วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559
[ภาพยนตร์] OPERATION AVALANCHE ปฏิบัติการลวงโลก : ปฏิบัติการอวกาศ กับพลังของภาพเคลื่อนไหว
แบบสั้นๆ
แม้ในปัจจุบันการรู้จักว่ามีอวกาศห่อหุ้มพื้นที่ที่โลกกลมๆของเราดำรงอยู่เอาไว้จะไม่ใช่เรื่องแปลก หลายคนพอจะรู้ว่าหน้าตาทิวทัศน์ในอวกาศดารดาษไปด้วยดวงดาวนั้นเป็นอย่างไร? ดวงจันทร์มีผิวขรุขระไหม มีกระต่ายตัวใหญ่ๆบนดวงจันทร์รึเปล่า? ฯลฯ
แม้เราจะรับรู้การมีอยู่ของพื้นที่ในอวกาศ ดาวเคราะห์รวมถึงดาวบริวารในระบบสุริยะ ทางช้างเผือก กาแลกซี่ หลุมดำ และอีกมากมาย ฯลฯ แต่ก็มีน้อยคนนักเทียบกับประชากรโลกทั้งหมดที่จะออกไปนอกบรรยากาศโลกและได้สัมผัสกับอวกาศจริงๆ
และหลายเรื่องเกี่ยวกับอวกาศก็ยังคงเป็นเรื่องลึกลับอยู่เสมอ...
รวมไปถึงเรื่องราวของการไปเยือนพื้นผิวของดวงจันทร์ครั้งแรกของมวลมนุษยชาติ ก้าวเล็กๆที่เป็นก้าวใหญ่ๆของมวลมนุษยชาติ ก็เช่นกัน
ขณะที่เป็นเรื่องซึ่งดูยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ มันก็ยังเป็นหนึ่งในเรื่องที่ยังคงมีคำถาม ข้อสงสัย รายละเอียดลึกลับ ออกมาจากมุมใดมุมหนึ่งของโลกได้เสมอ (โดยเฉพาะเมื่อไม่รู้หรือไม่มีข้อมูลทั้งหมด หรือถึงในระดับนึง)
และหนังเล็กๆเรื่องนี้ก็เลือกเอาเรื่องนี้มาเล่นและเล่า
ผมตอบไม่ถูกเหมือนกันว่า แมท จอห์นสัน (Matt Johnson) ผู้กำกับและร่วมเขียนบทของหนังเรื่องนี้ นั้นหลงใหลในเรื่องราวลึกลับของการไปเยือนดวงจันทร์ของหนึ่งฟากมหาอำนาจในช่วงสงครามเย็นที่ต่ออีกฟาก ที่เป็นทั้งการแสดงแสนยานุภาพทั้งทางด้านอำนาจ เทคโนโลยี และการแข่งขัน หรือหลงใหลในศาสตร์ภาพยนตร์มากกว่ากัน โดยเฉพาะเป็นศาสตร์ภาพยนตร์จาก แสตนลี่ย์ คูบริก แต่ถ้าให้เดา ผมคิดว่าคงเป็นอย่างหลังมากกว่า
เมื่อตัวละครในเรื่องต้องพบกับปัญหาซึ่งเกี่ยวข้องกับภารกิจที่จะสะเทือนโลกของประเทศ เขาจึงเลือกที่จะจัดการมันด้วยศาสตร์แห่งภาพเคลื่อนไหว (motion picture)
ท่าทีของหนังเป็นหนังทุนต่ำ แต่เมื่อเลือกเล่าเรื่องราวครั้งสำคัญในอดีตด้วยภาพแบบฟิล์มสมัยเก่า (น่าจะ 8 มม. รึ 16 มม. - บรรยากาศ ภาพ สัดส่วนภาพ คล้ายวิดีโอถ่ายกันเองของกลุ่มสหายใน Super 8 ที่มีให้ดูกันตอน End Credit) ในทางหนึ่งมันก็ดูเข้ากันดีกับเรื่องที่เลือกจะเล่าได้ไม่เลวเลย
ดูไปแล้วเหมือนในงบประมาณจำกัด (ไม่แน่ใจว่าเป็นหนังนักศึกษาไหม? เพราะช่วงท้ายเครดิตเหมือนเห็นผ่านๆว่าเป็นโครงการหรือทุนหรืออะไนซักอย่าง(ตกลงเอ็งตั้งใจดูไหม - ก็ไม่ได้ตั้งใจขนาดนั้นอ่ะ... เห็นแว่บๆ...)ของมหาวิทยาลัยมัง? (ข้อมูลพลาดก็ขออภัย) ผู้กำกับอยากเล่าเรื่องหนังสนุกๆ ที่ล้อผสมผสานไปกับความ 'รัก' ในศาสตร์ของภาพเคลื่อนไหว ในศาสตร์ภาพยนตร์ ของเขาได้ จึงเลือกทำหนังออกมาในแนวทางนี้
ผลที่ได้ ก็เป็นงานสนุกๆที่พูดถึงเรื่องราวความลับในอดีตของโครงการใหญ่ของชาติมหาอำนาจอเมริกา เกี่ยวกับการบุกเบิกอวกาศ และการเอาชนะสงครามเย็นไปพร้อมๆกัน ว่าไปในขณะที่ Blair Witch ถอยห่างจากการเป็น Found Footage หนังเรื่องนี้ก็มีความเป็น Found Footage อยู่เหมือนกันนี่หว่า ซึ่งมันทำให้ การแสดง ของตัวละครที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้นในการจัดการและเสี่ยงกับการทำภารกิจ รวมถึงสนองความอยาก และความทะเยอทะยาน ของตัวเองให้สำเร็จ แม้ทีแรกจะดูเหมือนว่ามันดูเป็นการแสดงอยู่เหมือนกัน แต่มันก็ดูเป็นธรรมชาติขึ้นเมื่อคิดว่าตัวละครอยู่หน้ากล้องและรู้ว่ามีกล้องจับจ้องอยู่ (ซึ่งว่าไปก็เป็นลักษณะของการถ่ายด้วยกล้องของภาพยนตร์ด้วยแหละนะ - ซ้อนกันไปซ้อนกันมา...)
แถมนอกจากเป็นเรื่องราวของความทะเยอทะยานและความอยากในศาสตร์ของหนังแล้ว มันยังแสดงให้เห็นชัดว่าเป็นการรำลึกและชมชอบถึง แสตนลี่ย์ คูบริก ด้วย (ผมดูแล้วคิดว่าอย่างนั้นนะ - ทำให้ยิ่งคิดไปอีกว่า ผู้กำกับเลือกทำหนังที่เล่าเรื่องของคนที่อยากสนองความชอบของตัวเองในเรื่องหนังไปเสี่ยงทำภารกิจใหญ่และความชมชอบ สแตนลี่ย์ คูบริก เพราะตัวผู้กำกับเองก็ชื่นชอบภาพยนตร์และชมชอบ สแตนลี่ย์ คูบริก จึงเลือกเขียนและกำกับเรื่องที่จะเล่าเรื่องราวเหล่านี้ได้ โดยอวกาศและทฤษฎีประดามีก็พอดีว่าประจวบเหมาะกับการใส่เรื่องราวเหล่านี้ไว้พอดี - อ่านแล้วงงไหม? - ถ้างง...ก็ลองอ่านซ้ำดูอีกทีนะ... - - ) เพราะงั้นหนังเรื่องนี้ก็น่าจะดูสนุกดีกับ คนที่ชอบดูเรื่องทฤษฎีสมคบคิด หรือเรื่องใหญ่ๆอย่างการท่องอวกาศไปลงดวงจันทร์ครั้งแรกในอดีต และคนที่ชอบๆ แสตนลี่ย์ คูบริก (แม้จะดูอ้อมๆก็ตาม) นัยว่ามาลองดูผลงานของคนที่เอาความชมชอบของเขามาใส่ไว้กลายเป็นภายนตร์ได้ หรือชอบดูอะไรที่ให้ความรู้สึกเหมือนวิดีโอ 8 มม. ในท้ายเครดิต Super 8 ก็น่าจะดูได้สนุกดีเหมือนกัน
หนังเล่าเรื่องและเหตุการณ์ ไปพร้อมกับเรื่องราวของตัวละครและสถานการณ์ที่ต้องเผชิญได้สนุกดี และแม้ว่าอาจจะดูมีบางอย่าง รวมถึงตัวละครที่ดูเนิร์ดๆกิ๊กๆเพี้ยนๆจนหลายครั้งก็เป็นความน่าสนุกของเรื่องราวและตัวละคร มันก็ยังดูมีความเป็นธรรมชาติ ทั้งในการแสดงออกและยุคสมัยได้ดีทีเดียว และเมื่อถึงช่วงจังหวะที่เหตุการณ์ในหนังพลิกไปทางอื่น มันก็กลายเป็นความตึงเครียด และกลับความรู้สึกไปเป็นอีกอย่างได้อย่างน่าสนใจทีเดียว
ถือว่า แม้จะเป็นหนังทุนไม่สูง และเลือกใช้ภาพแบบกล้อง 8 มม.(รึ 16?) สมัยเก่า แต่ด้วยข้อจำกัดที่มี ทีมผู้สร้างอย่าง แมท จอห์นสัน (Matt Johnson) ผู้กำกับและร่วมเขียนบท และ จอช โบลส์ (Josh Boles) ที่เป็นผู้ร่วมเขียนบท ทั้งยังแสดงในหนังเรื่องนี้ด้วย ก็นำเอาทั้งศาสตร์ ความหลงใหล การแสดง การเล่าเรื่อง และข้อจำกัดที่มี มาผูกเข้ากับเรื่องราวอวกาศและทฤษฎีสมคบคิดออกมาเป็นผลงานหนึ่งชิ้น ที่ดูสนุก เพลิน น่าสนใจ ทั้งยังพูดถึงสิ่งที่เขาชมชอบเอาไว้ได้อีก แม้จะมีข้อจำกัดแต่ก็ได้ผลงานที่ครบถ้วนภายใต้ข้อจำกัดได้สนุกดีทีเดียว แม้อาจไม่ใช่หนัง Deepๆ แต่ที่ทำออกมาได้ขนาดนี้ ก็เยี่ยมไม่เบานะ
เป็นงานสนุกๆที่น่าพอใจ (ที่มีคะแนนพิเศษส่วนตัวให้นิดหน่อยด้วยอ่ะ) 7.5 คะแนน
แบบยาวๆ
เผลอๆอาจได้พูดถึง สแตนลี่น์ คูบริก ไว้อีกซักนิดแทนละมัง?... (แม้จะไม่รู้เมื่อไหร่?...)
นึกถึง
แล้วทำไม ทีมสร้างจึงมีความหลงใหลใน สแตนลี่ย์ คูบริก หนึ่งในตำนานและผู้กำกับจอมเนี๊ยบ?
ก็น่าลองหาชมหนึ่งในหนังเรื่องสำคัญ (ที่หลายคนก็บอกว่าสำคัญทุกเรื่องน่ะแหละ) และหนึ่งในตำนานภาพยนตร์อย่าง 2001: A Space Odyssey หนัง ค.ศ.1968 (สร้างจากงานประพันธ์ของหนึ่งในสุดยอดนักเขียนนิยาย Sci-Fi อย่าง Arthur C. Clarke) ที่พูดถึงการเดินทางในอวกาศที่มี 'ภาพ' สุดตระการ ล้ำ (และยังมีปรัชญาที่อาจทำให้หลายคนมึน - แต่ก็คงไม่อาจปฏิเสธมนต์มายาของ 'ภาพ' ที่เห็นของหนังได้) จนทุกวันนี้เราก็ได้รู้กันแล้วว่าเทคโนโลยีในปี ค.ศ.2001 ที่ผ่านมาก็ยังไม่อาจล้ำได้เท่ากับที่เห็นในหนัง หนังยังมีพาร์ทในห้วงอวกาศ (และอีกหลายอย่าง) ที่ดูสมจริง กระทั่งสภาพไร้น้ำหนัก แม้ว่าเทคโนโลยีภาพยนตร์จะย้อนหลังไปจากปัจจุบันกว่า 40 ปี (นึกถึงหนังอย่าง Gravity) และความจริงอีกเรื่องก็คือ หนังเรื่องนี้ปรากฏสู่สายตาสาธารณชน ก่อนที่อพอลโล 11 จะลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ ในปี ค.ศ. 1969 เสียอีก...
ยิ่งจำเรื่องนี้ไว้ก่อนดู คุณอาจจะยิ่งทึ่ง กับผู้กำกับ สแตนลี่ย์ คูบริก
และชีวิตและผลงานของของเขาที่ยังคงมีเรื่องน่าสนใจอีกหลายเรื่อง หลายคนอาจจะอยากค้นหาต่อเองแล้วก็เป็นได้...
สำหรับสายช่สงสงสัย ทฤษฎีสมคบคิด ลองอ่าน 10 ทฤษฎีจับผิด “อะพอลโล” ลงจอดดวงจันทร์ กัน เพลินๆก็แล้วกันนะ หุหุ...
ส่วนจะเชื่อรึไม่เชื่ออะไรยังไง... หาข้อมูลต่อกันเอาเองนะครับ.
แหะ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น