วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

[ภาพยนตร์] THE DANISH GIRL เดอะ เดนนิช เกิร์ล : ใครกันที่ฉันรัก?...


THE DANISH GIRL เล่าเรื่องของคู่สามี-ภรรยาศิลปินชาวเดนมาร์ก ไอดาร์-เกอร์ดา เวเกเนอร์ สามีเป็นจิตรกรภาพทิวทัศน์ผู้มีชื่อเสียง ขณะที่ภรรยาเป็นจิตรกรภาพ PORTRAIT ที่ยังพยายามหาพื้นที่และตัวตนในโลกของวงการศิลปะ ทั้งคู่ดูเป็นคู่สามีภรรยาที่มีความสุขดี ในขณะที่ฝ่ายชายออกจะไม่ชอบออกงานสังคมหรือพบปะผู้คนนัก แม้จะด้วยบทบาทศิลปินก็ตาม ภรรยาดูจะช่างพูดช่างคุยและกระฉับกระเฉงกว่า จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อเพื่อนหญิงที่สนิทสนมกับครอบครัวไม่มาตามนัดในการมาเป็นแบบวาดภาพ ภรรยาจึงอ้อนวอนขอร้องสามีให้มาเป็นแบบแทน ขอร้องให้เขาสวมถุงน่องรองเท้าของผู้หญิง และชุดผ้าอาภรณ์ที่แบบเคยใส่มาทาบทับตัวไว้ เพื่อนหญิงที่ตามมาเห็นจึงตั้งชื่อให้เธอผู้มาเป็นแบบแทนว่าลีลี่ ตั้งแต่วันนั้น ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นกับไอนาร์ผู้เป็นสามี และมันก็ส่งผลมาถึงเกอร์ดาผู้เป็นภรรยาด้วย อย่างที่เรียกว่าชีวิตของทั้งสองจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป...

ภาพยนตร์เป็นการกำกับของ ทอม ฮูเปอร์ ผู้มีผลงานคว้าออสการ์อย่าง THE KING'S SPEECH รวมไปถึงหนังเพลงอย่าง Les Misérables

นอกจากเนื้อเรื่องที่หนักหน่วง สิ่งที่โดดเด่นในหนังคือการแสดงของสองดารานำ เอดดี เรดเมย์น และ อลีเซีย วิกันเดอร์ การแสดงของ เอ็ดดี้ เรดแมร์ ที่เพิ่งคว้าออสการ์นำชายไปในปีที่แล้วจากบท สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง ใน THEORY OF EVERYTHING เป็นอีกครั้งที่เขาต้องเปลี่ยนตัวเองไปเป็นการแสดงที่ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและการแสดงออก จากบทบาทของ สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง ที่ความเจ็บป่วยทำให้มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวและการพูด มาเป็นบทบาทของ ไอนาร์ และ ลีลี่
เอดดี เรดเมย์น ยังคงให้การแสดงในรายละเอียดต่างๆได้อย่างน่าทึ่ง ในบทบาทของจิตรกรไอนาร์ที่แม้จะเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงแต่ก็ดูไม่ได้มีความสุขความอยากในการออกงานสังคมนักแต่ยังดูมีความสุขเมื่ออยู่กับภรรยา แม้จะดูเหมือนมีความเคลือบแคลงใจอะไรบางอย่างอยู่เสมอ จนกระทั่งเข้าสู่บทบาทของลีลี่ที่ค่อยๆมีการเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยจนกลายไปเป็นลีลี่อย่างเต็มตัว ทั้งความรวดร้าวในตอนที่รู้ว่าตัวเองค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป ทั้งความมั่นใจที่จะยืนยันว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการคืออะไร ความขวยอาย ความปรารถนา ทั้งท่าทางการแสดงออกที่เปลี่ยนไป

อีกหนึ่งคือการแสดงจาก อลีเซีย วิกันเดอร์ ในบทภรรยา ที่ดูจะมีความมั่นอกมั่นใจและความกระฉับกระเฉงกว่าทั้งเมื่ออยู่กับคนรอบข้าง หรือสามี ทั้งยังมีความทะเยอทะยานในฐานะศิลปิน จนเมื่อถึงจุดหนึ่งเมื่อความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ความปวดร้าว ไม่เข้าใจ ไม่ยอมแพ้ ที่เธอแสดงออกปะปนกันไปในช่วงเวลาเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้คนดูอย่างเราระลึกได้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบใหญ่หลวงกับเฉพาะกับ ไอนาร์-ลีลี่ อย่างเดียว แต่เกิดขึ้นกับเธอด้วย และกลับกันในขณะที่ ไอนาร์-ลีลี่ ดูจะเข้าใจและมั่นอกมั่นใจกับการที่รู้ว่าตัวเองนั้นจะเป็นอะไรหรือเป็นใคร กลับเป็นเธอที่ในขณะที่มีชื่อเสียงจากภาพ PORTRAIT ของลีลี่ เธอกลับไม่มั่นใจไม่อาจเข้าใจและรวดร้าวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มันเป็นเรื่องของเธอพอๆกับที่เป็นเรื่องของ ไอนาร์-ลีลี่ อย่างที่แสดงให้เห็นในโปสเตอร์ เรื่องของผู้หญิงสองคน ความรัก-และความรวดร้าวของทั้งสองคน


สำหรับแง่ของการเล่าเรื่อง ศาสตร์ภาพยนตร์ (รวมไปถึงโปรดักชั่น เสื้อผ้าหน้าผม และอื่นๆ) การกำกับ และการแสดง พูดได้ว่าจัดการได้เป็นอย่างดี

ในอีกด้าน แง่ของภาพยนตร์ จะว่าไปแล้วดูเหมือนเรื่องราวที่ถูกเล่าจะดูมีการร้อยเรียงเรื่องราวความเป็นมา กระทั่งดูมีเหตุและผลหลายอย่างที่เคลือบแฝงไว้ให้ผู้ชมเข้าใจเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ (ตรงนี้จะสปอยล์แล้วนะครับ) ตั้งแต่ระหว่างสามี-ภรรยา เวเกเนอร์ ที่ดูเหมือนแม้ฝ่ายสามีจะเป็นจิตรกรผู้ประสบความสำเร็จมากกว่าภรรยา แต่ในเรื่องของความสัมพันธ์ดูเหมือนว่าฝ่ายที่แสดงความกระฉับกระเฉงมั่นอกมั่นใจละควบคุมมากกว่าจะเป็นในฝ่ายภรรยา ที่ทำให้ดูเหมือนเป็นบทบาทนำไปโดยปริยาย ฝ่ายชายยังดูไม่มั่นอกมั่นใจและไม่ชอบเข้าสังคมนัก กลับเป็นฝ่ายภรรยาที่ดูจะเป็นฝ่ายคอยผลักดัน รวมไปถึงควมคาดหวังจากคนอื่นๆในแวดวงที่ดูจะคอยกดดันเขาอยู่เสมอ ในระดับหนึ่งจึงดูเหมือนว่าเขาไม่อาจเข้าได้กับบทบาทที่สังคมมอบให้ รวมไปถึงบทบาทของการเป็นสามี และผู้ชายในสังคม (ซึ่งมี 'รูปแบบ' ในสังคมรวมถึงในแวดวงหนึ่งๆประมาณหนึ่ง) ด้วย ดังนั้นดูเหมือนว่ามันเป็นสาเหตุหนึ่งที่บุคลิกและบทบาทในการเป็นผู้ชายและสามีที่สังคมกล่อมเกลาไว้จะกดดันความเป็นตัวเองของเขาหรือทำให้เกิดความไม่มั่นใจขึ้น (ในบทบาทของคู่ครองก็ดูเหมือนภรรยาจะเป็นผู้นำหรือก็คือบทบาทของสามีตามการคาดหวังของสังคมได้ดีกว่า)

ถึงจุดนี้ความเป็นเหตุเป็นผลซึ่งปรากฎ ในแง่หนึ่งอาจทำให้ผู้ชมติดตามเรื่องราวหรือเข้าใจเรื่องราวและอาจรู้สึกยอมรับหรือรู้สึกร่วมไปกับตัวละครได้มากขึ้น ก็อาจทำให้เกิดคำถามถึงความเป็นเหตุเป็นผลของมันว่ามันร้อยเรียงกันเป็นเรื่องที่สอดคล้องเหมาะเจาะกันได้เท่านี้จริงหรือ? ก่อนที่ต่อมาเมื่อเริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับไอนาร์แล้วหนังจะพยายามโยงไปถึงเรื่องราวหนหลังของฝ่ายชายที่ดูจะมีบางอย่างผูกพันอยู่กับทิวทัศน์ของบ้านเกิด และเรื่องราวความหลัง ว่าความจริงลักษณะบางอย่างของความเป็นผู้หญิงนั้นดูจะปรากฎในตัวของไอนาร์อยู่ก่อนแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ว่าแม้พยายามอยู่ในกรอบเกณฑ์ของสังคม แต่ความเคลือบแคลงยังคงอยู่กับตัวไอนาร์มาตลอด การที่ไอนาร์เข้ากันได้ดีกับเกอร์ดาก็อาจเป็นเพราะเกอร์ดาเป็นผู้เล่นบทบาทนำให้ (ซึ่งตนเองอาจไม่ถนัด) เช่นการแสดงออกถึงความสนใจและเข้ามาทำความรู้จักก่อน แต่ความเคลือบแคลงนี้ยังคงอยู่ตลอดเวลา และอาจยิ่งถูกขยายใหญ่ขึ้นเมื่อต้องปะทะกับสังคมในบทบาทของการเป็นศิลปิน (ที่มีคู่ครอง) ที่ประสบความสำเร็จมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

คำถามที่ว่า 'เรื่องจริง' ที่เกิดขึ้นนั้นมีความเป็นมาเป็นไปสอดคล้องกันขนาดที่เราเห็นปรากฎในหนังหรือไม่นั้นดูจะตอบได้ยาก อย่างไรก็ตามภาพยนตร์นั้นมีฐานเป็นนิยาย (fictional novel) ในชื่อเดียวกัน (หรือก็คือเรื่องแต่งน่ะแหละ ไม่ได้เป็นเชิงสารคดีอะไรแบบนั้น) ซึ่งอิงมาจากชีวิตจริงของคู่สามี-ภรรยา ไอดาร์-เกอร์ดา เวเกเนอร์ อีกที จึงอาจเป็นผลให้ภาพยนตร์ทำให้เรารู้สึกว่าสามารถติดตามได้ง่ายพร้อมกับบางคนอาจมีความรู้สึกว่ามันชัดเจนขนาดนี้เลยหรือ? ไปด้วยก็ได้ อย่างไรก็ตามในแง่ภาพยนตร์แล้วถือว่าไม่ได้มีอะไรให้ต้องติติงกันนักอย่างที่บอก

ความจริงเมื่อพูดถึงการต้องแบกรับบทบาทหน้าทีที่คาดหวังจากสังคมแล้ว (ซึ่งไม่เฉพาะเรื่องของเพศสภาพ) คนส่วนใหญ่ในสังคมก็คงเรียกได้ว่าอยู่ในสถานะเช่นนี้เหมือนกัน ต่างกันแค่ว่าใครจะจัดการกับมันได้ขนาดไหน บางคนอาจไม่สนใจเลยก็ได้ หรือบางคนอาจสนใจจนกระวนกระวายและกดดันกับสถานะที่เป็นอยู่ตลอดเวลา หรือบางคนอาจยินดีที่จะรับ และบางคนก็อาจจะหาทาง 'เล่น' กับความคาดหวังเหล่านี้ได้อย่างรู้งานมากกว่าหลายๆคนก็ได้

ข้อสังเกตในเรื่องนี้อีกเรื่องก็เลยเป็นเรื่องของ บทบาท เหมือนกัน คือ ความเป็นผู้หญิง-ผู้ชายในสังคมนั้น ความจริงดูเหมือนว่ามันก็ถูกฟอร์มด้วยอะไรๆหลายๆอย่าง(แม้ว่าอาจจะมีรายละเอียดเปลี่ยนไปในแต่ละยุคด้วยเหตุต่างๆ) ทั้งชุดแต่งกาย  บทบาทสถานะ นิสัยใจคอท่าทางการแสดงออก ไปจนถึงอาชีพ ดังนั้นมิติในเรื่องของเพศสภาพหรือรสนิยมบางทีก็ดูเหมือนจะเพิ่มความซับซ้อนขึ้นด้วยสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เมื่อดูในภาพยนตร์ จึงอาจเกิดคำถามขึ้นได้เหมือนกันว่าสิ่งที่เห็นบนจอนั้นเป็นไปเพื่อสร้างความรู้สึกร่วมหรือสร้างความต่อเนื่องที่มาที่ไปของการเปลี่ยนแปลงของตัวละคร เมื่อเราเห็นหลายๆอย่างจากบางฉาก เช่น ในฉากที่ไอนาร์พยายามเลียนแบบท่าทางของผู้หญิงทั้งการขยับมือไม้ไปจนการเคลื่อนไหวร่างกายกระทั่งความเย้ายวน รวมไปถึงเรื่องอย่างเสื้อผ้าอาภรณ์ หรือกระทั่งเรื่องของอาชีพ กลายเป็นว่าในตอนที่เป็นลีลี่แล้วแม้จะไม่กลับไปทำงานของจิตรกรอีก แต่ลีลี่ยินดีที่จะทำงานอื่น(ซึ่งมีเพื่อนร่วมงานเป็นผู้หญิง)ซึ่งต้องอยู่ท่ามกลางผู้คน ซึ่งก็อาจลองอธิบายได้เหมือนกันว่าอาจเพราะขณะนี้ลีลี่อยู่ในสภาพที่เป็นตัวของตัวเองอย่างสมบูรณ์แล้ว จึงไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะอยู่ท่ามกลางสังคม เนื่องจากเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ และในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงสลัดความทรงจำเก่าก่อนซึ่งเกี่ยวพันกับบ้านเกิดทิ้งไปได้ และไม่ปรารถนาจะนึกย้อนไปถึงมันในตอนนี้ผ่านงานจิตกรรมอีก หรือไม่ลีลี่ก็กำลังทั้งอยากแสดงความเป็นตัวเองและกำลังตื่นเต้นกับบทบาทใหม่ที่ไม่เคยได้ทำได้แสดงออกอย่างเต็มที่

แม้ว่ามันอาจจะเป็นคำถามว่า นั่นเป็นการต้องการเปลี่ยนเป็นผู้หญิงตามรูปลักษณ์ที่เห็นในสังคมหรือเป็นบทบาทของผู้หญิงที่ถูกหล่อหลอมจากสังคมหรือไม่? ตัวละครที่น่าสนใจอีกหนึ่ง คือ ตัวละครที่เข้ามาติดพันลีลี่ตั้งแต่แรกๆ ก่อนที่ภายหลังเมื่อลีลี่เป็น 'ผู้หญิง' มากขึ้นจะพบความจริงว่าตัวละครตัวนี้ไม่ได้หลงใหลลีลี่ที่เป็นหญิง แต่หลงใหลลีลี่ในสภาพกึ่งๆในตอนแรกเท่านั้น ตัวละครนี้ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนให้กับเนื้อเรื่อง (รวมไปถึงประเด็นดราม่าด้วย) และยิ่งเป็นคำถามในอีกฝั่งฟากว่าสิ่งที่ทำให้เขาหลงใหลในตัวลีลี่ในตอนแรกนั้นเป็นเรื่องของความแตกต่าง ความไม่เหมือนคนอื่น หรือความชอบหรือรสนิยมส่วนตัว? และในทางกลับกันมันเป็นเช่นนั้นด้วยหรือไม่สำหรับลีลี่? ตัวละครตัวนี้แม้จะมีท่าทีเปลี่ยนไป แต่ก็ได้กลายเป็นเพื่อนคนหนึ่งของลีลี่ในฐานะที่เป็น 'คนกลุ่มน้อย' ที่รู้สึกว่าตนเองแตกต่างไปจากกรอบเกณฑ์ทั่วไปของสังคม แต่เดิมพันของลีลี่ก็สูงนัก เมื่อพบว่า ณ จุดหนึ่งการที่ตนเองเป็นเช่นนี้คือความแตกต่างทำให้รู้สึกว่าไม่อาจเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ และขณะเดียวกันเมื่อเสี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองชนิดถอนรากถอนโคนกระทั่งเดิมพันด้วยชีวิต ตนเองจึงจะสามารถกลับเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างเต็มใจ

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ดูจะทิ้งคำถามไว้มากมาย และไม่รู้ว่าเป็นเพราะต้องการสร้างที่มาที่ไปหรือเหตุผลในเชิงดราม่าหรือเปล่า? จึงทำให้รายละเอียดของเรื่องราวของลีลี่ออกมาในรูปรอยนี้ และไม่รู้ว่าเป็นเพราะสิ่งที่เห็นในภาพยนตร์นั้นนำมาจากนิยายหรือเปล่าหรือแค่ไหน มันจึงมีท่าทีเช่นนี้ (ซึ่งก็แน่นอนว่าสามารถใช้คำถามนี้กับตัวนิยายได้เช่นกัน)

อย่างไรก็ตามการแสดงของ เอดดี เรดเมย์น ถือว่าไม่มีอะไรให้ต้องติกันอย่างที่บอก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเติมชีวิตให้กับทั้ง ไอนาร์ และ ลีลี่ ให้ผู้ชมรู้สึกสัมผัสได้

ขณะเดียวกันเมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ตนเองดูจะไม่เข้าใจ กระทั่งไม่สามารถจะยอมรับได้ ความเจ็บปวดของ เกอร์ดา เป็นสิ่งที่ อลีเซีย วิกันเดอร์ ถ่ายทอดออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งความมั่นอกมั่นใจกระฉับกระเฉงที่เป็นตัวตนของเธอ ความไม่มั่นใจ ความหวั่นไหวกระทั่งหวาดกลัว และความมุ่งมั่นที่อยากจะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อว่าจะได้ 'สามี' คืนกลับมา ทั้งอาจยังมีความรู้สึกติดในใจว่าส่วนหนึ่ง อาจเป็นความผิดของเธอที่ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นแบบนี้ ทั้งจากเรื่องราวที่ผ่านมาระหว่างเธอกับสามีและการ 'เล่นสนุก' ของเธอที่ไม่คิดว่าจะทำให้เรื่องราวเลยเถิดเกินเขตที่จะคาดคิดไปได้อย่างไร ความเข้มแข็งและมุ่งมั่น กระทั่งไม่ยอมแพ้แม้เมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นไปอย่างที่หวัง จนท้ายที่สุดการต้องยอมรับว่าเธอคงไม่มีทางได้สามีคืนมาอีกแล้ว... กระนั้นเธอก็ยังอยู่เคียงข้าง ยังอยากอยู่เคียงข้างเขา อาจจะทั้งเขาและลีลี่ เมื่อทั้งสองดูเหมือนว่าจะเป็นคนคนเดียวกัน ตลอดไป...

แม้ว่ากระทั่งเราอาจมีคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องของลีลี่ แต่ในอีกทางหนึ่งเราก็ยังสามารถสัมผัสรับรู้ความรู้สึกของ เกอร์ดา ได้ ว่าความเจ็บปวดของเธอเป็นของจริง

ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงหยิบยกเรื่องที่ดูราวกับเรื่องราวที่ดูราวกับยิ่งกว่าชีวิตจริงมาถ่ายทอด แม้จะผ่านสื่อกลางในรูปของนิยายจากเรื่องราวจริงอีกทอดหนึ่งมาก็ตาม และแม้อาจจะทิ้งคำถามไว้มากมาย ซึ่งอาจนำไปสู่ประเด็นถกเถียงและพูดคุยกันได้ต่อไป นอกจากศาสตร์ทางภาพยนตร์ที่ทำได้อย่างดี ไม่น่ามีอะไรต้องติติงกันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่กล่าวได้ว่ายอดเยี่ยมจริงๆก็คือเรื่องของการแสดง ซึ่งนักแสดงนำทั้งสองนำชีวิตไปสู่ตัวละครที่เขาและเธอรับบทบาทจนผู้ชมสัมผัสได้ถึงชีวิตของตัวละครนั้นจริงๆ 8.8 คะแนน  


นึกถึง

ความจริงถ้านับเป็นเรื่องราวของศิลปิน ดูเหมือนมีภาพยนตร์หลายเรื่องที่กล่าวถึงชีวิตของศิลปิน และส่วนหนึ่งก็กล่าวถึงเรื่องของสามีภรรยาศิลปิน เช่น BIG EYES แต่ในทีนี้ภาพยนตร์ดูจะสื่อเน้นไปที่เรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงของไอนาร์-ลีลี่มากกว่า และแม้ว่าในปัจจุบันเรื่องเหล่านี้อาจจะดูเป็นเรื่องที่ปรากฎให้เห็นมากขึ้นแต่ในยุคสมัยนั้นทั้งเรื่องของการแพทย์หรือเรื่องของสังคมอาจจะขาดความพร้อมและน่ากลัวมากกว่านี้มากมายนัก

แม้เรื่องราวของลีลี่จะดูราวกับเป็นนิยายมากกว่าเรื่องจริง แต่ความจริงแล้วในประวัติศาสตร์ยังปรากฎเรื่องราวที่อาจจะเหลือเชื่อกว่าที่คิดไปอีกก็ได้ เช่น เรื่องของคนที่เกิดมาและถูกวินิจฉัยว่าเป็นผู้หญิงและใช้ชีวิตแบบผู้หญิงมาตลอด ต่อมาถูกวินิจฉัยว่าเป็นผู้ชาย และต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบผู้ชาย อย่าง Herculine Barbin ด้านซ้ายเป็นปกหนังสือฉบับแปลภาษาอังกฤษจากบันทึกความทรงจำ (memoirs) ของ Herculine Barbin จากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น