วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559

[ภาพยนตร์] SULLY ซัลลี่ ปาฏิหาริย์ที่แม่น้ำฮัดสัน : ราคาของฮีโร่...



แบบสั้นๆ
ปาฏิหาริย์ที่แม่น้ำฮัดสัน เป็นวีรกรรมของกัปตัน ซัลลี่ ของสายการบินเดลต้า ที่ตัดสินใจครั้งสำคัญหลังจากเครื่องบินทะยานขึ้นได้ไม่นานแล้วเกิดอุบัติเหตุให้เครื่องยนต์ของปีกทั้ง 2 ข้างมีปัญหา กัปตันต้องตัดสินใจว่าจะหลีกเลี่ยงอันตรายและหายนะที่จะเกิดได้อย่างไร จะย้อนกลับไปยังสนามบินที่บินขึ้น หรือเปลี่ยนเส้นทางไปยังที่ที่พอจะลงจอดได้ และการตัดสินใจของกัปตันที่อาจไม่ใช่คำตอบที่หลายคนคาดคิดก็คือ... แม่น้ำฮัดสัน

ทีแรกที่ดูตัวอย่างหนัง Sully อาจมีหลายคนนึกไปถึงหนังอย่าง Flight ของ ผกก.โรเบิร์ต เซเมกคิส ที่มีเดนเซล วอชิงตัน นำแสดง

ส่วนใน Sully เป็นการมาร่วมงานกันของ ผกก. คลินท์ อีสท์วู๊ด และนักแสดงอย่าง ทอม แฮงค์

สำหรับผู้กำกับ เอาจริงๆ ผมค่อนข้างทึ่งและนับถือ ผกก. คลินท์ อีสท์วู๊ด เพราะกระทั่งด้วยวัยเกิน 80 แกยังคงทำหนังออกมาอย่างต่อเนื่อง (ผกก.รุ่นเก๋าคนอื่นๆก็ยังมีอีกหลายคน เช่น วูดดี้ อัลเลน ที่เพิ่งมี Cafe Society ฉายไปไม่นาน) แถมหนังแต่ละเรื่องที่แกทำนี่ก็เต็มไปด้วยเอเนอจี้ ยังคงมีความเข้มข้น และมีความมั่นอกมั่นใจในการนำเสนอ ทั้งหลายๆเรื่องยังเล่นกับสเปชี่ยลเอ็ฟเฟ็กท์อีก เรียกว่ากระทั่งผู้กำกับหนุ่มๆอาจจะดูไม่ พลัง ได้เท่า ผกก. คลินท์ อีสท์วู๊ด ก็ได้

ส่วน ทอม แฮงค์ ยังคงแสดงได้ดีสมมาตรฐาน แม้ว่าบทอาจไม่ดูผ่อนคลายหรือน่าสนุกอย่างใน A Hologram for the King แต่ ทอม แฮงค์ ก็แสดงได้อย่างเข้มข้นในเรื่องนี้ ให้ภาพนักบินมากประสบการณ์ได้น่าเชื่อถือดีทีเดียว ทั้งยังถ่ายทอดอารมณ์ในหลายๆช่วงออกมาได้ดีด้วย ถือว่าการแคส ทอม แฮงค์ มาเป็นซัลลี่ในเรื่องเป็นคำตอบที่ดีมากคำตอบนึงเลย

แม้จะคล้ายกับ Flight แต่ประเด็นที่หนังดูจะมุ่งเน้นนั้นก็ดูจะต่างกัน และที่ต่างกันอีกประการคือเรื่องราวในแม่น้ำฮัดสันนั้นสร้างจากเรื่องจริง

และเรื่องราวที่เป็นเรื่องจริงก็ดูจะไม่ใช่แค่เรื่องของปาฏิหาริย์

ในที่นี้  ผกก. คลินท์ อีสท์วู๊ด ร้อยเรียงเหตุการณ์และเล่าเรื่องได้เข้มข้น การลำดับเหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆมาจนถึงตอนท้ายของเรื่องมีทั้งความเข้มข้น สะเทืิอนอารมณ์ ทั้งฉากระทึกที่เกี่ยวกับเครื่องบินก็คุมจังหวะ และนำเสนอภาพได้เป็นอย่างดี รู้สึกถึงทั้งความอันตราย ระทึก การตัดสินใจ ความไม่แน่ใจ และความหวัง ทั้งการแสดง และภาพ ในหลายช่วงสำคัญของหนังนั้นให้ภาพของทั้งความใหญ่โตของสิ่งที่ตาเห็นและความรู้สึก ถือว่าการตัดสินใจไปชมเรื่องนี้แบบจอใหญ่ IMAX (แม้ไม่ใหญ่ที่สุด) นั้นเป็นผลลัพธ์ที่คุ้มค่า

จังหวะของนักแสดงแต่ละคนยังถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างดี มีจังหวะจะโคน มีความเป็นธรรมชาติ ผ่อนคลาย และเข้มข้น ในหลายๆบทบาทแม้ไม่ใช่บทเด่นอย่างซัลลี่ นักแสดงหลายคนก็ให้การแสดงที่ดีมาก โดยเฉพาะในบทและช่วงเวลาที่บีบคั้นความรู้สึก และนักแสดงอย่าง แอรอน แอ็คฮาร์ต ก็ให้การแสดงที่เข้าคู่กับทั้ง ทอม แฮงค์ อารมณ์ของหนัง และเรืองราว ได้ดีมาก

แม้จะเล่าเรื่องในคนละมุมกับ Flight แต่ด้านนึงอาจจะถือว่าเป็นมุมกลับของ Flight ก็เป็นได้

คุณสมบัติใดที่ทำให้คนๆหนึ่งกลายเป็นฮีโร่?

ในคอมมิค ฮีโร่ ยังอาจถูกตั้งคำถามถึงการเป็นฮีโร่ อย่างที่ได้เห็นกันไปในทั้ง BvS และ Civil War

แต่ในชีวิตจริงคุณสมบัติที่ทำให้คุณเป็นฮีโร่อาจถูกตั้งคำถามง่ายกว่านั้นมาก

ซัลลี่ก็เช่นกัน แม้ว่าสิ่งที่เขาทำจะดูเป็น ปาฏิหาริย์ และการที่ สื่อ นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ในแนวทางนั้น ก็ทำให้เขาอยู่ในสถานะของ ฮีโร่ แต่เรื่องราวก็ไม่ได้จบลงแค่นั้น

ในเมื่อความจริงแล้วหลายอย่างก็มีราคาที่ต้องจ่าย และการสอบสวนก็เป็นเรื่องราวที่เลี่ยงไม่ได้ จากสถานะของฮีโร่ ซัลลี่จึงกลายไปอยู่ในสถานะของ ผู้ต้องสงสัย ที่ต้องตอบความกระจ่างให้กับการสืบสวน

และเมื่อ สื่อ ส่งสารเรื่องนี้ออกไป ความสงสัยนี้ก็จะมีโอกาสกระจายไปอยู่ในความสนใจของผู้ชมได้มากพอๆกับเรื่องราวของ ฮีโร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีทีท่่าว่าเรื่องราวอาจมีอะไรซ่อนอยู่ก็ได้ การนำเสนอหัวข้อเหล่านี้ได้ฉับพลันเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะดู เหมาะสม เท่านั้น

ความจริงแล้วเรื่องเหล่านี้ล้วนมีสองด้าน (เป็นอย่างน้อย) สื่อควรนำเสนอข่าวสาร ทันเหตุการณ์ นำเสนอความยินดีเมื่อมีเรื่องน่ายินดี ชื่นชมเรื่องที่ควรชื่นชม และเมื่อมีเรื่องน่าเคลือบแคลงก็ควรบอกให้ผู้คนทราบว่ามเรื่องน่าเคลือบแคลง สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นทั้งจรรยาบรรณและสิ่งที่คนทั่วไปคาดหวังจากสื่อ และหลายๆครั้งการทำงานของสื่อก็เขย่าให้เกิดผลกระทบอย่างที่เห็นกัน เช่นเรื่องราวที่เสนอในหนังอย่าง Spotlight แต่บางครั้งก็บอกยากว่าการพยายามนำเสนอให้ เร็ว มี เอกลักษณ์ นั้น เป็นไปเพื่อการนำเสนอความจริงอย่างฉับไว หรือนำเสนอข้อสงสัยให้ทันการณ์ หรือเป็นเพื่อจับความสนใจ กันแน่? (หรืออาจจะทั้งสองอย่าง) เมื่อมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้นการขุดคุ้ยหาความจริงก็น่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมกว่าการไม่ต้องรู้อะไรเลย ฉะนั้นการตั้งคำถามให้มากน่าจะดีกว่าการปล่อยผ่าน แต่การจะพิสูจน์คำตอบนั้นควรจะทำแค่ไหน? เทคนิคหรือเครื่องมืออะไรที่ควรจะนำมาใช้พิสูจน์? โดยเฉพาะเมื่ออาจต้องรับมือกับเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้หลายแขนงและต้องรับมือกับความคลุมเครือ อย่างไรก็ตามบางครั้งเราก็ต้องตอบให้ได้ว่าการหาคำตอบนี้เป็นเรื่องของ ผลประโยชน์ใด หรือเพียงการหาความจริง (ซึ่งล้วนมีต้นทุน) เท่านั้น?

และสำหรับซัลลี่ การมีประสบการณ์มายาวนาน สัญชาตญาณ และการตัดสินใจฉับพลัน ทำให้เขาได้คำตอบที่ราวกับปาฏิหาริย์ การตัดสินใจนั้นไม่ง่าย แต่เรื่องที่ตามมาก็ยิ่งไม่ง่าย เมื่อต่้องเผชิญกับ คำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทั่งคำถามที่ตัวเองก็ยังไม่แน่ใจว่าเข้าใจได้หมดจด เมื่อเรื่องทั้งหมดผ่านการตัดสินใจภายในไม่กี่นาที กระทั่งทำให้สงสัยการตัดสินใจของตัวเอง... เมื่อต้องเป็นฮีโร่ และการเป็นฮีโร่นำไปสู่เรื่องที่ต้องถูกตรวจสอบ...

ในโลกที่ทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ซึ่งไม่อาจสมบูรณ์แบบด้วยกันทั้งนั้น...

คำถามว่า จุดพอดี อยู่ตรงไหน จึงมีมาเสมอ และอาจไม่มีวันจบ รวมถึงไม่อาจมีคำตอบต่อทุกๆสถานการณ์...

แต่สิ่งที่ซัลลี่แสดงให้เห็นคือ แม้เขาจะจิตใจดีพอจะสงสัยกระทั่งการตัดสินใจของตัวเองว่าเป็นคำตอบที่ดีที่สุดหรือไม่? แต่ที่สุดคือการที่เขา ไม่ยอมแพ้ ณ จุดหนึ่งถ้าซัลลี่สงสัยตัวเองมากพอและได้รับความกดดันมากจนพ่ายแพ้ต่อความกดดันนั้น หลายๆอย่างก็จะอัปปางลงทั้งที่ไม่ควรอัปปาง

ความจริงหลายอย่างจะไม่ได้รับการตอกย้ำ ไม่ได้รับการอธิบาย และอาจไม่มีใครได้เรียนรู้อะไรจากมันจริงๆเลย  และชีวิตของซัลลี่ก็อาจไม่ได้มีบทสรุปอย่างที่เป็นอยู่ ถ้าซัลลี่ยอมแพ้ ไม่สุขุมมากพอ ที่จะครุ่นคิดถึงวิธีพิสูจน์ความจริงออกมาให้ได้  ซึ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แม้อาจจะดูไม่เป็นปาฏิหาริย์เท่าเหตุการณ์ที่แม่น้ำฮัดสัน แต่มันก็ยังต้องอาศัยประสบการณ์และการตัดสินใจที่เข้มแข็งไม่ต่างกัน และ...ซัลลี่ก็เผชิญและผ่านมันมา ทั้งสองอย่าง

คงเป็นเรื่องยากที่จะไม่ให้เราเอาใจช่วยซัลลี่ และ คลินท์ อีสวู๊ดท์ ก็กำกับเรื่องราวและจังหวะจะโคนเหล่านี้ได้ดีจริงๆ ทั้งๆที่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะโดน บิ๊วด์ จนเกินงาม มันจึงยิ่งทำให้เรารับสัมผัสความรู้สึกเหล่านี้ได้ดี และ ทอม แฮงค์ ก็ให้หารแสดงที่ดีมาก ทั้งการเป็นกัปตันสูงประสบการณ์ การเผชิญกับการตั้งคำถาม การสั่นคลอน รวมถึงการครุ่นคิด ไม่ยอมแพ้ในท้ายที่สุด แม้อาจมีบางคนบางฝ่ายดูจะให้ภาพของ 'ตัวร้าย' ไปบ้าง แต่พอคิดไปคิดมา ก็เป็นไปได้เหมือนกันที่ ตัวร้าย จะ ร้าย อย่างนั้นได้จริงๆ เพราะเราเองก็คงตอบได้ยากว่าน้ำหนักของการตัดสินใจหรือการสอบสวนนั้นจริงๆอยู่ที่อะไรกันแน่? เพราะหลายอย่างก็มี(อย่างน้อย)2ด้านอย่างที่ว่า อันนี้ใครที่อยากรู้เรื่องราวกว่านี้ก็คงต้องไปหารายละเอียดเพิ่มเติมกันดู เพราะฉะนั้นยามที่ซัลลี่ (ทอม แฮงค์) จะแสดงอารมณ์ของ ในที่สุด หรือ ชัยชนะ ออกมาบ้าง แม้ตอนแรกอาจแอบคิดว่ามันจงใจไปไหมนะ? แต่คิดอีกที ใครที่ตกอยู่ในสถานการณ์อย่างนั้น จะขอแสดงอารมณ์ออกมาเช่นนั้นบ้าง ก็คงโทษกันไม่ได้เลย

นอกจากเรื่องราวที่น่าตั้งคำถามแล้ว อีกอย่างที่เห็นในเรื่องคือ ในชีวิตประจำวันซึ่งเราต้องอาศัย ถ้เชี่ยวชาญ ต่างๆคอยดูแล แม้ถ้าเราไม่ได้พลัดตกไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆจริงๆเราก็อาจหลงลืมไปว่าหลายครั้งมันต้องอาศัยความมีประสิทธิภาพขนาดไหน จึงทำให้เรื่องต่างๆลุล่วงไปได้ ในเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นความน่าประทับใจของ ระบบ ที่ว่า เมื่อแต่ละหนว่ยงานทำงา่นสอดประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ทั้งเจ้าหน้าที่หอบังคับการบินแต่ละแห่ง เจ้าหน้าที่กู้ภัย ทั้งทางเรือ หรือเฮลิคอปเตอร์ เจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบิน ฯลฯ


จากทั้งหมดที่กล่าวมา รวมถึงจงหวะช่วงท้ายของ แอรอน แอ็คฮาร์ต และ เรื่องราวในเครดิตจบ นี่เป็นหนังอีกเรื่องของ ผกก. คลินท์ อีสท์วู๊ด ที่เข้มข้น มีจังหวะจะโคน และน่าประทับใจจริงๆ 8.6 คะแนน
นับถือพลังของปู่คลินท์มากๆครับ


แบบยาวๆ
ไม่แน่ใจแฮะ...


นึกถึง
นอกจาก Flight แล้ว ก็มีภาพยนตร์เกี่ยวกับเครื่องบินที่น่าแนะนำให้ดูกันอยู่เหมือนกันครับ ไว้จะมาเขียนถึงนะ
 
  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น