ามีความเป็นมังงะเมนสตรีม(รึจะเรียกสายมหาชนก็พอได้ - แต่จิบลินี่ว่าไปก็เป็นสายมหาชนสำหรับอนิเมรึป่าวหว่า?)มากกว่าอย่างที่ว่า) และแม้สไตล์จะไม่เหมือนกัน แต่ก็ สวย ปราณีต ดีทีเดียว 7.7 คะแนน
เรื่องเล่าถึงเด็กชายซึ่งเจอเรื่องหนักในชีวิต หลงเตลิดไปจนหลงไปในโลกของสัตว์ป่า ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของบรรยากาศใกล้การประลองเพื่อจะขึ้นเป็นประมุข แทนประมุของค์เดิมซึ่งพ้นหน้าที่และอยู่ระหว่างเลือกว่าจะกลายไปเป็นเทพเจ้าอะไรดีต่อไป
แม้จะรู้สึกถึงโน่่นนี่หลายอย่างและผมก็สงสัยตัวเองในตอนเริ่มดูว่านี่มันจะเด็กไปสำหรับตรูรึเปล่า? ค่าที่ว่ามันออกแนวดินแดนสัตว์ (แต่นายก็ดู KUNGFU PANDA ไรงี้สนุกไม่ใช่เรอะ? < ดูอนิเมสนูปี้ยังสนุกเลยเหอะ - -) และทีแรกที่เห็นคาแรกเตอร์ในโลกนั้นก็ต้องตั้งเป้าระวังอยู่บ้าง เพราะกลัวมันจะทำตัวซาบซึ้งเกินเหตุ ว่าไปหนังก็ตั้งใจซาบซึ้งแหละครับ แถมคาแรกเตอร์ยังออกแบบมาให้ได้ใจคนดูอยู่พอควร แม้บางคนอาจจะรู้สึกว่าตรูจะซาบซึ้งไปกับมนุษย์หมี (?) มนุษย์หมา (?) มนุษย์หมู มนุษย์ลิง มนุษย์หมูป่า ฯลฯ ได้หรือเปล่าฟระ? แต่เอาจริงบุคลิกของแต่ละตัวละครก็ถูกออกแบบมาให้มีความโดดเด่นชัดเจนกันดี ในแมนเนอร์แบบการ์ตูนญี่ปุ่นแหละ (คือประมาณเปลี่ยนจากหน้าคนมาเป็นหน้ามนุษย์สัตว์ป่า)
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของการมองเห็นคุณค่าในตัวเองผ่านตำแหน่งแห่งที่ที่เรารู้สึกเมื่ออยูท่ามกลางคน (?) อื่นๆ นั่นซิ แม้จะเห็นเรื่องอะไรแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่เราก็ยังจะได้เห็นเรื่องของการหาตำแหน่งแห่งที่ และให้คุณค่ากับตัวเอง และสิ่งต่างๆที่เราคิดว่ามีความหมายกับเราผ่านสิ่งอื่นๆที่อยู่รายรอบเสมอๆ นั่นจะเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีตัวตนขึ้นมา? หรือไม่นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถสร้างตัวตนของเราโดยอ้างอิงมาจากสิ่งอื่นๆที่อยู่รายรอบ เรา(ๆ)จึงต้องสร้างตัวตนกันขึ้นมาโดยอ้างอิงตำแหน่งแห่งที่ของกันและกัน จนมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง(หรือเป็นสมาชิก)ของที่ใดที่หนึ่ง จนเราสามารถให้ความสำคัญหรือเห็นความสำคัญของตัวเองได้
แล้วการจะทำให้เราอยู่ถูกที่หรือผิดที่มันขึ้นกับอะไรล่ะ? แล้วตัวตนของเราจะเป็นแบบใดได้บ้าง? จะถูกหรือผิด? แล้วถ้าเราหาที่ที่ถูกไม่เจอล่ะ? ดูเหมือนเป็นคำถามและเรื่องราวที่ถูกนำมาเสนอกันอยู่เสมอๆ
ในขอบเขตของการเป็นอนิเมที่ดูได้หลายกลุ่มหลายวัยหน่อย แน่นอนครับว่าหนังไม่ได้พยายามจะทำตัวให้มืดสุดขั้วหรือรุนแรงอะไร แต่ว่าหลายซีนอารมณ์หรือปมบางอย่างที่ใส่ไว้ รวมถึงการออกแบบคาแรกเตอร์ ก็ถือว่าโน้มน้าวให้เรารู้สึกถึงเรื่องราว และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวละครได้ หลายๆอย่างในหนังก็ดูแปลกตาดี และฉากขายหลายฉากก็ถือว่ามีของพอที่จะทำให้ตื่นเต้นได้ทีเดียว
ถ้าไม่นับอาการไม่แน่ใจในทีแรกๆว่าเรื่องจะพยายามพาตัวเองไปลึกขนาดไหนแล้ว นี่ก็ถือว่าเป็น
อนิเมดูสนุกทีเดียว ก็อยากไปหาผลงานกำกับชิ้นก่อนๆซึ่งยังไม่เคยดูเลยของ มาโมรุ โฮโซดะ มาดูเหมือนกัน คิดเอาเองว่าหลายๆเรื่องอาจแหกแมนเนอร์อนิเมญี่ปุ่นมากกว่าเรื่องนี้ (คิดเอาเอง - เรื่องนี้ก็คิดเอาเองว่าค่อนข้างอยู่ในกรอบหน่อย - -)
ที่น่าสนใจสำหรับผมก็คือ ในกรณีของตัวเอกเหมือนต้องหนีจากโลกหนึ่งไปจนพบอีกโลกหนึ่ง แต่สำหรับคนที่หนีนั้น อาจมีจุดประสงค์หรือความรู้สึกลึกๆต่างกันว่า อยากจะหนีไปให้ไกลแล้วไม่กลับมาอีก หรืออยากจะหนีจนกว่าจะพร้อมที่จะกลับไปยังที่เดิมได้ หรือหนีจนกว่าจะรู้ว่าที่ไหนคือที่ที่เราอยากจะอยู่ อาจจะขึ้นกับหลายสิ่งที่พบเจอระหว่างทาง ถ้าเราไม่รู้สึกว่าเข้มแข็งพอเราอาจจะอยากหนีไปเรื่อยๆ? หรือถ้าเข้มแข็งพอแล้วเราจะต้องการกลับไปยังที่ที่เคยหนีจากมาหรือไม่? เพราะอะไร? และยังจะกลับไปได้หรือเปล่า? หรือมีสิ่งใดที่ทำให้เราอยากจะอยู่ที่นี่หรือที่นั่น? แต่คำตอบของเรื่องนี้ก็ไม่จัดว่าพิสดารเท่าไหร่นะครับ (ลองนึกดูว่าถ้าเรื่องนี้อยู่ในมือของ เดวิด ลินซ์, เดวิด โครเนนเบิร์ก รึ ทาเคชิ คิตาโน่ งี้ (แต่คิตาโน่ก็ทำสายซาบซึ้งได้นี่ฝ่า แต่มันอาจมีอะไรประหลาดๆเยอะกว่าอยู่ละมัง?) รึจะ ซาโตชิ คง...) แต่ระหว่างทางก็ถือว่าสนุกดีทีเดียว
ด้วยน่าจะมีหลากหลายเรื่องราวที่พูดถึงการค้นหาตัวเองหรือสถานที่ของตัวเองทำนองนี้ และสุดท้ายสิ่งที่แต่ละตัวละครได้พบเจอ การเปลี่ยนแปลง และคำตอบที่เลือกก็คงต่างกันไป ใครจะอินกับเรื่องราวแบบไหนก็น่าจะแล้วแต่ความคิด ประสบการณ์ ทัศนคติ (หรืออื่นๆ เช่น ความหงุดหงิด ฯลฯ ฮ่ะๆ) ของใครของมัน และการค้นหาของเราเองอาจไม่ได้มีเรื่องน่าตื่นเต้นมหัศจรรย์อย่างที่ตัวเอกหรือตัวละครอื่นๆได้พบเจอ (ทั้งที่อาจรู้สึกลำบากกว่าก็เป็นได้) แต่ ในระหว่างนั้น ถ้าไปได้ดูอนิเมเรื่องนี้เข้าระหว่างการเดินทางของเรา มันก็ถือว่าเป็นอนิเมที่สนุกดีนะ 7.7 คะแนน (แล้วทำไมมันบรรยายมาจบ(น้ำ)เน่าแบบนี้)
อ่อ ถึงจะตั้งสร้อยไว้ว่า ในโลกสรรพสัตว์ แต่เอาจริงๆก็ไม่สรรพมากเท่าไหร่นะ... เห็นกันชัดๆไม่กี่เผ่าพันธุ์ แต่ที่เห็นถือว่าออกแบบมาโอนะ
นึกถึง
ความจริงตอนต้นพอพูดถึงจิบลิ หลายๆเรื่องก็พูดถึงการค้นหาตัวตนเหมือนกันหนิ โดยเฉพาะงานของ ฮายาโอะ มิยาซากิ หลายเรื่อง ซึ่งพีคๆเลยอย่าง SPIRITED AWAY ก็น่าจะมีหลายคนดูกันไปแล้ว (แต่ถ้ายัง ก็แนะนำนะครับ) แต่ที่อยากแนะนำของจิบลิพอได้ดูเรื่องนี้กลับเป็น POM POKO (กำกับโดย อิซาโอะ ทากาฮาตะ) ครับ ถือว่าเป็นเรื่องในโลกสรรพสัตว์เหมือนกัน เมื่อเหล่าทานุกิ ต้องเผชิญกับโลกของตนที่เปลี่ยนไป ชอบเรื่องนี้มาก
หรือความจริงพอพูดถึงเรื่องทำนองนี้ WHEN MARNIE WAS THERE การ์ตูนเรื่องล่า (ที่แฟนๆคงไม่หวังให้เป็นเรื่องสุดท้าย) ก็น่าจะดูให้เข้าบรรยากาศได้อยู่นะครับ ซึ่งใครยังไม่ได้ดู ลองหามาดูก็ไม่เลวเพราะบรรยากาศต่างกับผลงานของ ฮายาโอะ มิยาซากิ เหมือนกัน แต่ก็มีบรรยากาศเฉพาะตัวที่ทำได้ดี
และแม้จะไม่เกี่ยวตรงๆนัก แต่ตอนดูเรื่องนี่้แล้วนึกไปถึง งานกำกับของ ซาโตชิ คง (ซึ่งน่าเสียดายที่ไม่ได้ดูผลงานของเขามากกว่านี้ เพราะผลงานกำกับอนิเมหลายเรื่องของเขานั้นน่าตื่นเต้น) เรื่องนึง คือ TOKYO GODFATHERS ครับ ส่วนตัวแม้อาจไม่ใช่เรื่องโปรดอะไร แต่คนที่ชอบมากๆก็มีครับ ลองไปหาดูกัน
ส่วนพอพูดถึงโลกสรรพสัตว์ นึกถึงโดราเอมอนก่อนเลยแฮะ ซึ่งจริงๆเหมือนมีทั้งตอนธรรมดา และตอนพิเศษตอนดาวสรรพสัตว์ไรงี้ แต่จริงๆที่นึกถึงก่อนเป็นตอนพิเศษ เปโกะ ครับ เป็นตอน ตลุยแดนมหัศจรรย์
กะนึกถึงเกม BREATH OF FIRE เกมภาษา (RPG) ตัวเก่งของ CAPCOM โดยเฉพาะภาคแรกๆสมัย SUPER FAMICOM ที่มีจุดเด่นเป็นชือตัวพระ-นาง ใช้ชื่อ ริว-นีน่า ตลอด และตัวละครฝ่ายตัวเอกเป็นเผ่าพันธุ์สัตว์กัน(เกือบ)ทั้งนั้น
เหมือนจะนึกได้มากกว่านี้ แต่เอาเท่านี้แหละ...
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น