หนังดูจะกล่าวถึงโลกอนาคตที่เล่าเรื่องราวในที่อยู่อาศัยแห่งหนึ่งซึ่งเป็นตึกสูง โดยเริ่มนำเรื่องให้เรารับรู้จากการติดตามการเข้าอยู่ในตึกของนายแพทย์คนหนึ่ง และเริ่มนำเราไปพบกับผู้อยู่อาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกในตึกแห่งนั้น ซึ่งมีทั้งคนในหลายความคิดทัศนคติ และสถานะ ในชั้นล่าง และชั้นบน ของตึก
ก่อนที่ความโกลาหลและหายนะจะตามมา
ตัวหนังนำเสนอโดยให้ความรู้สึกเหมือนหนังเซอเรียลลิสต์อยู่หน่อยๆ ซึ่งให้บรรยากาศบางอย่างที่ดูหลุดจากความเป็นจริงไป และหลายๆอย่างในหนังก็ไม่ได้พยายามบอกให้เราเข้าใจทั้งหมด ทั้งเกี่ยวกับตัวตึก หรือปัญหาต่างๆที่บ่มเพาะมาในตึกสูงซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกันของหลายคนและหลายครอบครัวในตึกแห่งนี้
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหนังมีแต่ส่วนที่เราไม่เข้าใจ หรือไม่แน่ใจ หรือต้องปะติดปะต่อและต่อเติมเรื่องราวส่วนใหญ่เข้าด้วยกันเองและนำเสนอแค่ชิ้นเล็กชิ้นน้อยให้เราดูในหนัง (ไม่ขนาดหนังเรื่องหลังๆของ เทอเรนซ์ มาลิค อย่าง TREE OF LIFE, KNIGHT OF CUPS อะไรแบบนี้) แม้หนังจะไม่ได้แสดงหลายๆอย่างให้ชัดเจน แต่หนังก็ยังปล่อยให้ผู้ชมสัมผัสรับรู้เรื่องราวหลายอย่างของตัวละคร ทั้งอาชีพ ภาพในการทำงาน ลักษณะนิสัย คนในครอบครัว ความเป็นมาของบางตัวละคร ฯลฯ ช่วงแรกในหนังจึงเป็นส่วนที่ติดตามยากซักหน่อยสำหรับคนดู
ขณะเดียวกันขณะที่มีเรื่องราวให้ได้ปะติดปะต่อเพิ่มมากขึ้น เรื่องราวความโกลาหลก็สอดแทรกมาจนแม้เรื่องราวตัวละครที่เรารับรู้จะไม่ได้ชัดเจน ความวายป่วงก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว
และแม้เราจะจับรายละเอียดของความโกลาหลเหล่านี้ไม่ได้ชัดเจนพอๆกับเรื่องราวของตัวละคร แต่เราก็รับรู้บางอย่างได้ และสิ่งที่เราดูเหมือนจะรับรู้ได้ชัดเจนที่สุดคือความตึงเครียดของตัวละคร เรารูัว่าการเข้ามาอยู่ในตึกนี้ได้ต้องอาศัยโอกาสและทรัพยากรประมาณหนึ่ง เรารู้ว่ามีคนหลายประเภทอยู่รวมกันในที่นี้ และเรารู้ว่ามีหลายอย่างที่แบ่งคนเหล่านี้ออกเป็นกลุ่มๆภายใต้ที่อยู่อาศัยเดียวกัน เรารู้ว่ามีกฏเกณฑ์บางอย่างกำกับการอยู่ร่วมกันในตึกนี้ ฯลฯ และเรารู้ว่าความตึงเครียดเกิดขึ้นกับหลายตัวละครด้วยหลายสาเหตุ
และเราก็รู้ว่าจริงๆโลกในตึกสูงนี้ก็มีอะไรๆหลายๆอย่างคล้ายๆโลกที่เรารู้จัก
ในแง่ของที่อยู่อาศัยแม้ว่าจะด้วยความจำเป็นในด้านทรัพยากรอันจำกัด รูปแบบของที่อยู่อาศัยที่ยืดยาวไปข้างบนจึงดูเหมือนจะมีอะไรบางอย่าง 'เหมาะสม' และ 'จำเป็น' แต่มันก็เป็นไปได้ที่จะสร้างค่าที่ไม่เท่าเทียมกันขึ้นมาได้จากสภาพเช่นนี้จากความสูงต่ำของมัน แม้ว่ามันจะอิงกับประโยชน์ใช้สอยหรือด้านอื่นๆก็ตาม (เช่น ความสะดวกจากการเข้าถึง หรือวิว ฯลฯ) และสิ่งเหล่านี้ก็ไปเกี่ยวข้องกับสถานะของตัวละครที่อาศัยร่วมกัน ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรร่วมกันในตึก (เช่น ทางเข้า-ออก ไฟฟ้า น้ำ พิ้นที่ใช้สอย) และในเรื่องของสถานะ ก็ยังมีวิธีในการแบ่งแยกสถานะ และกลุ่มเกิดขึ้น (เช่น ปาร์ตี้ ธีมในปาร์ตี้ ) ทั้งเหมือนจะใช้ความสูง-ต่ำเป็นตัวแบ่งแยกสถานะ กระทั่งเมื่อมีการพยายามใช้กฏเกณฑ์เข้าควบคุมพื้นที่สาธารณะซึ่งใช้ประโยชน์ร่วมกัน ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นชนวนของการ 'ต่อสู้'
จริงๆแล้ว เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสภาพสังคมที่เราสร้างขึ้น เราจำต้องพึ่งคนอื่นเสมอ แม้เพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นต่ำทั้งหลายในชีวิต หรือเราอาจใช้คำว่าเราจำต้องหาประโยชน์ระหว่างกันก็ได้ ในขณะเดียวกันมันก็มีหลายสิ่งที่เราสร้างมายาขึ้นมาเพื่อรับใช้หรือตอบสนองความต้องการของเรา ซึ่งอาจเป็นไปเพื่อแสดงสถานะ หรืออะไรก็ตาม เช่น การรำลึกอดีต เครื่องดื่มชั้นสูง การอยู่ในที่สูง ฯลฯ และบางครั้งมันก็สะท้อนกลับไปเป็นการรู้สึกว่ามีสิทธิ์อะไรบางอย่างควบคู่มากับมัน หรือถ้าไม่มีเราก็สามารถสร้างขึ้นมาได้ตามสิ่งที่เราเห็นว่าเหมาะสม จนบางครั้งเราอาจไม่เห็นความจำเป็นของการอยู่ร่วมกันไปก็ได้ เช่น ถ้าคุณทำสิ่งที่ทุกคนอยากซื้อขาย คุณก็ได้ประโยชน์จากการที่เขามาซื้อของ(และคนที่ซื้อก็ได้เอาไปใช้ประโยชน์) แต่พอคุณมีทรัพยากรมากพอคุณก็อาจขยับไปซื้อหาของที่ใช้ทรัพยากรจำนวนมากซื้อ หรือไปขายของที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากซื้อแทน ซึ่งต้องไปข้องแวะกับกลุ่มที่มีทรัพยากรมาก หรือบางครั้งเมื่อมีสถานะบางอย่างเกิดขึ้นมันก็กลายเป็นการต้องเงื่อนไขบางอย่างในการที่จะข้ามหรืออยู่ในสถานะใดสถานะหนึ่ง ไม่ว่าเฟตุผลของมันจะเป็นอะไรก็ตาม บางครั้งความจำเป็นของการข้องเกี่ยวกับหลายๆคน หลายๆหน่วยจึงดูจางไป และในที่ที่มีทรัพยากรอันจำกัด มันจึงยังต้องอาศัยการต่อรอง แบ่งแยก หรือแบ่งปัน เมื่อดูจากมุมมองของปัจเจกมันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพิจารณาสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมทั้งหมด โดยไม่นับว่าในขณะที่มีความรู้สึกของการแบ่งแยกและสถานะมาครอบปัจเจกไว้ เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปัจเจกยังอาจแสวงหาการยอมรับหรือการเป็นส่วนหนึ่ง กระทั่งเมื่อเป็นส่วนหนึ่งก็ยังอาจแสวงหาสถานะในกลุ่ม ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องอิงอยู่กับ 'ใครอื่น' ทั้งสิ้น และมันก็ยังมีความต้องการเฉพาะของปัจเจกที่อาจไม่อิงกับความรู้สึกของกลุ่มอยู่ดี เมื่อเรื่องราวทะลักออกมานอกเขตสมดุลย์ (ซึ่งบางครั้งก็อาจบอกยากว่ามัน กว้าง ยาว หนา เท่าไหร่กัน?) บางครั้งมันก็อาจไม่มีคำว่าเหตุผลที่ดี(สำหรับใคร?) หรือความเหมาะสม ด้วยซ้ำ และยิ่งอยู่ในที่ที่ทรัพยากรมีจำกัดเรื่องเหล่านี้ก็อาจลุกลามไปในทิศทางที่ยากจะคาดเดา
แม้ว่าในย่อหน้าข้างต้น มันอาจเป็นหลายๆอย่างที่ไม่ได้เป็นเนื้อหาของหนังโดยตรง แต่ความโกลาหลที่ยากจะคาดเดานั่นเป็นความรู้สึกที่อาจสัมผัสได้จากหนังเรื่องนี้
นักแสดงในบทสำคัญทำหน้าที่ได้ดี (ทีแรกว่าจะไล่ชื่อ แต่มันเยอะ) และให้ความรู้สึกร่วมจมไปกับความโกลาหลและความหลอนหลอกในตึกแห่งนี้ ตึกที่ว่าไปก็ดูคล้ายคอนโดระฟ้าในยุคสมัยใหม่อยู่ไม่น้อย
แม้เราจะได้ติดตามนายแพทย์ในตอนแรกเสมือนเขาเป็น 'ตัวเอก' แต่ต่อมาเราก็พบว่าเขาคงไม่ใช่ 'พระเอก' และต่อมาเราก็อาจไม่แน่ใจก็ได้ว่าสิ่งที่เรากำลังติดตามอยู่คืออะไร? หรือเรากำลังติดตามเรื่องราวของตึกแห่งนี้เพียงเท่านั้น ตึกที่อยู่ร่วมกันในทรัพยากรจำกัด และความโกลาหล แม้เราจะได้เห็นสภาพภายนอกตึกที่ตัวละครยังต้องเดินทางไปมาหาสู่ หรือกระทั่งอาจหนีออกไปจากตัวตึกได้ก็ตามถ้าต้องการ ถ้านึกสนุกลองเปลี่ยนสภาพในเรื่องนี้จากตัวตึกเป็นประเทศล่ะ? หรือถ้าเป็นโลก?
หนังสร้างจากนิยายชื่อเดียวกันของ เจ.จี.บัลลาต ซึ่งเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1975 การออกแบบในหนังให้ความรู้สึกคล้ายการคุมโทนในหนังไซไฟโลกอนาคตเรื่อง HER แต่ว่าไป แม้การออกแบบจะควบคุมได้ดีทีเดียว แต่จริงๆแล้วสิ่งที่เราเห็นนอกจากเรื่องโทนสีแล้ว ไม่เหมือนเรื่อง HER ที่แม้จะคุมโทนสี เราก็ยังเห็นอุปกรณ์สารพัดที่สื่อให้เรารู้ว่ามันเป็นโลกอนาคต ในเรื่อง HIGH-RISE เราไม่เห็นอะไรแบบนั้นเลย คิดให้ดีทุกอย่างที่เห็นเหมือนจะถูกยกมาจากจากยุค 70 หรือ 80 ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงที่นิยายถูกเขียนขึ้นด้วยซ้ำ? ไม่ได้บอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่อะไรๆโบราณจะวนกลับมาได้รับความนิยมอีก (หรืออาจเป็นเหตุผลอื่นเช่นเรื่องทรัพยากร) แต่ทำไมถึงรู้สึกไปว่ามันเป็นโลกอนาคต? หรือเป็นเพราะเราไม่เห็นอะไรในอดีตหรือเวลาที่ผ่านมาที่มันจะเกิดความโกลาหลวุ่นวายภายใต้สิ่งก่อสร้างแบบนี้ได้? เราจึงคิดว่าถ้าจะเกิด มันคงต้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอนาคต?...
อ่าว เป็นผมที่รู้สึกไปเองคนเดียวหรอกหรือ?...
แย่จริงเข้าใจผิดเสียแล้ว...
8.3 คะแนน แด่ตึกหลอน
นึกถึง
และจริงๆถ้าต้องพูดถึงนิยายหรือหนังที่ให้ภาพสังคมล่มสลาย(หรือดูน่ากลัว)ในอนาคต จริงๆแม้ไม่ค่อยได้เห็นอะไรภายนอกตึกมาก แต่ตอนที่ดูเรื่องนี้ ตอนที่ตัวเอกเดินทางไปทำงาน แว่บนึกไปถึงหนังเรื่อง BRAZIL ที่กำกับโดย เทอรี่ กิลเลี่ยม ครับ หนังไม่ได้สร้างจากนิยาย และมีบางอย่างทำให้นึกไปถึง 1984 อยู่บ้างเหมือนกัน แม้ไม่หลอนตรงๆเหมือนหนังเรื่องนี้ แต่ก็เป็นหนังที่มีทั้งอะไรสนุกๆ(?) และอะไรหลอนๆอยู่เหมือนกัน
สำหรับการออกแบบ อย่างที่บอกครับ นึกถึง HER (ที่ก็ไม่ได้สร้างจากนิยาย เขียนบท-กำกับ โดย สไปซ์ โจนซ์) ที่คุมโทนประมาณนี้เหมือนกัน แต่เอาจริงๆโลกของ HER แม้จะมีอะไรเศร้าๆ เหงาๆ ก็ยังมีอะไรที่ดูสดใส (?) กว่าในหนังเรื่อง HIGH-RISE นะ
เรื่องของความสูงซึ่งเกี่ยวกับชนชั้นหรือสถานะจริงๆมันก็ถูกถ่ายทอดเอาไว้ในหลากหลายรูปแบบ และในกระบวนของไซไฟก็มีเยอะแยะ อย่างมังงะนี่ เรื่องอะไรสูงๆจะมีสถานะสูงกว่าก็ถูกถ่ายทอดไว้เยอะแยะ เช่น ใน GUNNM (ลิขสิทธิ์ในไทย : สยามอินเตอร์) การผจญภัยของไซบอร์กที่เริ่มเรื่องมาก็เหลือเป็นซากอย่างกัลลี่ในภาคแรกนี่ก็ใช่ (ที่พี่เจมส์คนนั้นถือลิขสิทธิ์ว่าจะทำๆเป็นภาพยนตร์มาน๊านนานแล้วก็เอาไม่จริงเสียที - กะมังงะภาคต่อ (LAST ORDER) ที่แม้อาจไม่ดูลงตัวเท่าภาคแรกแต่เราก็ยังชอบและตามอยู่ที่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เล่มต่อจะออกมาต่อน้า(เพราะมันก็นานมว๊ากแหล่วเหมือนกันนะ...) - เพราะงั้นช่วงนี้ภาคแรกก็คงหาอ่านลำบากกันนิดแหละนะ...) แล้วก็ยังมีมังงะอย่าง BLAME! ที่เล่นกับเรื่องของความสูง (ปีนตึก) กันตรงๆด้วย ซึ่ง...ก็จัดเป็นมังงะแปลไทย (นี่ก็สยามอินเตอร์ฯ) ในตำนานเหมือนกัน เพราะแม้จะจัดพิมพ์จบครบถ้วนกระบวนความ 10 เล่มไปนานแล้วมันก็หาอ่านลำบากมานานมากกแหล่ว... (ผมเองก็ยังมิได้อ่าน...)
ภาพชื่อ Engraving The Confusion of Tongues โดย Gustave Doré (1865) |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น