วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

[ภาพยนตร์] COLONIA หนีตาย : รวดเร็ว ลุ้นระทึก ดูสนุกไปกับหนังอิงประวิติศาสตร์ที่มี เอ็มม่า วัตสัน ในบทนำที่แสดงได้อย่างมั่นใจ


โคโลเนีย เป็นหนังที่กำกับโดยผู้กำกับชาวเยอรมัน FLORIAN GALLENBERGER เล่าเรื่องในบรรยากาศของช่วงการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศชิลี โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่แอร์โฮสเตสในสายการบินเยอรมันคนหนึ่งซึ่งมีโอกาสแวะพบกับคนรักของเธอซึ่งเป็นนักศึกษาเยอรมันนักกิจกรรมที่มีบทบาทในกิจกรรมทางการเมืองในประเทศชิลี ในช่วงเวลาที่ทั้งสองใช้เวลาอยู่ด้วยกัน ก็เกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น โดยนายพลปิโนเชต์ ทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว เธอถูกปล่อยตัวกลับที่พักซึ่งถูกรื้อค้นกระจุยกระจาย ส่วนคนรักของเธอถูกพาตัวขึ้นรถหายไป แทนที่เธอจะตัดสินใจกลับเยอรมันไปพร้อมลูกเรือคนอื่นๆตามกำหนด เธอกลับหาหนทางเพื่อตามหาคนรักของเธอ และนั่นก็นำเธอไปสู่สถานที่หนึ่ง...

โดยรวมหนังเรื่องนี้เป็นหนังดราม่าอิงประวัติศาสตร์ที่มีเซนส์ของแอ็คชั่นพอควรแม้ไม่ใช่หนังมีฉากแอ็คชั่นรัวถี่ยิบระเบิดตูมตาม หนังดำเนินเรื่องค่อนข้างเร็ว และไม่ทำให้รู้สึกเฉื่อย แม้ว่าจะเป็นฉากที่เป็นการเล่าเรื่องที่มีรายละเอียดพอสมควร ก็ยังรู้สึกว่าหนังเล่าเรื่องเร็ว ทำให้แม้ว่าโดยโครงสร้างแล้วหนังอาจมีรายละเอียดที่อาจดูคุ้นหูคุ้นตาจากหนังหลายเรื่อง (ที่อาจทั้งอิงหรือไม่อิงประวัติศาสตร์) หนังก็ยังสามารถนำความสนใจของผู้ชมผ่านจังหวะการเล่าเรื่องที่มุ่งไปข้างหน้าได้ นี่จึงเป็นหนังอิงประวิติศาสตร์ที่ดำเนินเรื่องค่อนข้างเร็ว และทำให้ผู้ชมติดตามหนังและลุ้นระทึกไปกับหนังได้โดยไม่ชักช้า

ถ้าต้องพูดถึงรายละเอียดในตัวหนัง แม้ว่าไม่รู้ถึงรายละเอียดจริงๆในประวัติศาสตร์หลายเรื่อง แต่สถานที่ที่ชื่อว่า โคโลเนีย อิกนีแดด นั้นมีอยู่จริง และเป็นลัทธิคัลท์หนึ่งที่อิงความเชื่อจากศาสนาคริสต์ โดยอาจจจะน่าแปลกอยู่บ้างที่ผู้นำลัทธิในที่นี้เป็นชาวเยอรมัน และยังมีความสัมพันธ์อันดีกับคนในรัฐบาลและส่วนของตำรวจลับ หนังอาจไม่ได้ให้รายละเอียดถูกต้องตรงเป๊ะตามประวัติศาสตร์จริงทั้งหมด (เดาเอา) แต่ก็ทำให้เห็นภาพของลัทธิในลักษณะนี้ได้พอสมควร ว่าความเชื่อศรัทธานั้นถูกบิดมาใช้ในการสร้างลำดับขั้น และควบคุมผู้คนอย่างไรบ้าง และยังพอเห็นโครงสร้างว่าสภาพของลัทธิเช่นนี้ถูกรักษาผ่านการคงสภาพภายในผู้คนในกลุ่มลัทธิไว้อย่างไร แม้เราอาจไม่เข้าใจถึงสภาพภายในจิตใจของคนภายใต้ลัทธิได้อย่างถ่องแท้ก็ตาม อย่างน้อยเราก็เห็นภาพของการที่ศรัทธาและความเชื่อของของผู้คนถูกนำมาใช้เป็นอำนาจที่ควบคุมเกินไปกว่าอำนาจที่คนคนหนึ่งพึงมีได้อย่างน่าขนลุกพอประมาณเลยทีเดียว ผ่านการแสดงของทั้งเจ้าลัทธิ และคนภายในลัทธิด้วย โคโลเนีย อิกนีแดด อาจมีภาพลักษณ์ของความเชื่อที่นำมาจากศาสนาคริสต์ฉาบหน้าไว้ และมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลจึงยังทำให้รักษาสถานภาพของตัวไว้ได้อย่างมีอิทธิพล แต่ลัทธิในลักษณะคล้ายคลึงกันอื่นๆแม้ไม่ได้ถอดมาจากความเชื่อทางศาสนาคริสต์หรือไม่ได้มีรัฐบาลอุ้มชูก็อาจมีลักษณะของการควบคุมศรัทธาของผู้คนได้น่าขนลุกในลักษณะคล้ายคลึงกัน และน่าสะพรึงไม่ต่างกันก็ได้ เช่น ลัทธิโอมชินริเกียวในญี่ปุ่น ส่วนนี้นักแสดงเจ้าลัทธิถือว่าแสดงได้นิ่ง มีทั้งความสงบและถือตัว และค่อยๆเพิ่มความน่าขนลุกให้ตัวละครได้อย่างได้ผล
แม้ทีแรกจะรู้สึกติดภาพ เอ็มม่า วัตสัน ตัวเอกของเรื่องจากเรื่องอื่นที่เธอแสดงตอนเด็กกว่านี้มานิดๆ แต่เธอก็แสดงได้อย่างมั่นใจ และให้ความหนักแน่นพอๆกับจังหวะการเล่าที่รวดเร็วของหนัง จนเมื่อเวลาผ่านไปไม่นานเรารู้สึกเชื่อในความเข้มแข็ง เห็นใจ ลุ้นระทึก และเอาใจช่วยไปกับชะตากรรมของเธอ แดเนี่ยล บรูล ในบทคนรักอาจมีเวลาขึ้นจอน้อยกว่าและถูกโฟกัสไม่มากเท่า เขายังอยู่ในบทที่อาจถูกตั้งข้อสงสัยได้มากกว่าด้วย แต่การแสดงในช่วงเวลาของเขาก็ผ่านการควบคุมได้มากพอที่จะทำให้เราสะเทือนใจและติดตามความเคลื่อนไหวของเขาไปได้

แม้ในส่วนของประวัติศาตร์จริงเรารับรู้ถึงการมีอยู่ของ โคโลเนีย อิกนีแดด และการดำเนินกิจกรรมของลัทธิดังกล่าว รวมไปถึงรายละเอียดทางประวัติศาสตร์บางเรื่อง แต่เนื่องจากไม่มีความรู้มากกว่านั้นจึงบอกไม่ได้ว่าเรื่องราวในส่วนของตัวละครนำนั้นมีความเป็นมาอย่างไรในประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่เห็นในหนังนั้นมีส่วนตรงหรือเสริมเพิ่มจากรายละเอียดจริงขนาดไหนบ้าง จึงไม่แน่ใจในหลายๆเหตุการณ์ในหนังว่าเป็นจริงหรือไม่? ขนาดไหน? ถ้าจะเป็นการเขียนบทเพื่อลุ้นความระทึกของผู้ชม ก็ถือว่าหนังทำได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อรวมกับการเล่าเรื่องที่ไม่ชักช้าของหนังก็ถือว่ามีจังหวะที่ทำให้ลุ้นได้สนุก

COLONIA เป็นหนังอิงประวิติศาสตร์ในประวัติศาสตร์ในประเทศชิลี โดยนายพลปิโนเชต์ ซึ่งโฟกัสไปที่ตัวละครนำชาวเยอรมัน แม้ไม่ได้มีองค์ประกอบที่เหนือคาดมาก (และไม่แน่ใจในรายละเอียดทางประวัติศาสตร์เนื่องจากความรู้อันจำกัดของผู้เขียน) แต่หนังก็วาดภาพภายในลัทธิความเชื่อที่ควบคุมศรัทธาของผู้คนได้เห็นภาพพอควรและน่าขนลุกใช่น้อย หนังยังมีการดำเนินเรื่องที่รวดเร็ว และมีจังหวะลุ้นระทึก ทั้งยังได้การแสดงที่มั่นอกมั่นใจจากตัวละครนำ ตัวละครอื่นๆในบทรองๆ เมื่อรวมกับการดำเนินเรื่องที่รวดเร็วและการให้การแสดงที่น่าพอใจ ก็เป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันผู้ชมให้รับรู้เรื่องราวและลุ้นระทึกไปกับชะตากรรมของตัวเอกไปจนจบ ถือเป็นหนังดูสนุกครับ 7.7 คะแนน 

ใครชอบหนังสไตล์นี้ หรือหนังอิงประวัติศาสตร์ที่ดำเนินเรื่องได้สนุก (หรือ เอ็มม่า วัตสัน) ช่วงนี้ยังพอมีรอบให้ตามดูกันในโรงภาพยนตร์นะครับ


นึกถึง


ก็อดนึกถึง ARGO หนังลุ้นระทึก ที่ได้ออสการ์ไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน (แต่ผู้กำกับไม่ได้เข้าชิง) ที่กำกับและแสดงนำโดย เบน อัฟเฟลค (คนเดียวกะแบทแมนหูสั้นหุ่นบึ้กที่มีเกราะแบทแท้งค์เท่ๆน่ะแหละ) ไม่ได้ หนังได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงเหมือนกัน (จากแผนการช่วยชาวอเมริกันจาก กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ที่มีการปิดล้อมสถานทูตอเมริกัน - แสดงให้เห็นอิทธิพลจากหนังอเมริกันได้ด้วย) แม้จะคิดว่าโครงของ ARGO น่าจะยึดโครงหลักๆจากเหตุการณ์จริงมากกว่า แต่ก็ไม่แน่ใจอยู่ดี และ ARGO ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ในหนังมีการปรับเปลี่ยนเหตุการณ์กันเห็นๆ เช่น แม้รายละเอียดของแผนจะมีหลายอย่างเป็นความจริง แต่เคยอ่านมาว่าในบางตอนนั้นชิลกว่ากันมาก (ซึ่งผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริงกะเขาจึงรู้แต่ที่อ่านมาอีกทีอยู่ดี)

ซึ่งส่วนที่ปรับเปลี่ยนนั้นก็ส่งผลเพิ่มความลุ้นระทึกให้หนังอย่างได้ผลจริง (ได้ทั้งตังค์ทั้งออสการ์เลยคิดดู)


ส่วนเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศชิลี โดยนายพลปิโนเชต์ ก็น่าหาดูชุดหนังไตรภาคกลายๆจากผู้กำกับชิลี พาโบล ลาร์เรน (Pablo Larraín) ซึ่งเล่าเรื่องในยุคปิโนเชต์ปกครองทั้งหมด โดยทั้ง 3 เรื่องนั้น คือ TONY MANERO (2008), POST MORTEM (2010) และ NO (2012)

เรื่องที่มีโอกาสได้ดู คือ NO (เข้าชิงหนังต่างประเทศออสการ์ ปีเดียวกับที่ ARGO ได้รางวัลด้วย) ครับ ตอนมีกิจกรรมของทางหอภาพยนตร์ที่หอศิลป์ฯ ปทุมวัน เป็นเรื่องของช่วงที่มีการให้ประชาชนลงคะแนนว่าจะให้ปิโนเชต์อยู่ในอำนาจต่อไปหรือไม่ โดยมีการทำแคมเปญฉายทางทีวีให้ประชาชนได้ดูกันระหว่างฝ่ายสนับสนุน (YES) และคัดค้าน (NO) ถ่ายทอดหลายๆเรื่องผ่านการประชาสัมพันธ์ได้แสบสันต์ทีเดียว หนังมี กาเอล กาเซีย เบอนัล แสดงนำด้วย

ลองอ่านรายละเอียดเป็นน้ำจิ้มเผื่อหาดูได้ ที่นี่ ก็แล้วกันครับ จริงๆดูแล้วก็อยากหาดูเรื่องอื่นๆก่อน NO เหมือนกัน เพราะเรื่องที่มาเล่าดูจากจากคนละมุมไม่เหมือนกันหมดเลย


สำหรับเรื่องของลัทธิ เคยอ่านเล่มนี้ครับ โอมชินริเกียว ลัทธิมหาภัย หนังสือค่อนข้างเก่าหน่อยเป็นหนังสือแปลเกี่ยวกับลัทธิโอมชินริเกียวในญี่ปุ่นที่เคยมีการใช้ก๊าซพิษพยายามสังหารผู้คนในรถไฟใต้ดิน รายละเอียดหลายอย่างน่าขนลุกทีเดียว สนใจก็ลองหาอ่านกันดูครับ

แปลโดย โรจนา นาเจริญ จัดพิมพ์โดย มติชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น