นิโคลัส วีนดิ้ง เรฟีน เป็นผู้กำกับชาว เดนมาร์ก ที่เปล่งประกายให้หนังที่เขากำกับด้วยการมีรูปลักษณ์และสไตลส์เฉพาะตัว และแม้เรื่องราวของหนังในการกำกับของ นิโคลัส วีนดิ้ง เรฟีน ถ้าเล่าออกมาแล้วอาจจะดูไม่ได้แปลกแตกต่างมากมาย แต่เมื่อได้สัมผัสกับ 'ความเฉพาะตัว' ทั้งเรื่องของการออกแบบ หรือข้าวของในหนัง อย่างเช่น แจ๊กเกตแมงป่อง ของ ไรอัน กอสลิ่ง ใน Drive แสงไฟ ลายบนฝาผนัง ฯลฯ หรือการเล่าเรื่อง การเคลื่อนกล้อง ฯลฯ ว่าไปแล้ว สไตล์ของ นิโคลัส วีนดิ้ง เรฟีน อาจมีความชัดเจนกว่าปูมของคาแรคเตอร์หรือเรื่องราวของตัวหนังเองจริงๆซะอีก แต่นั้นก็เป็นการเพิ่มรสชาติให้เรื่องราวจนความเฉพาะตัวนี้สามารถทำให้หนังอย่าง Drive มีทั้งบรรยากาศของความลึกลับ ความหลอกหลอน ความรุนแรง ความนุ่มนวล กระทั่งความแมน เจือด้วยความวาบหวามกระทั่งความร้อนแรงไปพร้อมๆกัน ทั้งๆที่เราเองก็ไม่ได้รู้จักเรื่องราวของตัวละครมากเท่าไหร่ แต่เราก็ยังสัมผัสกับตัวละครและกลิ่นของเรื่องราวได้จากความจัดจ้าน(แม้ดูนิ่งเนิบและนุ่มนวล) ด้วยความเฉพาะทางด้านสไตล์ของ นิโคลัส วีนดิ้ง เรฟีน นี่เอง กระทั่ง Only God Forgive ที่ถ่ายทำในประเทศไทย และมีนักแสดงไทย อย่าง รฐา โพธิ์งาม และ วิทยา ปานศรีงาม (แม้เขาจะดังในต่างประเทศมากกว่า - แสดงใน The Hangover Part II ด้วย) และนักแสดงไทยในอีกหลายบท ร่วมแสดงในเรื่อง สไตล์ของเขาก็ยังคงเติมรสชาติและความลึกของรสชาติให้กับหนังและตัวละครได้อย่างน่าสนใจ ทั้งยังคงความ 'แมน' และสร้างบรรยากาศ จังหวะ และความรู้สึกเฉพาะตัวให้แก่หนังเอาไว้ด้วย
ซึ่งจากการผ่านตาหนังทั้ง 2 เรื่องของเขาที่กล่าวมา ก็ทำให้ผมอยากจะไปลองหาผลงานกำกับเรื่องก่อนๆของเขาก่อนจะมาร่วมงานในฮอลลีวู้ด อย่าง Pusher หรือ Bronson มาดูซักทีทีเดียว แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่ได้หามาดูเสียที...
มาใน Neon Demon นิโคลัส วีนดิ้ง เรฟีน ร่วมงานกับนักแสดงอย่าง แอล แฟนนิ่ง เพื่อเล่าเรื่องราวเบื้องหลังวงการเดินแบบ ผ่านการเข้าสู่วงการในเมืองใหญ่จากเมืองห่างไกลแสงสีของวงการ และเลือกเอารูปโฉมซึ่งเป็นสมบัติติดตัวของเธอ มาเป็นตั๋วผ่านเข้าไปท่ามกลางแสงไฟ เพื่อแลกกับการดำรงชีวิต โลกที่เธออาจยังไม่รู้จักดีพอ ท่ามกลางคนที่เธอไม่เคยรู้จัก... ท่ามกลางความปรารถนามากมายที่เธอไม่เคยได้ลองลิ้มรส...
กล่าวอย่างไม่เยิ่นเย้อ นิโคลัส วินดิ้ง เรฟิน ยังคงนำมาเอา 'บรรยากาศเฉพาะตัว' และ 'สไตล์' มาใส่ลงในหนังเล่าเรื่องราวเบื้องหลังวงการนางแบบได้อย่างน่าสนใจ ทั้งยังสร้างบรรยากาศของความลึกลับ หวาดระแวง อารมณ์ที่คุกรุ่นอยู่ภายใน ผ่านทั้ง จังหวะ การเล่าเรื่อง และ แสงสี ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสร้างความหลอกหลอนเคลียไปกับเรื่องราวของหนังด้วย
นักแสดงในเรื่องยังให้การแสดงที่สอดคล้องไปกับบรรยากาศของหนัง และตัวละครหลายตัวยังสร้างบรรยากาศเฉพาะตัวออกมาได้อย่างน่าสนใจ แอล แฟนนิ่ง ถือว่าน่าพอใจ ในบทที่ต้องการรูปโฉม และเธอก็มีเรื่องราวและการแสดงที่ผสมทั้ง ความสวย ความอ่อนเยาว์ไร้เดียงสา ความอ่อนต่อโลก แต่ก็มีอะไรที่เหมือนความผยอง ความร้ายกาจบางอย่าง ขณะเดียวกันก็ดูอ่อนแอ อยู่ด้วย
ขณะที่ตัวละครอื่นๆ ก็มีบุคลิก ความดี ความอ่อนแอ และความร้ายกาจ ผสมปนเปกันไป ซึ่งการคุมโทนของ นิโคลัส วินดิ้ง เรฟิน ก็ไม่ได้ปล่อยให้ความร้ายกาจเหล่านี้มาปะทะกันตรงๆ แต่ค่อยๆสร้างขณะเวลา สถานการณ์ และความอึดอัด ที่ค่อยๆเพิ่มขึ้น และหลายๆตัวละครก็มีความน่ากลัวร้ายกาจของตัวเอง และในหลายฉากหนังก็สร้างความน่าหวาดผวาให้ผู้ชม อย่างเช่น ฉากในห้องน้ำ หรือ ฉากในห้องแต่งศพ จนสิ่งที่อยู่เบื้องใต้ค่อยๆเผยปะทุออกมาในท้ายที่สุด
ฝ่ายตัวละครชาย แม้จะดูมีบทน้อยและไม่ชัดเจนนัก (ซึ่งว่าไปก็ดูจะมีบรรยากาศต่างไปจากหนัง 2 เรื่องก่อนหน้าของ เรฟิน เหมือนกัน) แต่แม้จะดูน้อยและมีบทบาทรองตัวละครหญิง แต่ตัวละครชายในเรื่องนี้ก็ดูมีตำแหน่งการจัดวางและสถานะอำนาจที่น่าสนใจดี (คีนู รีฟ ก็เล่นได้ดีทีเดียว) ในส่วนนี้ก็น่าสนใจดีทีเดียวแต่มันก็ไม่ได้ดูเป็นน้ำหนักของเรื่องชัดนัก
อย่างไรก็ดู ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า แม้มันจะมีหลายอย่างที่ฉูดฉาด และมีตัวละคร พัฒนาการของตัวละคร ตำแหน่งของตัวละคร และการปะทะกันของตัวละครที่น่าสนใจ ทั้งยังมีทั้งภาพ และบรรยากาศเฉพาะตัว ที่สร้างทั้งความสวย และหลอกหลอน ให้กับหนัง แต่โดยรวมแล้วเรื่องราวของหนังเองก็ดูไม่ได้พามันไปไกลกว่าเรื่องราวที่เราจะคาดเดาได้ หรือคุ้นเคย มากซักเท่าไหร่นัก?
คือเราไม่ได้รับความรู้สึกประหลาดใจ จาก The Neon Demon นัก แม้ว่าหลายๆเหตุการณ์จะพาผู้ชมอย่างเราไปสู่ความน่าหวาดผวา ลึกลับ งุนงง และหลอนหลอก ได้เป็นอย่างดีก็ตาม ต่างไปจากการที่เรารู้จักตัวละครใน Drive หรือจะกระทั่ง Only God Forgive ที่เราเองก็ไม่ได้รู้จักตัวละครมากนัก แต่มันก็สร้างความรู้สึกแปลกใจให้กับตัวเรื่องและตัวละคร และอีกด้านก็ทำให้เราอยากติดตามตัวละครไปแม้ว่าไม่รู้เรื่องราวของพวกเขานัก
ซึ่งก็อาจเป็นเพราะหนังต้องการนำเสนอ ความรู้สึก ที่ต่างกันก็ได้ จึงเลือกเสนอผ่านเรื่องราวแบบนี้ ตัวละครใน The Neon Demon จึงไม่เชิงอยากให้เราทำความรู้จัก เอาใจช่วย หรืออยากติดตาม อย่างชัดๆ แม้ว่าจะสร้างลักษณะเฉพาะให้ตัวละครอย่างได้ผลก็ตาม ตัวละครส่วนใหญ่จึงน่าจะทำให้เรารู้สึกหวาดระแวง มากกว่าจะน่าติดตามไปโดยไม่ต้องรู้อะไรนักก็ได้เหมือนอย่างตัวละครใน Drive แม้ตัวละครจะสร้างความลึกลับได้เหมือนกันก็ตาม
แต่ขณะเดียวกันตัวละครเหล่านี้ก็อยู่ใน 'ฟอร์ม' ที่ดูปกติธรรมดามากกว่าด้วย และยังทำให้มันส่งผลให้เราไม่ค่อยพร้อมจะ(ยอม)เชื่อ(และ 'หลง' เชื่อ)พัฒนาการหรือความสัมพันธ์ของตัวละครในบางขณะด้วย แม้จะผ่านกลวิธีการเล่าเรื่อง และบรรยากาศเฉพาะตัว ซึ่งยังทำได้ดี (ถึงดีมาก) ในหลายจังหวะแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ดี ถ้านับว่านี่เป็นความตั้งใจที่จะนำเสนอ ตัวละคร เรื่องราว และบรรยากาศ ที่แตกต่างไปจากงานอย่าง Drive (หรือจะ Only God Forgive) ซึ่งไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เป็นตัวละครที่เราหลงใหล หรือพร้อมจะเอาใจช่วย (หรือก็คืออาจไม่ได้อยากให้มัน'เท่') ก็ถือว่า The Neon Demon ทำในส่วนนั้นได้ เพียงแต่ความน่าตื่นเต้นที่พร่องไปในบุคลิก ตัวละคร และเรื่องราวของ The Neon Demon (และความเนิบนาบในบางขณะ) อาจไม่เพียงพอที่จะเติมเต็มด้วย แสงสีนีออน และ สไตล์ (และความน่าตื่นเต้นจากสิ่งเหล่านี้) อย่างได้ผลเท่ากับที่ นิโคลัส วินดิ้ง เรฟิน เคยทำได้ก็เท่านั้น
อย่างไรก็ดี มันก็ยังเป็นหนังที่มีบรรยากาศเฉพาะตัว ความสวยงาม ความลึกลับ ความหลอกหลอน และความร้ายกาจ ที่น่าสนใจที่จะดู
แม้ว่าในครั้งนี้รสชาติของสไตล์และเรื่องราวรวมทั้งตัวละครของหนังอาจไม่ผสมรวมกันกลมกล่อมและเขย่าความรู้สึก จนทำให้เราสัมผัสกับความพิเศษและน่าตื่นเต้นได้เท่ากับหนังอย่าง Drive หรือ Only God Forgive การพยายามปรุงอาหารจานที่แตกต่างด้วยสไตล์ของตัวเองในครั้งนี้แม้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจหรือกล่มกล่อมได้เท่ากับอาหารจานที่เคยลิ้มลองมาก่อน แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่น่าดึงดูดหรือไม่อร่อย มันยังมีรสชาติเฉพาะตัวและความน่าสนใจที่น่าลิ้มลองให้ได้สัมผัสกัน และเรื่องราวบางส่วนก็ดูน่าค้นหาน่าสนใจมากกว่าเรื่องราวและความรู้สึกโดยรวมที่ได้จากหนังตรงๆซะอีก? 8.0 คะแนน
ส่วนใครไม่เคยดูงานกำกับของ นิโคลัสฯ ลองหาดู Drive กันดูครับ
และผมก็ยังอยากจะลองหาผลงานเรื่องก่อนของเขาอย่าง Pusher หรือ Bronson มาดูอยู่ดี
หรือ...
นิโคลัสจะพยายามโยงเรื่องราวของวังวนแห่งความน่าสะพรึงกลัวนี้ไปเป็นผลที่เกิดมาจาก โครงสร้างอำนาจภายใต้ความ 'แมน' ซึ่งทำให้มันมีท่าทีแตกต่างไปจากหนัง 2 เรื่องก่อนที่ผสมเอาความ 'แมน' ไว้ในต่างมุมมองและความรู้สึกจากนี้กันนะ?!... มองแบบนี้ก็น่าสนใจดีเหมือนกัน?...
ไว้ถ้ามีโอกาส(ว่างเขียน - อืม...) ...จะมาเขียนเพิ่มไว้ละกันนะ...
แบบยาวๆ
เหมือนไม่มีอะไรนัก... แต่ก็... เขียนยาวอีกแล้ว... เฮ้อ...
นึกถึง
ความจริงตอนดู แอล แฟนนิ่ง แสดงในเรื่องนี้ก็คิดว่าเธอมาไกลมากอย่างน่าสนใจเหมือนกันในฐานะนักแสดง พลันก็นึกถึง ดาโกต้า แฟนนิ่ง ที่มาไกลมาก่อน แต่ตอนนี้สถานะน่าจะแตกต่างจาก แอล พอควรเหมือนกัน ก็เลยนึกถึงหนังของ ดาโกต้า แฟนนิ่ง ขึ้นมา แต่คิดไปคิดมาดูๆจังหวะก็อาจไม่เหมาะนัก (เอาจริงๆก็ไม่ได้เป็นถึงขั้นแฟนๆที่ติดตามหนังของเธออย่างเหนียวแน่นด้วย) เอาไว้มีโอกาสน่าจะได้เขียนถึงละกันครับ
อีกเรื่องที่นึกไปถึง คือ นึกถึงหนังอย่าง Lost River ซึ่งเป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของ นักแสดงอย่าง ไรอัน กอสลิ่ง (ที่มี คริสติน่า เฮนดริกซ์ แสดงนำด้วย ซึ่งเธอก็แสดงใน The Neon Demon ด้วยครับ) ที่รู้สึกว่ามีบางอย่างคล้ายคลึงกันทีเดียว รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้นำด้วยบรรยากาศเฉพาะตัว และสไตล์ เหมือนกัน ซึ่งทำให้โครงเรื่องที่คิดว่าดูไม่พิสดารอะไรนัก ดูน่าสนใจขึ้นมาและน่าตื่นตา และน่าตื่นเต้น เพราะบรรยากาศเฉพาะตัว ซึ่งแม้เป็นงานกำกับเรื่องแรก ไรอัน กอสลิ่ง ก็มีการกำกับ และสร้างบรรยากาศที่ว่าได้อย่างน่าสนใจทีเดียว เป็นงานที่ค่อนข้างชอบเรื่องนึงเลย ถ้าไม่นับการตีความอะไรต่ออะไรไปทีหลัง นับเฉพาะตอนที่ดู คือ อาจจะชอบ Lost River มากกว่า The Neon Demon ด้วยมัง?... (ดูมานานพอประมาณแล้ว จำไม่ได้ถนัด - เรื่องนี้ก็มาฉายในไทยนะ และมี DVD ออกมาด้วย)
ใครเป็นแฟนๆ ไรอัน กอสลิ่ง โดยเฉพาะรู้จักเขาจาก Drive เชียร์ให้ลองหางานกำกับเรื่องนี้ของเขามาดู (แม้มันจะไม่เน้น เท่ อย่าง Drive ก็เถอนะ บอกไว้ก่อน แต่มันก็ เท่ดี ในแบบของมันนะ) กันครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น