วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

[ภาพยนตร์] ALLEGIANT อัลลีเจนท์ ปฎิวัติสองโลก : มาถึงภาคที่สามจากจตุรภาคกันอีกหนึ่งซีรี่ส์



เดินทางมาถึงภาคที่ 3 ก่อนจะไปสู่ตอนจบในภาคที่ 4 จากหนังสือ 3 เล่ม

เมื่อพิจารณากันในกระบวนหนังแนว YA (YOUNG ADULT) โลกอนาคตดิสโทเปียแล้ว ดูเหมือนว่าความอะไรซักอย่างของซีรี่ส์ DIVERGENT จะมาถึงจุดที่มันดูเป็นอะไรที่ครึ่งๆระหว่าง THE HUNGER GAME กับ MAZE RUNNER ไปซะงั้น จะด้วยทั้งเรื่อง ทั้งพลอต ทั้งสถานการณ์ ทั้งคาแรคเตอร์ ฯลฯ อะไรต่ออะไรก็ตาม ทั้งที่ความจริงซีรี่ส์นี้ก็มีจุดเด่นเป็นของตัวเองที่ก็แตกต่างจากเรื่องของสองซีรี่ส์ที่ว่าพอสมควร และก็เป็นส่วนที่ทำให้หนังยังดูสนุกอยู่สำหรับผม ให้ได้ติดตามกันต่อไป ไม่ใช่จะตามดูมันไปอย่างนั้นเพราะน้อง เชลีน วูดลีย์ อย่างเดียว

สิ่งที่ผมคิดว่าซีรี่ส์นี้เอามาถ่ายทอดแล้วทำให้มันดูมีอะไรน่าติดตามดีเป็นเรื่องของ STEREOTYPE ซึ่งทำให้หนังแตกต่างไปจากบรรยากาศของ THE HUNGER GAME ที่ดูจะเน้นเรื่องของการปกครองและชนชั้น ว่าไปเรื่อง STEREOTYPE ก็เพิ่งพูดถึงเรื่องนี้ไปใน ZOOTOPIA แหละนะ

ขณะที่ใน ZOOTOPIA เลือกจะมองเรื่องนี้จากมุมนึง ซึ่งดูจะเป็นการตั้งคำถามกับการเหมารวมและความไม่ค่อยจะเท่าเทียมหรือการปิดกั้นโอกาส ซีรี่ส์ DIVERGENT เลือกมองการแบ่ง STEREOTYPE ในเรื่องของ อรรถประโยชน์ ประมาณว่าใครถนัดอะไรก็ไปทำสิ่งที่ตัวเองถนัดจะดีกว่าไปทำอะไรที่ตัวไม่ถนัดหรือไม่สามารถจะดีกว่าไหม?  เอาให้มันสุดไปเลย นั่นซิ แล้วมันดีกว่าไหม? อันนี้ตอบไม่ได้ เพราะจริงๆคิดว่าในนิยายหรือหนังก็เลือกทำมันออกมาในมุมมองที่เน้นการปลุกพลังให้ฮึกเหิม และติดจะบันเทิงมากกว่า คือคิดว่านิยายและหนังมันก็ไม่ได้พยายามจะตอบแบบจริงจังขนาดนั้น (แต่อันนี้ คือ ยังไม่เคยอ่านนิยายเลย แต่คิดเอาว่าเรื่องหลักๆคงไม่หนีกันเท่าไหร่) แต่ถ้าลองมองเรื่องพวกนี้ในเรื่องของ ประโยชน์ แล้วละก็ เราก็พบว่ามันก็ทำให้การมองเรื่องแบบนี้ซับซ้อนไปกว่าเดิมพอสมควรอย่างที่ก็น่าสนใจดีเหมือนกัน

แต่จริงๆนี่เป็นประเด็นที่ทำให้ดูหนังชุด DIVERGENT ได้สนุกดีนับตั้งแต่ภาคแรก แม้ว่าโอเคจะรู้สึกว่ามันถูกบอกเล่าออกมาแบบตัดรายละเอียดทิ้งไปให้เหลือแต่เรื่องหรือนิยามที่ดูง่ายๆไม่ซับซ้อน ซึ่งความจริงก็เหมือนใน ZOOTOPIA แหละ ที่มันถูกทอนหลายๆอย่างแล้วไปทำให้เข้าใจง่ายขึ้นและสนุกกับเรื่องราวได้มากขึ้นแทน ก็อาจจะมีเสียงบ่นครหาอยู่บ้างว่าใน DIVERGENT การเล่าของมันก็ไม่ได้สนุกหรือเป๊ะหรือกระชากใจนัก ติดจะสูตรๆแบนๆซะมากกว่า คือ เทียบกับหนังที่หลายๆคนอาจรู้สึกว่ามันคล้ายกันมากอย่าง HUNGER GAME (หรือจะเน้นประเด็นให้คม(ชัด)ไปเลย ล้อมด้วยตัวละครมีเสน่ห์สุดๆ ก็อาจไม่ได้ขนาด ZOOTOPIA) ก็ต้องยอมรับว่าในส่วนนี้ DIVERGENT สู้ไม่ได้จริงๆ ในเรื่องการเล่า วางสถานการณ์ สร้างตัวละครยิบย่อย ดีไซน์ ฯลฯ เพื่อดึงดูดใจและสายตา การบีบเค้นอารมณ์และวางเรื่องราวขัดแย้ง รวมถึงการมีความโดดเด่นที่น่าจดจำเป็นของตัวเองนั้น HUNGER GAME ทำได้ดีกว่าจริง ยิ่งรวมกับพลังการแสดงที่เสริมส่งด้วยเรื่องพวกนี้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรวมไปถึงส่วนของ 'เกม' ด้วย  ทำให้ HUNGER GAME มีสวนกระทบอารมณ์ผู้ชมได้จังๆกว่า  ง่ายๆว่าถ้าต้องเทียบกับ HUNGER GAME นั้นจะว่าศาสตร์ภาพยนตร์ของเรื่อง(ชุด)นั้น 'เป๊ะ' กว่าก็ว่าได้


แต่ขณะที่ HUNGER GAME ดูจะเน้นไปที่เรื่องของศาสตร์การปกครอง ซึ่งก็รวมไปถึงการแบ่งผลประโยชน์ สัญชาติญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ ชนชั้น และความเป็นกลุ่ม ที่วนอยู่รอบๆตัวเอกหญิงแกร่งอย่าง แคทนีส เอเวอร์ดีน (บาย เจนนิเฟอร์ ลอเรนซ์) เรื่องของ DIVERGENT แม้จะดูเหมือนวนอยู่รอบๆตัวเอกหญิงอย่าง ทริส (บาย เชลีน วูดลีย์) แต่ประเด็นที่ทั้งสองซีรี่ส์นำเสนอก็ดูจะต่างกันอยู่อย่างที่ว่า อย่าง HUNGER GAME นั้นเอาเข้าจริงในภาคหลังๆ เรื่องราวของส่วนที่เป็นการปกครอง การรวมกลุ่ม เรื่องของอำนาจ ฯลฯ การดึงความสนใจของมันก็ดูจะเจือจางลงไปเหมือนกัน และเอาจริงๆในสองภาคแรกคิดว่าส่วนที่ทำดึงความสนใจผู้ชมหลายคนให้ติดตามไปกับหนังก็เป็นส่วนของเกม ซึ่งก็เน้นไปที่การชิงไหวชิงพริบการเอาตัวรอดและการต่อสู้กันซะก็มากพอมาภาค 3 (MOCKING JAY PART 1) ที่หลายๆคนนินทาว่าแบ่งพาร์ทแล้วมันจะจืดจางลง แถมไม่มีส่วนของเกมเลย จริงๆผมก็ยังคิดว่ามันยังน่าติดตามพอสมควรนะครับ เพียงแต่เปลี่ยนจากความน่ากลัวแบบจะจะตาใน 2 ภาคแรกมาเป็นความน่ากลัวที่มองไม่เห็นแทน เน้นไปทื่การใช้สื่อมากขึ้นและก็ยังเห็นการขับเคลื่อนของเนื้อเรื่อง ให้พอตัดจบให้เป็นเรื่องที่ให้ติดตามต่อ ซึ่งจริงๆก็ไม่ถึงกับรู้สึกว่ายืดอะไรมากเพราะคิดว่าเรื่องราวของมันก็ยังเข้มข้นอยู่ แต่...พอมาภาคจบ (MOCKING JAY PART 2) นี่ซิ... จากที่คิดว่าเนื้อเรื่องก็แบ่งไปเล่าใน PART 1 แล้ว ภาคนี้น่าจะมีเนื้อเรื่องที่เข้มข้นลงตัว (คือก็ตัดไปเล่าเยอะแล้วใช่ไหมใน PART 1 ที่เหลือก็น่าจะเอามาขมวดสวยๆได้ - อย่าง HARRY POTTER เราโอเคนะ ก็ดี (แต่อันนั้นหนังสือมันก็หนาจริงๆ)) กลับรู้สึกว่ามันกระจัดกระจายยังไงไม่รู้ คือ ไม่ได้มีแค่ส่วนที่ยืดด้วยนะ ส่วนที่รู้สึกว่าทำไมมันห้วนหยั่งงี้ก็มี เลยงงๆว่าจริงเนื้อเรื่องภาคนี้ก็ยังพอมีเนื้อหนังให้เล่น แต่มันดูกระจัดกระจายจนไม่เข้มข้นและไม่ค่อยน่าติดตามยังไงไม่รู้ แม้จะมีช่วงที่ตัดมาเฉยๆก็ดูเข้มข้นดี แต่หลายๆอย่างบ้างก็รู้สึกยืดไปบ้างก็รู้สึกว่ามันห้วนจัง ภาคนี้เลยไม่เป๊ะ และรวมๆแล้วมันก็เลยเป็นภาคที่อารมณ์หลังดูจบมันดูเฉยๆที่สุดไปซะได้ คือเรื่องของการปกครอง อำนาจ อะไรที่ปูมาแรกๆพอภาคนี้ความน่าสนใจของมันสำหรับผมก็ดูจางลงไปมากแล้วด้วย

ขณะที่ ALLEGIANT ยังรู้สึกว่ามันขยายความสิ่งที่เริ่มไว้ในเรื่อง STEREOTYPE ได้อีก จากภาคแรกที่เราได้เห็นการแบ่งคนเป็นกลุ่มๆ พอมาในภาคนี้เรื่องก็ยังมีการสืบสาวไปสู่ต้นตอต่อ ซึ่งแม้ไม่ได้รู้สึกว่าแปลกรึเซอไพรส์มาก แต่ก็คิดว่ามันเอามาโยงกันได้น่าสนใจดีเหมือนกัน อย่างที่บอกว่าในมุมนี้ การแบ่งคนออกเป็นประเภทๆเป็นเรื่องของอรรถประโยชน์ คล้ายๆฟังก์ชั่นการทำงาน ซึ่งเราจะไม่มาเถียงกันตรงนี้ว่ามันถูกผิดยังไงรึเปล่า แต่คิดว่าน่าสนใจเพราะคิดว่าเรื่องแบบนี้มันมีจริง แถมเอาจริงๆการให้ค่ากับคุณสมบัติบางอย่างเหนืออีกอย่างนึงก็มีจริง และจริงๆเราก็อยู่ในโลกแบบที่มีโอกาสถูกเปรียบเทียบตัดสินอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นเรื่องของรูปลักษณ์โดยการศัลยกรรมบางอย่างก็เป็นไปเพื่อการรักษา แต่บางอย่างก็ไม่ หรือในเรื่องของการทำงานเอาจริงๆในโลกสมัยใหม่เราก็ถูกแยกอาชีพและหน้าที่อยู่จริงๆ แม้ว่าปัจจุบันความรู้หลากหลายแบบสหวิทยาในบางสาขาจะดูจำเป็นขึ้นมากกว่าเดิม และในอดีตคนๆหนึ่ง(โดยเฉพาะที่สำคัญๆ-ที่เราก็รู้จักได้ยินชื่อเขาบ้างจนทุกวันนี้)ก็อาจเชี่ยวชาญในหลายสาขาอาชีพมากกว่านี้ เข้าใจว่าก่อนที่จะมีการจัดแบ่งอาชีพหน้าที่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นในภายหลัง ซึ่งในแง่หนึ่งก็ทำให้มันเข้าถึงง่ายขึ้นด้วย หรือมันแบ่งได้จริงไหม หรือเหมาะสมจริงไหม เช่น ในบางแง่การเข้าถึงมวลชนหรือเข้าถึงได้ง่ายมีความป๊อบปูล่าร์ในระดับหนึ่ง อาจมีคุณสมบัติติดตาต้องใจคนได้มากกว่าคุณสมบัติเบื้องหลังอื่นๆก็ได้ ซึ่งบางครั้งบางเรื่องก็ดูน่าอันตราย (เช่น รู้ไม่จริงแต่พูดให้คนเชื่อหรือสนใจได้ กับรู้รายละเอียดเยอะแต่พูดให้คนเชื่อหรือดึงความสนใจคนไม่ได้) และแม้การแบ่งประเภทความสามารถในหนังดูจะค่อนข้างจำกัด แต่มันก็เป็นธรรมดาเหมือนกันที่อะไรที่ไม่ซับซ้อนจะเข้าใจได้ง่ายและ(ใช้)สะดวกกว่าอะไรที่ซับซ้อนอยู่แล้วในการรับรู้ของคนทั่วไป (เช่น ปุ่ม LIKE ใน facebook ก็ได้เอ้า เทียบกับอีโมที่มากขึ้นตอนนี้ก็ทำให้มันหลากหลายน่าสนใจขึ้น แต่ระดับที่เหมาะสมของมันคือแค่ไหน? เพราะมันก็จะทำให้ซับซ้อนขึ้นและถ้ามากไปกว่าระดับนึงแล้วความวุ่นวายของมันก็จะมากขึ้นด้วย) ส่วนนี้ก็อาจสะดวกในทั้งการเล่าเรื่อง และถ้าเราจะต้องแยกประเภทจริงแล้วละก็ เราอาจทำให้มันซับซ้อนได้แค่ระดับหนึ่งแค่นั้นเพื่อความใช้สะดวกของมันก็ได้ ขณะที่คงต้องเถียงกันอีกยาวว่าการแบ่งประเภทนี้จะทำได้แค่ไหนและทำไปเพื่ออะไร การแบ่งประเภทคนบางแบบก็อาจดูมีสาระและความจำเป็นบางอย่างจริงๆ อาจเป็นไปเพื่อการรักษา หรืออาจเป็นไปเพื่อการทำความเข้าใจ ก็ได้ อย่างเช่น เรื่องของ INTROVERT หรือ EXTROVERT หรือ กลางๆเป็น AMBIVERT ซึ่งเป็นบุคลิกลักษณะในเรื่องของการเข้าสังคม ซึ่งอาจเป็นข้อสังเกตในการทั้งเข้าใจตนเองและเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น เป็นต้น

อีกเรื่องที่ถูกโยงไปถึงก็คือเรื่องของการคัดคุณสมบัติที่สมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันก็เกี่ยวกับการตัดต่อไปถึงระดับยีนหรือพันธุกรรม ซึ่งบางอย่างที่เป็นอะไรที่แฝงมาอย่างโรคทางพันธุกรรมก็มีอยู่จริง หรือการสืบสายในวงพันธุกรรมแคบๆแล้วลักษณะหลายอย่างอาจจะอ่อนแอลง ซึ่งถ้าไม่นับในมนุษย์เรื่องพวกนี้ก็มีมานานแล้ว ไม่เฉพาะพืช GMOs ถ้าไม่นับเรื่องเทคนิคที่ใช้ การปรับปรุงพันธุ์ก็มีมานานแล้วไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเกษตรหรือปศุสัตว์ หรือก็อาจจะเห็นได้ว่าพันธุ์สุนัขหลายๆพันธุ์นั้นก็จะมีลักษณะเด่นที่ทำให้ใช้ชีวิตลำบากเหมือนกัน เช่น หูใหญ่ไปจนมีปัญหาสุขภาพ หรือมีปัญหากระดูกง่าย ฯลฯ ซึ่งก็ถูกปรับปรุงพันธุ์มาในอดีตเหมือนกัน มาถึงปัจจุบันแนวคิดของการปรับปรุงเพื่อลดจุดอันตราย ข้อเสีย หรือเพื่อให้ 'สมบูรณ์' ก็ยังคงมีอยู่ (หรือมองว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด) และ  มันก็ดูจะเกี่ยวกับ โอกาส และชนชั้น (ใครมีทุนมากกว่าก็มีสิทธิ์เข้าถึงการ 'ทำให้ดีขึ้น' ได้มากกว่า) อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ว่าในกรณีนี้ (หลังจากตรงนี้อาจถือว่าสปอยล์แล้วนะ) ดูเหมือนหนังจะตอบ(และแต่งเรื่อง)ไปแล้วว่า การพยายามลบจุดด้อยจนทำให้ 'PERFECT' หรือ 'สมบูรณ์' นั้นจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงตามมา และการพัฒนาการระหว่างนี้ยังทำให้มันเกี่ยวกับเรื่องของ ลำดับขั้นหรือการปกครองได้ด้วย ตามขอบเขตลำดับการปกครองมองว่าส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องของการทดลอง และไม่ได้มองว่าสิ่งที่ทำเป็นการทำร้ายทำลายอะไร มองว่าเป็นไปเพื่อการช่วยเหลือหรือปรับปรุงซะด้วยซ้ำ (แต่ก็ขึ้นอยู่กับทุน) ซึ่งคิดในมุมของสภาพความเป็นมาเป็นไปมันก็อาจจะยากจริงๆก็ได้ คล้ายๆถ้ามีคนอพยพไปดวงจันทร์มานานแล้วกลับมาเจอคนบนโลก (หรือเทียบหยาบๆก็อาจเป็นเหมือนชาวยุโรปไปเจอชาวอะบอริจินหรืออินเดียนแดง ตอนนี้เรารู้แล้วเพราะเป็นการมองย้อนกลับไปและในทางสังคมก็มีพัฒนาการหลายๆอย่างมาหลังจากนั้น แต่ตอนนั้นไม่นับว่าคิดร้ายหรือไม่ร้ายก็อาจมีหลายคนยากจะตัดสินว่าเหล่านี้เป็น 'พวกเดียวกัน' กับเรารึเปล่า?) และในภายหลังก็ดูเหมือนความ 'PURE' จะกลายเป็นสิ่งสูงค่าขึ้นมาแทนความ 'PERFECT' (ที่สร้างปัญหา) ซะแทน ตามบริบทความเป็นมาเป็นไปของสังคม (ที่ไม่ได้แปลว่าทั่วโลก - แต่ก็เกี่ยวกับบริบทนอกสังคมนั้นด้วย) ใน(หนังใน)ขณะนั้นด้วย ซึ่งก็นุงนังดี (คนที่อ่านมาถึงนี่บอก เออ ก็ว่า เพราะอีคนเขียนนี่แหละ... - -)

สรุปว่า สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่ามันก็สนุกดีก็เป็นเรื่องพวกนี้ เพราะงั้นสำหรับตัวเองแล้ว เลยกลายเป็นว่าภาคก่อน คือ INSURGENT รู้สึกว่าเรื่องที่เล่ามันหลบห่างจากเรื่องนี้ไป กลายไปเป็นการมุ่งตามหาอะไรบางอย่างเป็นหลักแทนก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ค่อยสนุกนัก แม้ว่ามันจะมีเอฟเฟ็คท์หลายอย่างที่ก็น่าตื่นตาดี (แต่อยู่ในยุคคอมพิวเตอร์เนรมิตแบบนี้แล้วมันก็เลยไม่โดดเด่นนัก) และประเด็นของการต่อสู้กับตัวเองก็อาจจะน่าสนใจดี แต่ก็ดันเป็นประเด็นที่ตัวเองดันไม่สนใจเท่าไหร่ (แป่ว) คือ รู้สึกสนใจประเด็นพวกนี้ที่เริ่มไว้ในภาคแรกมากกว่า (แม้...อ่านจากที่เขียนอาจรู้สึกว่า นี่เอ็งมโนไปไกลจนได้มาตั้งหลายบรรทัด แม้ไม่ได้พูดถึงเนื้อเรื่องในหนังจริงๆเลยก็ตาม นี่มันเกี่ยวกันจริงไหม?? น่ะนะ... - - ) แต่เอาจริงๆดูมา 3 ภาคแล้วก็คิดว่าการเล่าเรื่องของมันก็ยังอยู่ในมาตรฐานเดิมอยู่ คือดูเอาพอสนุกพอเพลินได้ แต่มันไม่มีทีเด็ดทีขาดมาก ทั้งการเล่าเรื่องหรือตัวละคร แถมบางอย่างยังแบนๆง่ายๆไปซะ (รึช่วงกดดัน ระทึก บางช่วงก็อาจยังไม่เท่าชุด MAZE RUNNER) เลยทำให้รู้สึกว่าการใช้ประโยชน์จากตัวเรื่องหรือตัวละครของมัน (ที่จริงๆหลายอย่างก็คิดว่ามีดีพอตัว - รวมถึงนักแสดงด้วย) ไม่ได้ดึงศักยภาพออกมามากเท่าที่ควร ซึ่งจะว่าน่าเสียดายก็น่าเสียดาย แต่ก็อย่างที่บอก เนื่องจากยังสนุกกับเรื่องพวกนี้ (และก็ยังขี้เกียจหาฉบับนิยายมาอ่าน... - -) ก็เลยยังดูได้เพลินๆ พอคิดว่าจริงๆภาคนี้มันก็คืบอะไรๆไปต่อจากภาคแรกแล้ว แม้ไม่มีตัวละครที่ติดใจเป็นพิเศษก็ยังดูได้เพลินๆอยู่ ดีไซน์โน่นนี่แม้ไม่คิดว่าโดดเด่นมาก แต่ก็ใช้ได้ ไม่ได้คิดว่าเลวร้ายอะไร

เพราะงั้น ขณะที่ HUNGER GAME นั้นลอยลำนำขบวน นิยาย YA ไซไฟดิสโทเปิยขึ้นจอไปเรียบร้อย และทำได้ดีจนคนอื่นตามไม่ค่อยไหวในภาคแรกๆ ภาคท้ายที่เป็นภาคจบกลับรู้สึกมันเฉยๆชาๆไปซะงั้น 
ขณะที่หนังอย่าง MAZE RUNNER ภาคแรก เล่นกับ 'ความไม่รู้' และการเล่นกับ 'ที่คุมขัง' เป็นแกนหลัก ทำให้มันดูจะได้รสชาติที่แตกต่างไปพอสมควรเหมือนกัน พอภาคต่อแกนพวกนี้ดูจะเจือจางไปก็เลยทำให้ความเด่นน้อยลงไป (แต่จริงๆคิดว่าภาคต่อก็ยังดูได้สนุกดีครับ - เป็นคนไม่เรื่องมาก - -) ส่วน ALLEGIANT ที่เป็นภาคที่สามในชุดซีรี่ส์ DIVERGENT มาในช่วงนี้แม้จะทำให้มันดูคล้ายๆกันไปกับซีรี่ส์อื่นเขายังไงๆอยู่อย่างที่ว่า แต่สำหรับตัวเอง เรื่อง STEREOTYPE ที่เริ่มไว้ในภาคแรก พอมาในภาคนี้ที่ดูจะนำเรื่องไปต่อได้ และลามไปพูดถึงเรื่องของความ PERFECT หรือความ PURE อย่างที่ว่า ก็เลยคิดว่า เออ มันก็ยังสนุกดี เพราะงั้นก็ยังตามดูได้ ไม่ได้ยี้อะไร แม้ว่าองค์ประกอบที่เหลือของมันจะขาดๆไปหลายอย่าง แต่ก็คิดว่าดูได้เพลินๆ น้องเชลีน (รวมถึงนักแสดงทั้งสายแข็งและไม่แข็งคนอื่นๆ) คงไม่ได้เครดิตอะไรดีเด่นอะไรนักจากเรื่องนี้ แต่น้องก็เป็นตัวเอกแหละนะ และผมก็โอเคนะ 7.4 คะแนน ตามดูได้ เพลินๆ 

จะยังไงซีรี่ส์นี้ก็ยังดูจะพอถูไถไปต่อได้มากกว่าหนัง YA ไซไฟดิสโทเปียของน้องโคลอี้แหละนะ ( T T - นี่เอ็งตามดูหนังแต่ละเรื่องนี่เพราะอะไร้แน่?! ยืนยันว่าไม่ไหวก็เลิกดูจริงๆ เคยดูหนังที่มีน้องโคลอี้แต่แทบหลับ (หรือหลับไปแล้วก็จำไม่ได้แน่ชัด) ก็มีนะเฮ้ย - ไม่ได้อวด...) แต่ซีรี่ส์ DIVERGENT ภาคล่านี้ ดูรายรับเปิดตัวในอเมกาแล้วก็อาการน่าเป็นห่วงอยู่ แต่คิดว่ามาขนาดนี้เขาก็คงไม่แคนเซิลภาคสี่ละมังนะ?...  จะว่าคนดูเขาเริ่มแอนตี้นิยายเล่มท้ายแบ่งครึ่งเล่มมาขึ้นจอก็เป็นไปได้มัง...


นึกถึง
ที่บอกไม่ได้ตามแค่น้อง เชลีน วูดลีย์ นี่ บางที่เห็นรู้สึกน้องก็กระแสไม่ดีเท่าไหร่ แหง่ว... เด๋วบางคนจะหาว่าเล่นมุก แม้จะไม่รู้สึกว่าน้องมีพลัง(มาปล่อย)มากเท่า เจน ลอว์ แต่เรื่องที่น้องได้ น้องก็ได้จริงๆ ถ้าต้องแนะนำไว้ซักหน่อยตรงนี้ก็

THE FAULT IN OUR STARS สร้างจากนิยายวัยรุ่นของ จอห์น กรีน โดยผู้กำกับ โจช บูนน์ เป็นเรื่องของวัยรุ่นที่ชีวิตย่างเข้าวัยด้วยความไม่สวยสดจากโรคร้ายที่เกิดกับตัว กำลังใจหรือความเข้มแข็งอาจจะหาได้จากคนที่เข้าใจสิ่งที่เผชิญ...ด้วยกัน

แม้หนังจะมีเรื่องราวๆหนักๆและส่วนของดราม่า แต่ก็ถ่ายทอดออกมาแบบตั้งใจให้มีด้านสวยงามผสมอยู่มากกว่า และแม้เรื่องราวจะถ่ายทอดออกมาด้วยสายตาสดใสมากกว่ามืดหม่น มันก็ยังมีความขมปนอยู่ เชลีน วูดลีย์ ถ่ายทอดการแสดงและอารมณ์ผ่านตัวละครของเธอได้ดีทีเดียว

(และดารานำคู่กับเธอ จริงๆก็มีบทบาทในซีรี่ส์ DIVERGENT มาแต่ภาคแรกด้วยแหละ ถ้าติดภาพมากอาจต้องปรับอารมณ์กันนิดนึง)

กับ THE DESCENDANTS หนังกำกับโดย อเล็กซานเดอร์ เพนน์ ผู้กำกับ SIDEWAYS อีกหนึ่งหนังตลก(? - ก็ตลกแหละ...นะ...) ในดวงใจ ซึ่งแม้จะพะว่าเป็นดราม่าที่มีส่วนผสมของคอมเมดี้ ซึ่งจะว่ามีก็มีจริง แต่เรื่องจริงๆมีความรู้สึกหม่นผสมอยู่เยอะเหมือนกันในการถ่ายทอด ตามแบบของหนังผู้กำกับ อเล็กซานเดอร์ เพนน์ น่าจะมากกว่าเรื่องด้านบนซะอีก กระนั้นก็ถือเป็นหนังคุณภาพ (คือไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร) ที่อยากแนะนำให้ลองหามาดูกัน มี จอร์จ คลูนี่ย์ แสดงนำ ซึ่งคิดว่าเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่เหมาะกับแกมากอย่างบอกไม่ถูก (คิอคิดว่าแกแสดงแล้วดีว่างั้นเถอะ)

จำ เชลีน วูดลีย์ ได้มาตั้งแต่เรื่องนี้

ส่วนหนังนิยาย YA ไซไฟดิสโทเปีย ข้ามไปละกันนะ เอาเท่านี้แหละ

แถม : ไปเห็นโปสเตอร์ชุดที่คงใช้ร่วมในการโปรโมทภาคนี้มาตอนหาโน่นนี่ เลยเอามาแปะแทนโปสเตอร์หลักๆของหนังซะเลย โปสเตอร์ชุดนี้ไม่ค่อยเห็นมีโปรโมทมาก เคยเห็นแค่ของทริสที่เอามาแปะนี่แหละ (ก็มันเยอะนะ เปลืองที่ติด...) แต่จริงๆก็ดูเข้ากับธีมภาคนี้ดี กดไปดูเพลินๆละกัน





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น