วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2559

[ภาพยนตร์ ,อนิเม] SEOUL STATION ก่อนนรกซอมบี้คลั่ง : Apocalypse Now !



แบบสั้นๆ
(อาจมีสปอยล์บ้างนะครับ)

จากความสำเร็จของหนัง live action ซอมบี้เกาหลีอย่าง Train to Busan ทำให้ผู้จัดจำหน่ายตัดสินใจนำเอาเรื่องราวก่อนหน้าเหตุการณ์นั้น ซึ่งยังกำกับโดยผู้กำกับคนเดิม Yeon Sang-ho แต่เป็นในรูปแบบอนิเมชั่นซึ่งตัวผู้กำกับเคยสร้างชื่อจากงานแขนงนี้มาก่อน ก่อนจะได้มากำกับ Train to Busan อย่างที่พูดถึงไว้ในตอนแนะนำหนังสยองป้ายหน้า(ตั้งแต่)กันยา59

จริงอยู่ว่าเมื่อเป็นหนังอนิเมชั่น ความรู้สึกในการชมก็น่าจะต่างไป หลายๆคนอาจไม่คุ้นชินการเสพอารมณ์ทั้งความน่ากลัวหรือดราม่าผ่านอนิมเชั่นในแบบเดียวกับหนัง live action คนแสดง แต่ผลงานของ Yeon Sang-ho ที่ผ่านมาและสร้างชื่อก็ล้วนเป็นงานในสายดราม่าทริลเลอร์ ซึ่งแม้ไม่เคยดู แต่ได้ดู Seoul Station แล้วก็ถือว่าเป็นผลงานรับประกันฝีมือในงานอนิเมชั่นของผู้กำกับได้ไม่น้อย เพราะถ้าเทียบกันจริงๆกับ Train to Busan แม้จะยอมรับว่ามันมีข้อเปรียบบางอย่างที่ทำให้สัมผัสกับภาพที่ให้ความรู้สึกตื่นเต้นน่ากลัวชัดเจนกว่า (และหนังก็ทำได้ดีจริงๆในหลายๆส่วน)

งานอนิเมชั่นของ Seoul Station เป็นงานลักษณะใกล้เคียงกับงานของทางญี่ปุ่น แม้อาจไม่เนี๊ยบเท่างานระดับท๊อปๆ แต่ก็เนี๊ยบในระดับมาตรฐานงานหลายๆเรื่องของฝั่งญี่ปุ่น และงานก็มีสไตล์เฉพาะตัวของตัวละครที่ให้ความรู้สึกเฉพาะต่างไปจากงานของญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็เล่าเรื่องโดยมีการออกแบบฉาก เฟรม การเคลื่อนไหว ให้มีอารมณ์ความรู้สึกของทั้งความระทึก กดดัน สิ้นหวัง ฯลฯ ได้ดีทีเดียว

แต่ถ้าเป็นส่วนของเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะเนื้อหาและความรู้สึกในเชิงดราม่า เรากลับรู้สึกว่ากระทบใจกับ Seoul Station มากกว่า คืออย่างที่เคยพูดถึงไปตอนเขียนถึง Train to Busan ว่าแม้หนังจะระทึกกดดัน และแจกแจงตัวละครได้ดี แต่ว่าก็ยังรู้สึกว่าหนังมีความจงใจบางอย่าง (จะว่าจงใจจะเท่นิดๆ หรือไม่บางทีก็จะเอาให้เศร้าก็ได้) แม้จะเล่าได้ดีแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกอยู่ในหลายจุดแม้ไม่มากจนไปทำลายความรู้สึกของเรื่อง รวมไปถึงประเด็นของเรื่องที่เอามาพูดด้วย คือ หนังเล่าเรื่องได้ดี แต่ส่วนที่เด่นส่วนนึงก็คือความรู้สึกในเชิงแอ็คชั่นการหลบหนีการไลล่า ซึ่งยิ่งเพิ่มความระทึกโดยเฉพาะในพื้นที่จำกัดอย่างรถไฟ
ส่วนใน Seoul Station แม้จะมีจุดที่รู้สึกอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่มากเท่า และก็พอจะกล้อมแกล้มหาเหตุผลในการกระทำได้มากกว่า แม้จะมีบางจุดที่ตะหงิดๆในทีแรก แต่เมื่อต้องคิดถึงการดิ้นรนเอาชีวิตรอด ก็ถือเป็นเหตุการณ์ที่เป็นไปได้เหมือนกัน

ความจริงเรื่องราวใน Seoul Station ก็ไม่ใช่จะส่งต่อไปยัง Train to Busan ตรงๆ เป็นเหมือนเหตุการณ์ในอีกที่นึงที่เรายังไม่ได้เห็นมากกว่า แต่ในขณะที่ Train to Busan เด่นในสิ่งที่พูดถึงไปแล้ว กลับรู้สึกว่าเรื่องราวประเด็นที่ถูกพูดถึงใน Seoul Station มีความเชื่อมโยงและกระทบใจมากกว่า

 เราอาจตอบได้ยากว่าในสมัยนานมาที่มนุษย์เราอาจอพยพเร่ร่อนและไม่มีคำว่า 'บ้าน' นั้น มันเป็นอย่างไร? หรือเราจะรู้สึกอย่างไรกับที่อยู่อาศัยของเรา แต่ในปัจจุบันคำคำนี้ได้กลายเป็นส่วนนึงในชีวิตและวัฒนธรรมของเราไปแล้ว และคำว่า เมือง ก็เช่นกัน

และเมื่อมันพูดถึง เมือง ที่เป็นรากฐานในชีวิตสังคมและอารยธรรมในหลายส่วนของโลกที่มนุษย์อาศัยอยู่ในปัจจุบัน ตัวละครหลักๆใน Seoul Station มีความน่าสนใจที่แตกต่างไปจาก Train to Busan ไปอีกแบบ เมื่อทุกคนต้องดิ้นรนเพื่ออาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการอยู่ในเมืองนั้นมี 'ต้นทุน' และต้องใช้ต้นทุนถึงระดับหนึ่งถึงจะอาศัยเมืองเป็น ที่อยู่อาศัย ได้อย่างเป็นกิจลักษณะ ซึ่งส่งผลถึงการดำเนินชีวิตและคุณภาพชีวิตด้วย นี่เป็นสิ่งที่มาคู่กับการสร้างอารยธรรมเมืองของมนุษย์ และยิ่งในเมืองที่มีค่าครองชีพสูง ความต่างระหว่างคนที่มีต้นทุนถึงกับไม่ถึง หรือมีกับไม่มี ก็จะยิ่งมากขึ้น และส่งผลกระทบถึงรูปแบบชีวิตและคุณภาพชีวิตมากขึ้นด้วย แม้จะเป็นที่ที่เคยอยู่ บ้านที่เคยอยู่ แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไปก็อาจจำต้องย้ายไปอยู่ในที่ที่มีต้นทุนน้อยกว่า กลับกัน หลายคนก็ยังมองเมืองเป็นที่ที่จะเข้ามาค้นหาโอกาสหรือแสวงโชค โดยไม่รู้ว่าจะหันหลังกลับได้หรือไม่?

ขณะเดียวกันเมื่อมีการสร้างเมืองและระบบการปกครองขึ้น เมืองก็มีต้นทุนที่ต้องคอยดูและความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย ซึ่ง ใคร ที่จะอยู่ภายใต้การดูแลเหล่านี้ก็ขึ้นกับว่าสถานการณ์ที่ต้องเข้าจัดการเป็นอย่างไร? ในอุดมคติเราก็เชื่อว่าทุกคนจะได้รับการปกป้องคุ้มครองที่ดีเท่าเทียมถ้วนหน้ากัน แต่มันก็ไม่ง่ายอย่างนั้น และในอีกทางหนึ่งคนที่คอนปกป้องคุ้มครองคนที่อาศัยในเมืองก็เป็นคนที่ต้องเผชิญกับหน้าที่เช่นกัน ถ้าเราอยู่ในกลุ่มที่อยู่นองวงของการตกเป็น กลุ่มต้องสงสัย เราก็อาจมองอย่างหวาดหวั่นและหวาดระแวง แต่ถ้าเราตกอยู่ในกลุ่มต้องสงสัย เราอาจตกอยู่ภายใต้การกักกันและความกลัว ถึงตอนนั้นเครื่องไม้เครื่องมือที่คนสร้างมาให้มีอำนาจต่อต้านหรือทำลายก็มีโอกาสถูกนำมาใช้

ส่วนซอมบี้ เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นจากอะไร? หรือทำไม? รู้เพียงพฤติกรรมของมันที่จะไล่ล่าและกัดกินเท่านั้น ว่าไปมันก็เหมือนกับการตัดออกซึ่งทุกสิ่งที่กลายไปเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิต ทั้งไลฟ์สไตล์ รสนิยม การงาน สถานะทางสังคม กระทั่งบ้าน ฯลฯ ให้เหลือเพียงการหากินเท่านั้น หรือจะรวมถึงการแพร่พันธุ์ที่ต่างไปจากการแพร่พันธุ์ในรูปแบบเดิมด้วย?! ดูเหมือนก็ตอบได้ยากว่าสิ่งที่เห็นในหนังเป็นเหมือนซอมบี้นั้นควรถูกเรียกว่าเป็นสิ่งมีชีวิต(?)ชนิดไหน? จัดเป็นมนุษย์หรือไม่? หรือเป็นสิ่งอื่น?

อย่างไรก็ตามแม้ไม่ต้องมีเรื่องราวของสิ่งอื่นที่ว่า ไม่ต้องมีซอมบี้ สถานการณ์ของการใช้ชีวิตและต้นทุนในการอยู่อาศัยในเมืองก็มีอยู่จริงในตอนนี้แล้ว และเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น การต่อต้านกักกันหรือควบคุมก็สามารถเกิดขึ้นได้ และส่วนใหญ่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่มันจะเป็นการใช้กับมนุษย์ด้วยกันนี่เอง และอาจไม่ต้องพูดถึงถ้าสิ่งที่ต้องโจมตีนั้นไม่ใช่มนุษย์หรือน่าสงสัยว่าอาจไม่ใช่มนุษย์? ห้องตัวอย่างหรูหราไว้ให้คนคอยเข้าชมอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อน ต้นทุน ในการอยู่อาศัยในเมืองได้อย่างดี เมื่อมันจัดไว้สวยงามเพื่อให้คน (ที่มีต้นทุน) เข้าชม และในช่วงเวลาปกติมันก็เป็นของโชว์ดูหรูหราที่ไม่ได้มีไว้เพื่อให้อาศัย ในยามที่ไม่มีผู้เข้าชม ท่ามกลางความมืด มันจึงยิ่งดูยอกย้อนและหลอกหลอนอย่างยิ่ง...

หลายครั้งก็ดูเหมือนอารยธรรมเพิ่มความสะดวกสบายและมาตรฐานชีวิตให้สังคมมนุษย์มากกมาย แต่ในอีกด้านมันก็เพิ่มต้นทุนและความต่างในการอยู่อาศัยภายใต้ความสะดวกสบายเหล่านี้ขึ้นมาด้วย จนในบางระดับ เราอาจไม่รู้สึกตัวเลยก็ได้ว่า โลกาวินาศ อาจเกิดขึ้นตอนไหนจริงๆ? หรือสำหรับบางคนมันอาจเกิดขึ้นตอนนี้แล้ว?...

เป็นปีที่มีกลุ่มหนังซอมบี้พันธุ์เอเชียออกมาหลายเรื่อง และก็ชอบทั้งหมด ไม่อยากให้ใครเกินหน้าใครเลยขอให้เท่ากันหมด Train to Busan เด่นในเรื่องภาพของความชิหาย แต่ชอบ Seoul Station มากกว่าในเรื่องของประเด็นและความรู้สึกครับ 8.1 คะแนน  และสำหรับคนที่ยังไม่เคยดู I am a Hero จากมังงะญี่ปุ่น ก็ขอแนะนำจริงๆ ประเด็นอาจไม่ชัดหรือดราม่าอาจไม่เทรดดิชั่นเท่าสองหนังจากเกาหลี (ที่มีผู้กำกับคนเดียวกัน) แต่ด้านความเฉพาะตัวกับความชิหายนี่ (แม้ว่าจริงๆอารมณ์หนังกับมังงะจะต่างกันอยู่ก็เถอะ แต่ความชิหายยังมาเต็มอยู่ดี) ยกให้ (แถมดันเป็นจุดที่เอามาหักคะแนนเขาด้วยหน้าตาเฉย... จนทุกเรื่องก็ต้องมาแหมะคะแนนไว้แถวๆนี้เพื่อไม่ให้เกินหน้ากัน โคตะระจะรักพี่เสียดายน้องซะงั้น... - -")  


แบบยาวๆ 
มันมีซักกี่เรื่องที่เขียนสั้นๆจริงๆเนี่ย...



นึกถึง
ด้วยการประสบความสำเร็จของ Train to Busan ทำให้มีข่าวการเตรียมสร้างภาคต่อไปเรียบร้อย แถมยังมีข่าวการขอเจรจาซื้อไปรีเมกจากค่ายอเมริกาและฝรั่งเศสอีก (อ่านข่าวได้จาก ที่นี่) แถมมีข่าวว่าภาคต่ออาจจะเป็นเรื่องราวของ พี่ล่ำ สุดเท่บนรถไฟด้วย! (อ่านข่าวดูจาก ที่นี่)


และ เมื่อมองยอ้นกลับไป ที่ต้นกำเนินดหนังซอมบี้ ก็ต้องยอมรับว่าบิดาหนังซอมบี้อย่าง จอร์จ เอ. โรเมโร่ นี่ทำหนังซอมบี้มาโดยมีประเด็นที่เฉียบคมและรอบด้านอย่างน่าทึ่ง เพราะการที่หนังซอมบี้ไม่ได้พาเราไปไกลจากรูปรอยที่มีมาก่อนเท่าไหร่ (อาจรวดเร็วว่องไวขึ้น หรือมุ้งมิ้งมากขึ้น มีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป สเกลใหญ่ขึ้น ฯลฯ) ก็เพราะชุดหนังซอมบี้ Of the Dead ของโรเมโร่เอง ก็นำประเด็นหลายต่อหลายประเด็นมาเล่าไว้แล้วอย่างน่าสนใจด้วยกันทั้งนั้น เพราะงั้น ก็น่าจะไปพูดถึงหนังซอมบี้ของ บิดาหนังซอมบี้อย่าง จอร์จ เอ. โรเมโร่ กันซักที!
โปรดติดตาม (เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น...)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น