วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559

13 เกมสยอง : แนะนำ 13 เกม! จากหนัง การ์ตูน และมังงะ

เป็นอะไรที่เคยๆคิดๆไว้ตอนดู Nerve ไป แล้วก็คิดๆไปถึง 13 เกมสยอง ซึ่งดัั้งเดิมเป็นการ์ตูนไทยโดย คุณ เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ ตั้งแต่วิบูลย์กิจยังปั้นไทยคอมมิคอยู่เลย และต่อมากลายเป็นหนังโดยการกำกับของ มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล นำแสดงโดย คุณ น้อย กฤษดา สุโกศล แคลปป์

พอนึกไปถึง 13 เกมสยอง แบบนี้ก็ลองๆนึกต่อดูว่ามันมันโน่นนี่ที่เข้าแก๊บให้นึกถึง 'เกม' อีกไหม? ซึ่งจริงๆก็น่าจะมีเยอะ แต่เราก็พยายามตีกรอบให้มันอยู่ในขอบเขต เพื่อจะได้พ้องกับ '13' 'เกมสยอง' เพื่อจะได้ดูมีธีมหน่อย (แค่เนี่ยอ่ะนะ?!)

ก็เลยมาแนะนำอะไรๆ 'เกม'ๆ ที่พอจะรู้จักกันซัก 13 เกม เผื่อให้ใครที่ดู Nerve แล้วยังอยากหาเกมอื่นๆมาดูบ้างจะได้ไปลองหามาดูมาอ่านกันนะครับ ทีแรกจึงคิดว่าจะพยายามเลือกอะไรที่อยู่ในขอบเขตเกมที่ไม่แฟนตาซีหลุดโลกมาก และให้อยู่ในขอบเขตความสยองหน่อย แต่จริงๆด้วยความที่อยากให้ครบ 13 แล้วพอลองนึกๆดูจริงๆ เราก็ใช่จะรู้จักโน่นนี่มากขนาดนั้นไหม? จะไปลองค้นไปหามาอ่านก่อน กว่าจะครบ 13 ก็อาจถูกดองไปอีกหลายเพลา...

อย่ากระนั้นเลย สุดท้ายเราก็ขอแหกกฎตัวเอง นับ 'เกม' ที่พอผ่านตามา เท่าที่พอจะจำขุดคุ้ยหรือระลึกได้ แล้วขอแนะนำกันไปก่อนเลยดีกว่า ไว้มีอื่นๆอยากแนะอีกก็ค่อยหาเรื่องหาธีมอะไรซักอย่างมาแนะนำอีกก็ได้นี่!

เพราะงั้น เริ่มแนะนำ 13 เกมสยอง กันเลยนะครับ!


เกมที่ 1THE 13th QUIZ SHOW / 13 เกมสยอง


การ์ตูน THE 13th QUIZ SHOW โดยคุณ เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ ถ้าจำไม่ผิดแรกเริ่มลงในไทยคอมมิค ซึ่งก่อนนั้นคุณเอกสิทธิ์ไทยรัตน์เคยส่งการ์ตูนสั้นและได้ลงในไทยคอมมิค ก่อนจะได้มีการ์ตูนยาวลงต่อเนื่องและรวมเล่มในชื่อ โครงการมรณะ (ถือเป็นการ์ตูนไทยในตำนานเรื่องนึง) ด้วย และภายหลังเป็นหนึ่งในการ์ตูนสั้นที่นำมารวมเล่มในชื่อ MY MANIA โดย สนพ. วิบูลย์กิจ ซึ่งในเล่มเป็นการ์ตูนสั้นในสไตล์หักมุมจบ ที่มีไอเดียน่าสนใจ น่าทึ่ง และน่ากลัว รวมอยู่หลายเรื่อง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จทีเดียว มีการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง

เรื่องกล่าวถึงการเข้าสู่เกม โดยมีการติดต่อผ่านมือถือ กำหนดให้ทำโจทย์ไปทีละข้อแลกกับเงินรางวัลที่จะได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นส่วนที่ทำให้นึกถึง Nerve อยู่เหมือนกัน แต่รายละเอียดก็ต่างกันมากอยู่ แม้จะมีส่วนที่อิงเทคโนโลยี ซึ่งมือถือที่แม้ไม่ใช่สมาร์ทโฟน แค่โทรเข้า-ออก รับส่งข้อความ (และมีเกมงูให้เล่น) ได้นี่ ถือเป็นสิ่งจำเป็นและสิ่งที่เปลี่ยนวิถีชีวิตในยุคสมัยนั้นเลยทีเดียว ซึ่งก็น่าสนุกถ้ามาลองคิดว่าเทคโนโลยีทำให้ เกม ก้าวมาได้ไกลขนาดไหน และขอบเขตของมันอาจสามารถขยายไปเป็นอะไรได้บ้าง ด้วยความเป็นการ์ตูนสั้นเรื่องราวและรายละเอียดจึงกระชับมากกว่า แต่มันก็ยังอ่านสนุกไปกับการดำเนินเรื่อง ที่เล่นกับความต้องการของมนุษย์ จนนำไปสู่เรื่องชวนช๊อค
ว่าไปจู่ๆก็นึกถึงเรื่องสั้นของคุณ สรจักร ที่เป็นเรื่องสไตล์หักมุมจบอ่านสนุกเหมือนกันนะครับ

ต่อมาการ์ตูนเรื่องนี้ก็ถูกนำไปสร้างเป็นหนังโดยการกำกับของ มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ซึ่งถ้าจำไม่ผิดก็เป็นหนังยาวในระบบสตูดิโอเรื่องที่ 2 ของเขา ต่อจาก คน ผี ปีศาจ และน่าจะเป็นเสมือนใบเบิกทางให้คุณเอกสิทธิ์ ได้มีส่วนในการนำไอเดียมากลายเป็นหนังอีกหลายเรื่องด้วย ฉบับหนังได้คุณ น้อย กฤษดา นำแสดง ซึ่งก็แสดงได้อย่างยอกเยี่ยม และแม้จะยึดโครงการฉบับการ์ตูนเป็นหลัก แต่ก็มีการขยายและบิดเรื่องราวออกไป จนแม้ว่าจะยังคงอารมณ์หักมุมและความน่ากลัวความช๊อคเอาไว้ แต่แกนบางอย่างของหนังก็ต่างออกไปจากฉบับการ์ตูนด้วย เป็นเกมสยองพันธุ์ไทยที่ชวนลองสำหรับทุกท่านครับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 นี่ก็ราวๆ 10 ปีพอดี
จะได้ลองดูด้วยว่าเทคโนโลยีในชีวิตมันเปลี่ยนไปขนาดไหน!

แนะนำทั้งฉบับการ์ตูน ซึ่งปัจจุบันหาอ่านได้จากรวมเล่มการ์ตูนสั้นในชื่อ MY MANIA เหมือนกัน โดยสำนักพิมพ์ LET'S (ปัจจุบันคุณเอกสิทธิ์ก็เขียนงานลงใน LET'S COMIC) มีออกมา 3 เล่มแล้ว เรื่องนี้จะอยู่ในรวมเล่มแรกซึ่งจะเหมือนกับฉบับที่เคยตีพิมพ์โดยวิบูลย์กิจ แต่เพิ่มการ์ตูนสั้น 2 เรื่อง ซึ่งเป็นผลงานที่เคยได้รับเลือกลงในไทยคอมมิค 2 เรื่องแรกของคุณเอกสิทธิ์ก่อนจะได้เขียนเรื่องยาว โครงการมรณะ ด้วย ซึ่งชอบมาก ส่วนใครชอบงานการ์ตูนสั้นหักมุม ขายไอเดีย ที่มีบรรยากาศน่าผวาผสม ก็ลองอ่าน MY MANIA อีก 2 เล่มได้ แนะนำเหมือนกันครับ

ส่วนฉบับหนังก็เป็นหนังแนะนำเช่นเดียวกัน ทั้งที่เป็นงานกำกับหนังยาวเรื่องที่สอง แต่คุณมะเดี่ยวกำกับหนังออกมาได้สนุกมาก ใครสายสยองแนะนำครับ หนังจะใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า 13 Beloved จำได้ว่าฉบับดีวีดีจะมีหนังสั้นที่เป็น ตอนก่อน ในชื่อ 12 Begin และมีอีกเรื่องที่เป็นเรื่องราวก่อนหน้านั้นด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าดีวีดีที่มีขายปัจจุบันมีไว้ด้วยหรือเปล่า? หนังยังเคยมีการพูดคุยถึงโครงการจะสร้าง 14 ซึ่งน่าจะเป็นตอนต่อด้วย และที่ผ่านมาไม่นาน 13 เกมสยอง ยังถูกซื้อไปรีเมกโดยฮอลลีวู้ด ในชื่อ 13 Sins แต่การตอบรับดูจะเงียบๆไปหน่อย ผมเองก็ยังไม่เคยดู แต่ยังไงก็แนะนำทั้งต้นฉบับการ์ตูนไทย และฉบับหนังไทยไว้ครับ ดูตอนนี้ก็ยังน่าจะสนุก สมกับที่เอาชื่อมาเป็นธีมมากๆ! (แต่เดี๋ยวไอคนที่เอาชื่อเขามาเป็นธีมก็จะพาออกทะเล...)


เกมที่ 2 : BATTLE ROYALE เกมนรกโรงเรียนพันธุ์โหด


ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ.2000 กำกับโดย คินจิ ฟุกาซากุ ผู้กำกับมือเก๋าคนนึงของญี่ปุ่น เรื่องราวเป็นโลกอนาคตในญี่ปุ่น แต่เรื่องราวในหนังโฟกัสไปที่เกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งนักเรียนที่ถูกคัดเลือกมาจำนวนหนึ่งจะถูกสวมปลอกคอที่มีลูกเล่นนิดหน่อยให้ระเบิดได้ไว้ แต่ละคนจะต้องหาทางต่อสู้ห้ำหั่นโดยใช้วิธีการ 'อะไรก็ได้' ในเกมเอาชีวิตรอดนี้ เพื่อเหลือรอดไปเป็นคนสุดท้ายให้ได้ หนังมี ทาเคชิ คิตาโน่ แสดงเป็นคุณครูขาโหด และมีนักแสดงอย่าง โค ชิบาซากิ แสดงด้วย ซึ่งต่อมา โค ชิบาซากิ ก็ได้ไปแสดงใน Kill Bill Vol.1 ซึ่งมีตัวเอกใส่ชุดวอร์มสีเหลืองของผู้กำกับ เควนติน ทารันติโน่ ด้วย

หนังมีความรุนแรงค่อนข้างมาก (คุ้นๆว่ากลายเป็นประเด็นในข่าวในสังคมในช่วงนั้นด้วย) และดั้งเดิมก็สร้างมาจากฉบับนิยายโดย โคจุน ทะคะมิ และภายหลังยังถูกตัดแปลงเป็นฉบับมังงะ โดยเจ้าตัวอีกด้วย (จะโหดไปไหน) ซึ่งฉบับการ์ตูนเองก็มีความรุนแรงสูง และอาจมีบางอย่างที่หนักกว่าฉบับหนังซะอีก  

หนังยังมีภาคต่อออกมาในชื่อ BATTLE ROYALE II ด้วย หนังเคยเข้ามาฉายในบ้านเราและออกเป็นดีวีดีทั้ง 2 ภาค ฉบับนิยายคุ้นๆว่าน่าจะมี สนพ.ซักที่แปลออกมาด้วย แต่ไม่เคยอ่าน ส่วนฉบับการ์ตูนเข้าใจว่าน่าจะมีแต่ฉบับไพเรทออกมาในบ้านเรา



เกมที่ 3 : THE GAME


ภาพยนตร์ปี ค.ศ.1997 เรท R ชื่อสั้นๆ ง่ายๆ ตรงประเด็นเหมาะแก่การนำมารวมไว้ในที่นี้มาก ของผู้กำกับจอมเนี๊ยบ เดวิด ฟินเชอร์ (SE7EN, FIGHT CLUB, THE SOCIAL NETWORK, GONE GIRL, ฯลฯ) (เขียนบทโดย John Brancato และ Michael Ferris) เรื่องนี้ จะพาคุณไปพบกับชายคนหนึ่งที่จู่ๆก็พบว่าชีวิตของเขาต้องเข้าไปสู่ เกม อะไรบางอย่าง ที่ทำชีวิตของเขาปั่นป่วน และมันก็ยิ่งดูลุกลาม ยิ่งน่ากลัวขึ้นทุกที โดยที่เขาก็ไม่รู้เลยว่าเพราะอะไรเขาจึงต้องมาอยู่ในเกมนี้ และมันจะนำเขาไปสู่อะไร?!

แม้อาจไม่ใช่ผลงานที่ขึ้นหิ้ง ทั้งความสยอง หรือด้านอื่นๆ อย่าง SE7EN หรือ FIGHT CLUB แต่หนังเรื่องนี้ของฟินเชอร์ก็กดดัน คุกคาม และดูสนุก (ทั้งยังเนี๊ยบในสไตล์ของฟินเชอร์) แม้อาจมีจุดที่ว่ามันอาจสนุกที่สุดเมื่อดูครั้งแรกโดยไม่ต้องรู้เรื่องอะไรก่อนเลย แต่ยังไงซะในครั้งแรกที่ดูหนังก็จะพาทั้งตัวละครและผู้ชมอย่างเราค่อยๆหลงไปในวังวนของเกมได้อย่างน่าระทึก ใครที่เคยดูผลงานหลังๆของฟินเชอร์อย่าง GONE GIRL มาแล้วและชอบ ก็น่าจะลองกลับไปหาผลงานยุคแรกๆของเขาดูบ้าง (ซึ่งหลายๆอย่างที่เป็นสไตล์ของฟินเชอร์ก็ยังคงเหนียวแน่น) และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสนุกๆเรื่องหนึ่งที่น่าจะลองหามาดูกัน



เกมที่ 4 : CUBE



คุณจะรู้สึกอย่างไรเมื่อพบว่าคุณตื่นขึ้นมาแล้วพบตัวเองอยู่กับคนแปลกหน้าจำนวนหนึ่ง
ในห้องทรงลูกบาศก์?... ที่มีประตู 6 หกด้าน

หนังไซไฟแคนาดาในชื่อไทยว่า ลูกบาศก์มรณะ จากผู้กำกับ วินเซนโซ นาตาลี จะพาคุณไปพบกับกลุ่มคนที่ต้องตื่นขึ้นมาเจอสถานการณ์เช่นนั้น พวกเขาจะทำอย่างไรกับสถานการณ์นี้? จะอยู่เฉยๆ หรือจะเลือกเปิดประตูบานใดบานหนึ่ง และการเปิดประตูบางบาน จำต้องพิจารณารหัส ประตูบานที่เปิดออกไปแล้วพบว่า... เปิดไปสู้ห้องลูกบาศก์อีกห้องหนึ่ง พร้อมประตูอีก 6 บาน แต่ทุกห้องไม่เหมือนเดิม บางห้องคุณอาจจะแค่กรีดร้องสิ้นหวังแล้วก้าวลงไปทุบประตูซักบาน
แต่บางห้อง... การจรดเท้าลงพื้นหมายถึงชีวิต

ทำไมพวกเขาจึงต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้?  ทำไมต้องเป็นพวกเขา? ทำไมห้องจึงเป็นลูกบาศก์? พวกเขาจะออกไปจากที่นี่ได้อย่างไร? ใครเป็นคนนำพวกเขามาที่นี่? คนๆนั้นต้องการอะไร?
หรือพวกเขากำลังอยู่ในเกมของใคร?... แล้วจุดประสงค์ของเกมนี้ล่ะ?! คืออะไร?...

หนังปี ค.ศ.1997 นี้ ยังมีภาคต่อตามมาอีก 2 ภาค คือ Cube 2: Hypercube (2002) และ Cube Zero (2004) ซึ่งยังคงคอนเซ็พท์ห้องลูกบาศก์มรณะเอาไว้ แม้หลายเสียงจะบอกตรงกันว่าทั้ง 2 ภาคไม่อาจเทียบภาคแรกได้ (บางคนก็บอกว่าจะสร้างมาทำไม) แต่สำหรับแฟนๆอย่างผมซึ่งไม่ได้ถือสาหาความอะไรกับที่มาที่ไปของ Cube นัก ก็ยังคิดว่าทั้ง 2 ภาคที่ตามมานั้นก็ดูสนุกดี แม้อาจจะไม่ลงตัวเท่าภาคแรกก็ตาม




เกมที่ 5 : SAW



แล้วถ้าคุณตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าคุณถูกจับยึดไว้บนเก้าอี้ มีอุปกรณ์ซึ่งถูกระบุว่าเป็นเครื่องง้างปากยึดติดกับกรามของคุณไว้ มันจะค่อยๆง้างออกเรื่อยๆตามเวลาที่นับถอยหลัง และกรามของคุณไม่มีทางทนแรงง้างของเจ้าเครื่องบ้านี่ได้ มือข้างนึงของคุณเป็นอิสระ และเครื่องง้างนี่ก็มีรูกุญแจอยู่ กุญแจไม่อยู่ที่นี่ แต่มีคำใบ้ช่วยบอกว่ากุญแจที่ว่าอยู่ในท้องของคุณ พร้อมมีมีดวางไว้ข้่างๆหนึ่งเล่ม... คำใบ้มีพร้อม จุดประสงค์มีพร้อม กติกามีพร้อม อุปกรณ์มีพร้อม วิธีเอาชนะ(?)มีพร้อม...

คุณจะเล่นเกมนี้ไหม?...

แล้วคุณจะ ไม่เล่น ได้ไหม??...

นี่มันเป็นเกมจากฆาตกรหรืออย่างไร?? ใช่!!??? แล้วคุณจะหนีจากเจ้านี่ได้อย่างไร?? หนีจากเกมนี้ได้อย่างไร???

ภาพยนตร์ปี ค.ศ.2004 เรื่องนี้ ในชื่อไทย ซอว์...เกมต่อตายตัดเป็น ถือเป็นใบเบิกทางใบสำคัญให้กับ เจมส์ วาน และคู่หู ลีห์ แวนเนลล์ ซึ่งทั้งสองทั้งคิดเรื่อง เขียนบท ร่วมกำกับ และ ลีห์ แวนเนลล์ ยังนำแสดงในเรื่องนี้ด้วย ด้วยไอเดียที่นำไปสู่ความน่าผวาและสยองถึงกึ๋น ทำให้ Saw มีภาคต่อตามมามากมาย ซึ่งแม้จะมีแฟนๆติดตามเหนียวแน่นเอาการ ก็ไม่มีภาคไหนจะเทียบภาคแรกนี้ได้ จุดเริ่มตำนานความสยองที่นำ เจมส์ วาน ไปยัง Insidious ทั้ง The Conjuring กระทั่งนำไปสู่ Fastฯ 7 กระทั่ง Aquaman !

เกมนี้ต้องไม่ธรรมดา และเป็นความสยองอย่างไม่ธรรมดา



เกมที่ 6 : THE HUNGER GAMES


จากนิยาย 3 เล่ม ของ ซูซาน คอลลินส์ (ในไทยแปลและจัดพิมพ์โดย สนพ. Post Books) กลายเป็นภาพยนตร์ 4 ภาค ภาคแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นการดัดแปลงนิยายขายดีติดอันดับเล่มแรก ซึ่งอาจวางจำหน่ายในปี ค.ศ.2008 มาเป็นภาพยนตร์ กำกับโดย แกรี่ รอสส์ (Seabiscuit, Pleasantville) ในปี ค.ศ.2012 The Hunger Games ไม่ได้ทำให้ใครผิดหวัง เมื่อมันเป็นการดัดแปลงที่ดีและไม่เสียของทั้งการกำกับ การออกแบบ และนักแสดงนำอย่าง เจนนิเฟอร์ ลอเรนซ์
ก็เป็นตัวเลือกเข้ากับบทได้อย่างดียิ่ง

ใครบางคนบอกความคล้ายคลึงกันกับ Battle Royale ในการส่งเหล่าเด็กๆวัยรุ่นไปห้ำหั่นเอาตัวรอดกันในเกมเอาชีวิตที่โอบล้อมด้วยป่าและต้นไม้ แต่ The Hunger Games ก็มีเรื่องราวของตัวเองต่างออกไป เมื่อมันเป็นเกม 'ระดับประเทศ' ที่แต่ละเขตต้องส่งตัวแทน (ที่ถ้าไม่สมัครใจก็ต้องจับสลาก)
เพื่อผลประโยชน์ของเขตตน ที่แบ่งมาจาก 'แคปิตอล' ที่รวมความมั่งคั่งเอาไว้

เกมนี้อาจเป็นความอยู่รอดสำหรับเขตรอบนอก แต่ดูเหมือนว่ามันจะเป็นความบันเทิง
สำหรับชาวแคปิตอล

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การได้รับความสนใจจากชาวแคปิตอลก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เขตได้รับประโยชน์ และกลยุทธ์หลายอย่างในเกมก็เริ่มขึ้นก่อนที่ตัวแทนแต่ละคนจะเข้าสู่สนามประลองซะอีก!

The Hunger Games จึงเป็นเรื่องที่ทั้งมีแง่มุมเกี่ยวกับการเมืองและผลประโยชน์ ชนชั้น การห้ำหั่นเอาตัวรอด และเรื่องของกลยุทธ์ และในส่วนของเกมที่เริ่มตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่สนามประลองนี้ ก็มีตัวละครหลายคนที่ทำให้กลยุทธ์นี้มีสีสัน สนุก ไปพร้อมๆกับความน่าประทับใจและน่าสะเทือนใจ...



เกมที่ 7 : LIAR GAME เกมหลอก คนลวง


อยากเข้าร่วม LIAR GAME ไหม?...

"ยกเว้นโกหกแล้ว เรามาเล่นเกมอย่างยุติธรรมกันเถอะนะครับ"
นี่เป็นกฎและกติกาหลักของ LIAR GAME เกมที่อนุญาตให้ โกหก ได้ตามสบายเพื่อช่วงชิง เงิน ของอีกฝ่ายมา แถมเกมยังใจดีที่มีทุนเริ่มต้นให้ผู้เข้าเล่นเป็นหลัก ร้อยล้านเยน และไม่ใช่ทุกคนจะได้รับเชิญ แต่คนที่ได้รับ ต้องทำตามกติกาของเกมอย่างเคร่งครัด ใครที่ทำผิดกติกา (เช่น ใช้ความรุนแรง) จะโดนปรับ เมื่อนี่เป็น 'เกม' แม้คุณจะโกหกหรือหลอกเอาเงินคนอื่นมา มันจึงไม่น่าจะใช่ความผิดของคุณ โดยเฉพาะเมื่อมันเป็นเป้าหมายของเกมๆนี้ ข้อแม้เล็กๆมีเพียงว่า เมื่อจบเกม คุณจะต้องคืนเงินที่มีให้คุณตอนเริ่มเกมมา ถ้าคุณคืนได้ไม่ครบ คุณจะเป็นหนี้ของ LIAR GAME! 

ทีนี้ คุณอยากเข้าร่วม LIAR GAME ไหม?... 

แต่ใช่ว่าใครก็ได้จะได้ รับเชิญ ให้เล่น LIAR GAME หรอกนะ

แต่ผู้ที่เข้าร่วมไปแล้วจะถอนตัวไปไม่ได้ง่ายๆเช่นกัน! คันซากิ นาโอะ เองเป็นผู้หญิงซื่อๆท่าทางอ่อนแอคนหนึ่งที่กลายไปเป็นหนึ่งในผู้เล่น และเมื่อเธอพลาดท่า จนมุม ทางเลือกของเธอกลับเป็นการไปขอความช่วยเหลือจากอดีตนักโทษที่เพิ่งพ้นคุก สิ่งนี้จะนำไปสู่อะไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ LIAR GAME ยังมี 'รอบต่อไป' รออยู่อีกด้วย คุณจะเล่นเกมโกหกนี้ต่อไปหรือจะเลิกเล่น แต่...ต้องจ่ายเงินคืน LIAR GAME ให้ครบด้วยล่ะ...

LIAR GAME เป็นมังงะโดย ชิโนบุ ไคทานิ ในไทยแปลและจัดพิมพ์โดย สยาม อินเตอร์ คอมมิค ในชื่อไทยว่า เกมหลอก คนลวง แม้ลายเส้นจะดูโปร่งเรียบ และอาจดูต่างจากหลายๆเกมในลิสต์ที่มันดูจะไม่ใช่เกมเลือดตกยางออกถึงเลือดถึงเนื้อ แต่เนื้อหาและ 'เกม' นั้นเข้มข้น (และสนุก) มาก เกมแสดงให้เห็นถึงการดิ้นรนของคนในกรอบจำกัดและเงินโดยจ้องจะโกหกกันได้อย่างเข้มข้น ทั้งยังมีจุดที่น่าสนใจเมื่อมีตัวแปรอย่าง นาโอะ ในเกมๆนี้ ปัจจุบันมังงะฉบับแปลไทยก็ออกจนครบแล้วมี 19 เล่มจบ + รวมเรื่องสั้นของ ไคทานิ ชิโนบุ อีก 1 เล่ม ความเข้มข้นของเกมนี้ยังทำให้ถูกนำไปสร้างเป็นฉบับซีรี่ส์ญี่ปุ่น (มีซีซั่น 2 ด้วย) และฉบับหนังที่เกี่ยวเนื่องกับซีรี่ส์ด้วย ทั้งยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นซีรี่ส์ฉบับเกาหลีอีกด้วย 

  

เกมที่ 8 : REAL ACCOUNT ติด ตาม ตาย



มังงะซึ่งแต่งเรื่องโดย โอคุโช (Okushou) และเขียนภาพโดย ชิซุมุ วาตานาเบะ (Watanabe Shizumu) เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับเด็กชายมัธยมคนหนึ่งที่ต้องใช้ชีวิตลำพังกับน้องสาว และดูจะมีปัญหากับการเข้าหาสังคมในโลกจริง แต่เขาก็ยังพอจะมีโลกและสังคมของเขาผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กที่ชื่อ Real Account ชีวิตแบบนี้ว่าไปก็อาจไม่แย่อะไรนัก โดยเฉพาะในปัจจุบันมันก็ดูเป็น ชีวิต และ สังคม รูปแบบหนึ่งที่พบได้ดาดดื่น จนวันหนึ่ง...การที่เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกของ Real Account ทำให้เขาถูกดึงเข้าสู่ 'เกม' 

และมันยังเป็น 'เกม' ที่ 'ถึงชีวิต' ทั้งไม่ใช่เกี่ยวพันกับแค่ชีวิตของเจ้าของบัญชีอย่างเขา แต่เกี่ยวพันกับชีวิตของคนที่เป็น 'เพื่อน' กับเขาใน Real Account ด้วย! และเป็นธรรมดาที่ไม่ใช่แค่เขาที่จะถูก 'บังคับรับเชิญ' ให้มาร่วมเล่นเกมๆนี้ แต่สมาชิกของ Real Account อีกมากก็ถูกบังคับให้เล่นเกมนี้ด้วย! โดยมีทั้งโลกภายนอก และเพื่อนๆในสังคมออนไลน์แห่งนี้ ของพวกเขาแต่ละคนเป็นทั้งผู้ดู และผู้ร่วมเกม!

ว่าไปนี่ก็เป็นเกมๆหนึ่งที่ดูจะนำเอาเรื่องของเทคโนโลยีและชีวิตประจำวันในปัจจุบันมาเล่าซึ่งน่าจะมีส่วนพ้องกับ Nerve มากที่สุดในลิสต์ที่เลือกมาครั้งนี้ แต่ Real Acount ก็ดูมีความแฟนตาซีกว่า ในขณะที่ Nerve นั้นดูใกล้กับความเป็นจริงที่อาจจะเกิดขึ้นมากกว่า แม้ว่าทีแรกอ่านชื่อไทยว่า ติด ตาม ตาย แล้วก็อาจจะรู้สึกเรียบๆไปหน่อย แต่เมื่ออ่านเนื้อหาแล้ว มันก็ดูจะเข้ากับเรื่องได้เหมาะเจาะทีเดียว

มังงะเรื่องนี้ในไทยแปลและจัดพิมพ์โดย สนพ. Luckpim ออกมาแล้วประมาณ 3-4 เล่ม ส่วนของญี่ปุ่นน่าจะออกรวมเล่มล้ำหน้าไปอยู่อีก 2-3 เล่มและยังไม่จบครับ 



เกมที่ 9 : เกมเทวดา


แม้อาจไม่เคยอ่านหรือรู้จัก เกมเทวดา แต่คนที่เคยอ่านมังงะ Bakuman (วัยซน คนการ์ตูน) ก็น่าจะได้อ่านไปถึงตอนที่คู่หู มาชิโระ - ทาคากิ เจอกับหนึ่งในคู่ปรับหน้าใหม่ที่มาพร้อมกับมังงะดีเดือดที่ชื่อ ห้องแห่งสัจจะ (ซึ่งฉบับหนังไม่ได้เล่าไปถึงตอนนี้) เรื่องราวในห้องเรียนแห่งหนึ่งที่จู่ๆทั้งห้องก็ตกอยู่ภายใต้ 'เกม'บางอย่างที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเริ่มหรือมาจากไหน แต่ถ้าทำผิดกติกาล่ะก็บ๊ายบาย ชีวิตหลุดลอยสถานเดียว! โดยกติกาข้อแรกก็ง่ายๆเพียงแค่ว่า ห้ามโกหก ที่แม้เป็นแค่ส่วนหนึ่งในการ์ตูน (ซ้อนการ์ตูน) แต่ก็ดูจะเป็นการ์ตูนที่ดูสนุกระทึกอย่างน่าหวาดสยอง จนเรายังทึ่งกับไอเดียที่เห็นกันเพียงสั้นๆในนั้น แม้เราจะได้เห็นเพียงส่วนนึงของการ์ตูนดังกล่าวให้พอตื่นเต้น ก็มีหลายเสียงบอกว่า เกมเทวดา นี่แหละเป็นมังงะที่เอาไอเดียนั่น มาขยายต่อ 

เอาเป็นว่าเราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นรึเปล่า? และนี่จะเรียกว่าลอกรึอะไรรึเปล่า? (แต่คงไม่มีปัญหาเพราะถ้าเป็นแบบนั้น ก็ไม่น่ารอดที่ญี่ปุ่นมาแล้วแหละ) แต่มันก็มีความคล้ายคลึงกันจริงอย่างที่ว่า (ในอีกทางก็นึกไปถึง Gantz หน่อยๆ) และแม้ลายเส้นของเกมเทวดาอาจไม่เนี๊ยบนิ๊งอย่างลายเส้นของ ทาเคชิ โอบาตะ ใน ห้องแห่งสัจจะ ใน Bakuman (จะเขียนทำไมให้งง?) แต่ เกมเทวดา ก็เอาเรื่องราวเหล่านั้นมาขยาย และเกมก็มีเนื้อหาไม่เหมือนในห้องแห่งสัจจะแม้จะเป็นเกมๆแรก (ก็แหงซิ!) และสภาพแวดล้อมจะคล้ายกันมาก มังงะยังเอาของเล่นหรือของขลังของญี่ปุ่น อย่างเช่น ตุ๊กตาดารุมะ ซึ่งปรากฏตัวในเกมแรก มาประกอบเพื่อ 'ชวนเล่น' เกมๆนี้ เมื่อในเกมนี้แม้จะมีกติกา แต่มันเป็นกติกาที่ต้องแก้ปริศนาและเรียนรู้เอา จาก...คนที่พลาดท่า ผิดกติกา และชีวิตหลุดลอยไปก่อนหน้านี้เท่านั้น! แล้ว...กติกาที่ว่า มันคืออะไรกันล่ะ ???? 

และใน เกม ต่อๆไป เหล่าผู้รอดชีวิต ก็ยังจะได้เจอกับ 'ตุ๊กตา' อื่นๆ ที่จะมาร่วมเล่นเกมกับพวกเขาอีก นี่เป็นอีกเกมที่แฟนตาซีเลือดสาดมาก...

มังงะ แต่งเรื่องโดย มุเนยูกิ คาเนะชิโระ (Muneyuki Kaneshiro) และเขียนภาพโดย อาเคจิ ฟูจิมูระ (Akeji Fujimura) มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า 神さまの言うとおり (Kamisama no Iutoori) และชื่ออังกฤษว่า As The God's Will  ในไทย จัดแปลและพิมพ์โดย สนพ.วิบูลย์กิจ มีออกมา 5 เล่มจบแล้ว ในโครงการแรก! และยังมีเกมเทวดาโครงการ 2 ตามมาด้วย! ปัจจุบันยังไม่จบ

โครงการแรกยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดยการกำกับของ ทาคาชิ มิอิเกะ! (ก็บอกไปแล้วตอนเขียนถึงหนังแมลงพันธุ์แสยงว่าแกกำกับหนังเยอะ! นี่ก็ยังเป็นหนังจากมังงะด้วย ซึ่งว่าไป...ก็น่าดูดีนะ)  


เกมที่ 10 : ฆาต(พยา)กรณ์


ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วย ปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ กลุ่มหนึ่งกำลังเข้าจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต มนุษย์หนังสือพิมพ์ก็ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอออนไลน์เพื่อประกาศ 'คำพยากรณ์' ว่าจะลงโทษผู้ที่กระทำความผิด แต่ยังไม่ได้รับโทษเพราะหลุดรอดช่องโหว่ของกฎหมายไปได้ และต่อมา การลงโทษ ตาม คำพยากรณ์ ก็เกิดขึ้นจริง! 

มนุษย์หนังสือพิมพ์เหล่านี้มีจุดประสงค์อะไร? ที่ทำเช่นนี้?! เผยแพร่คำพยากรณ์แบบนี้? เพื่อท้าทาย? หรือเพื่ออะไร? หรือ มนุษย์หนังสือพิมพ์ ต้องการเล่น 'เกม' นี้กับผู้ที่ถือกฎหมายอยู่ในมือเท่านั้น?!

เกมแมวจับหนูนี้จะนำไปสู่อะไร? ใครเป็นแมวใครเป็นหนู? และมีอะไรอยู่เบื้องหลังเรื่องราวเหล่านี้?!

มังงะโดย Tetsuya Tsutsui จำนวน 3 เล่มจบเรื่องนี้ มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า 予告犯 (Yokokuhan) และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Prophecy เรื่องนี้ยังถูกแปลในหลายภาษา สำหรับฉบับแปลไทยจัดพิมพ์โดย สนพ.สยามอินเตอร์คอมมิค และแม้จะมีแค่ 3 เล่มจบ และถ้านับในเชิงเรื่องสืบสวนมันอาจไม่หวือหวานัก เนื่องจากเรื่องดูจะเน้นประเด็นมากกว่าทริกหรืออื่นๆ แต่เรื่องราวของมันก็ยังเข้มข้นและน่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อกับเกี่ยวกับทั้ง โครงสร้างสังคม เทคโนโลยี โลกออนไลน์ และการควบคุมจัดการหรือการปราบปราม ถือเป็นเรื่องที่พูดถึง เทคโนโลยี และ สังคม ได้อย่างเข้มข้นจริงจังเรื่องนึง ซึ่งอาจจะมีลักษณะของการวิพากษ์ที่ต่าง(และบางมุมก็อาจจะกว้างกว่า)ไปจาก Nerve, 13 เกมสยอง หรือ Real Account 

ว่าไปแล้วรูปรอยของความเป็น 'เกม' ของเรื่องนี้อาจต่างไปจากเรื่องอื่นๆในลิสต์ และอาจไม่ชัดเจนเท่ารูปแบบของ เกม ในเรื่องอื่นๆ แต่ที่อยากเลือกมาอยู่ในลิสต์เพราะยังรู้สึกว่า เกมแมวจับหนู นี้มีความเข้มข้นและเนื้อเรื่องที่ยังมีความระทึกและยังวิพากษ์ได้น่าสนใจ แม้จะดูสั้นๆแค่ 3 เล่มจบ แต่ถือว่าเรื่องราวและความเข้มข้นนั้นเต็มแน่นดีทีเดียว

มังงะยังถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นโดยผู้กำกับคือ โยชิโนริ นาคามูระ (Yoshihiro Nakamura) และยังมีมังงะที่เป็นเหมือนภาคแยกกลายๆออกมาด้วย ซึ่งที่เลือกมาอยู่ในลิสต์นอกจากความเข้มข้นจริงจังแล้ว ก็ยังคิดว่าถ้ามีคนสนใจเยอะหน่อย สนพ.ก็อาจอยากนำภาคแยกที่ว่ามาแปลและจัดพิมพ์ด้วยก็ได้ :)   



เกมที่ 11 : YU-GI-OH! เกมกลคนอัจฉริยะ


เอาล่ะ! มาถึงตรงนี้อาจมีบางคนคิดว่า มันเอาแล้ว เริ่มออกทะเลแล้วล่ะซิ! อันอื่นอาจจะแฟนตาซีบ้างแต่ก็วิพากษ์ (ดราม่า) ชีวิต สังคม ความสัมพันธ์ ฯลฯ เข้มๆ แต่อันนี้มันการ์ตูนการ์ดแฟนตาซีชัดๆ นึกไม่ออกแล้วแหงเลยเลยเอาอันนี้มาใส่ ซึ่งจริงๆก็ใช่ เฮ้ย ไม่ จริงๆถึงจะไม่ผิดซะทีเดียว เพราะไหนๆก็บอกไปแล้วว่าจะออก เฮ้ย ไม่ใช่ แล้วก็ไม่ใช่แค่จะเลือกมาเพราะมันมีชื่อว่า 'เกม'กลคนอัจฉริยะ หรอกนะ - -

จริงๆคือ แม้ว่าปัจจุบัน ยูกิ ที่ก็มีมังงะภาคต่อและอนิเมออกมาหลายภาค (เกมด้วย) จะกลายไปเป็นแค่ การ์ตูนเกมการ์ดยูกิ อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งก็จริงตามนั้น แถมภาคหลังๆก็ไม่ได้ตามแล้ว แต่เมื่อนึกย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น เรื่องราวของ ยูกิ เด็กชายผู้ไปพบเครื่องรางลึกลับที่นำเอาจ้าวแห่งเกมมาสู่ยุคปัจจุบันก็มีทั้งเรื่องราวที่น่าสนุก และ เกม ในช่วงแรกๆก็มีความน่าสนใจ น่าสนุก และหลากหลายกว่าก่อนที่ ยูกิ จะกลายไปเน้นเกมการ์ดเต็มตัว (ซึ่งย้อนไปตอนที่เกมการ์ดเผยโฉมครั้งแรกในภาคแรกนี้ เราก็ยอมรับว่ามันก็ทำได้สนุกดีจริงๆ) แม้มันจะมีความแฟนตาซีมากกว่า(และโทนก็เบากว่า)รายชื่อในลิสต์นี้เรื่องอื่นๆอยู่มากก็ตาม

อีกทั้งเกมบางเกม(และบรรยากาศ)ในช่วงแรกยังมีความ 'น่ากลัว'ไม่เบาทีเดียวเมื่อคิดกันจริงๆแล้ว เช่นในรูปที่คุณปู่ถูกขังอยู่ในทีวี! 

พอนึกได้ก็เลยกลายเป็นว่า ก็น่าเอาไว้ในลิสต์นี้ซะหน่อย และพอนึกไปถึงช่วงเริ่มๆของยูกิ ก็รู้สึกว่าเกมหลายเกมก็น่าสนุกดี และบางเกมก็ น่ากลัว อย่างที่ว่า พอนึกแบบนี้แล้วไปลองหาภาคแรกมาอ่านใหม่ก็น่าสนุกดีเหมือนกัน อีกอย่างคือ คิดว่าในลิสต์นี้ก็สยองกันมาเยอะเหมือนกัน (ซึ่งก็สยองจริง แต่ละเกม) ก็เลยอยากจะมีเกมตัดอารมณ์ออกมาบ้างน่ะ จะได้พักอารมณ์กันบ้าง! (จริงๆนะ)

ฉบับแปลไทยภาคแรก 38 เล่มจบ โดย สนพ.สยามอินเตอร์คอมมิค ครับ รวมถึงภาคต่อด้วย และยูกิก็มีอนิเม (และเกม) ออกมาด้วย อนิเมฉบับไทยลิขสิทธิ์ก็มีออกมาแต่ไม่เชี่ยวชาญแฮะ เป็นของ Dex รึเปล่า?  แถม : ตอนนี้ มีคนพัฒนาบน Hololens ให้แสดงตัวละครออกมาบนการ์ดยูกิด้วย ลองอ่าน ที่นี่



เกมที่ 12 : โทโมดาจิ เกมมิตรภาพ


ในเกมที่ผ่านๆมา ส่วนใหญ่เราจะได้เห็นผู้เล่นหลายคนที่ไม่รู้จักกันมาร่วมเล่นเกมห้ำหั่นกัน แต่ในเกมนี้ มันเป็นเกมที่ผู้เล่นในเกม เป็น 'เพื่อน' ในกลุ่มที่สนิทสนมกัน หรือ...อย่างน้อยก็เคยพิจารณาว่าเป็นเพื่อนที่สนิทกัน 

แต่ด้วยเรื่องราวของ เงินก้อนใหญ่ที่สูญหายไปในชั้นเรียน ไม่รู้ว่าใครขโมยไป และไม่รู้ว่าใครจะรับผิดชอบ ต้องแบกรับทั้งเงินส่วนที่หายไปและความเชื่อใจของครูและเพื่อนๆ เมื่อเพื่อนในกลุ่มมีปัญหา ควรจะช่วยเหลือกันอย่างไรดี?

ปัญหาที่ใหญ่โตและยังไม่รู้จะแก้อย่างไรดี กลับนำพวกเขาซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนสนิท(?) เข้าไปสู่เกม โดยการจัดฉากของใครบางคน ความจริงพวกเขาน่าจะผ่านเกมนี้ไปด้วยกันได้ง่ายๆโดยมิตรภาพและความเชื่อใจที่พวกเขามี ด้วยความเป็นเพื่อนที่พวกเขามี แต่...ทำไมมันกลับไม่ง่ายอย่างนั้น?! ในกลุ่มพวกเขามีคนที่เชื่อใจไม่ได้อยู่งั้นหรือ? แล้วใครกันที่เป็นคนที่เชื่อใจไม่ได้คนนั้น?!

มังงะเรื่องนี้ว่าไปก็ทำให้นึกไปถึงเกมอื่นๆที่กล่าวไปก่อนแล้วเหมือนกัน เช่น Cube หรือ Liar Game โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับเรื่องของเงิน และมันก็มีความเป็นแฟนตาซีผสมอยู่ด้วย แต่ในเกมๆนี้ เมื่อเรื่องราวเป็นเรื่องภายในกลุ่มเพื่อน(ที่ถือตัวว่า)สนิทกัน มันจึงยิ่งเพิ่มความเคลือบแคลงและความหวาดระแวงในกลุ่มเพื่อนกลุ่มเล็กๆนี้ได้อย่างน่ากดดัน เมื่อต้องเผชิญกับเกมที่ไม่รู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง? หรือมีจุดประสงค์อะไร? หรือมันแค่ต้องการทำลายความเป็นเพื่อนของพวกเขา?? 

มังงะแต่งเรื่องโดย ยามากูชิ มิโตโตะ (Yamaguchi Mikoto) และวาดโดย ยูกิ ซาโตะ (Yuki Sato) และดูมีความแฟนตาซีผสมอยู่ด้วย (บางอย่าง(เล็กๆ)ก็นึกไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่น Cube นิดๆ) แปลไทยและจัดพิมพ์โดย สนพ.สยามอินเตอร์คอมมิค เช่นกัน ปัจจุบันฉบับแปลไทยน่าจะออกมาราว 4 เล่ม ตามหลังญี่ปุ่นอยู่นิดหน่อย และยังไม่จบครับ


เกมที่ 13 : JUMANJI / ZATHURA



ขอปืดท้ายด้วย เกม ที่ก็น่าเคลือบแคลงว่าจะไม่เข้ากับ(ชื่อ)ธีม(อีกแล้ว หุหุ) ซึ่งหลายๆคนน่าจะรู้จักดี ส่วนหลายคนที่ไม่รู้จักก็อยากแนะนำให้ลองหามาดูกัน เพราะในช่วงแรกๆของการนำคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเข้ามาใช้ในวงการภาพยนตร์อย่างเข้มข้น Jumanji (ค.ศ.1995) เป็นภาพยนตร์ที่ 'สนุกดี' จริงๆ 

แม้จะบอกอย่างนั้น ซึ่งทำให้มันดูไม่เข้าแก๊บธีม เกมสยอง อย่างยิ่ง (แถมไม่ได้จะวิพากษ์อะไรหนักๆ เน้นบันเทิง) แต่ถ้าต้องดู เกมกระดาน Jumanji ที่พ่อหนุ่มน้อยในเรื่องไปพบเข้านี่จริงๆ แค่ดูจากคำเชิญชวนที่มันมีว่า 'เกมสำหรับผู้ที่ต้องการทิ้งโลกไว้เบื้องหลัง' นี่...ก็น่าจะพอรู้สึกว่ามันมีอะไรแหม่งๆได้แล้วนะ... ซึ่งก็มีจริงๆ! 

ภาพยนตร์กำกับโดย โจ จอห์นสตัน (Joe Johnston) (จูราสสิคพาร์ค 3, กัปตันอเมริกา ภาคแรก, ฯลฯ) ดัดแปลงจากหนังสือเด็กตั้งแต่ปี ค.ศ.1981 แหนะ โดย คริส แวน ออลส์เบิร์ก (Chris Van Allsburg) แม้โครงจะดูน่ากลัว แต่มันก็น่าจะเน้นความน่าสนุกตื่นเต้นมากกว่า ซึ่งแม้ไม่เคยผ่านตาหนังสือต้นฉบับ แต่ฉบับหนังก็มีความรู้สึกแบบที่ว่าเต็มเปี่ยม นอกจากจะได้เห็น เคิทส์เต็น ดันสท์ ตอนเด็กๆแล้ว หนังยังเป็นหนึ่งในผลงานสนุกๆของดาราผู้ล่วงลับ โรบิน วิลเลี่ยมส์ ด้วย... 

และไหนๆจะขอหลุดธีม ก็ขอแถมไปอีกเกม พูดถึง Zathura ไปด้วย ซึ่งอาจถือเป็นหนังพี่หนังน้องกับ Jumanji เพราะสร้างจากหนังสือเด็กของ Chris Van Allsburg เหมือนกัน ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 2005 (ตามหลังหนังพี่มาตั้ง 10 ปีแหนะ) กำกับโดย จอห์น แฟพโรว์ ( Ironman 1-2, ฯลฯ) มี คริสเต็น สตวร์ด (สวยเจี๊ยบเซอไพรส์ใน Cafe Society !) แสดงด้วยนะ คราวนี้เป็นธีม ผจญภัยอวกาศ แฮะ ซึ่งก็น่าสนุกและน่าดูดี ซึ่งผมเองก็ยังไม่เคยได้ดูซักที ใครชอบ Jumanji หรือจะไว้ดูตัดอารมณ์กับเกมสยองกว่าด้านบนๆ นอกจากจะอยากไปหา Jumanji มาดูแล้ว ก็น่าจะลองหา Zathura มาดูด้วยนะ! 




ก็เป็นอันว่า จบกันไปแล้วนะครับ กับ 13 เกมสยอง ก็คงได้สยองกันไปพอสมควรนะครับ 

ความจริงก็อาจยังมีอีกหลายๆเกม หลายๆเรื่องที่เข้าธีม แต่ไม่ได้เอามาพูดถึง หรือแอบพูดถึงไปนิดๆหน่อยๆ หรือบางเรื่องพอรู้จักแต่ก็ยังไม่เคยได้ดูได้อ่าน แต่เอาเป็นว่า ถ้าหาเรื่องจะมีธีมอะไรมาเสนออีก ก็จะเอามาว่ากล่าวกันใหม่นะครับ สำหรับเกมสยองอื่นๆ 

สำหรับอันนี้ สยองกันพอควรจบไว้ก่อนที่ตรงนี้ครับ สวัสดี... :)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น