ภาพยนตร์จากฮังการีเล่าเรื่องเกี่ยวกับชายคนหนึ่งในค่ายนักโทษเอาชวิทซ์ ของเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยนั้นเยอรมันโดยการนำของฮิตเลอร์มีแนวคิดเรื่องของสายเลือดบริสุทธิ์ ซึ่งเชื่อว่าเยอรมันนั้นสืบสายมาจากเผ่าพันธุ์อารยัน แนวคิดนี้นำไปสู่การสังหารหมู่และศึกษาทดลองกายวิภาคนักโทษและชาวยิวมากมายในระหว่างช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2
ผมคิดว่าลองเทคในเรื่องนี่มีพลังสร้างความกดดันและจู่โจมบางอย่างมากกว่า THE REVENENT แม้ว่าลองเทคของเรื่องนี้อาจเป็นไปโดยจุดประสงค์ที่ต่างกับ THE REVENENT อยู่แล้ว มันเหมือนกับหนังตั้งใจจะพาเราติดตามชอลไปดูทิศที่ชอลมุ่งหน้าไปหรือสิ่งที่ชอลเห็นหรือปะทะด้วยมากกว่า มันจะพาเราติดตามแผ่นหลังของชอลไปเจอกับเรื่องที่ชอลเผชิญหรือสิ่งที่ชอลได้เห็น พร้อมสัดส่วนภาพที่ทำให้เห็นแคบลง
สิ่งแรกๆที่ชอล (และเราเห็น) คือ...
เนื่องจากเรื่องนี้เกิดขึ้นในค่าย เราจึงได้เห็นเหตุการณ์ต่างๆในค่าย ผ่านเหตุการณ์ที่ชอลเข้าไปข้องเกี่ยว ซึ่งหลายๆส่วนแม้เราจะไม่ได้เห็นมันชัดเจนเต็มตาอะไร มันก็ยังทำให้หนังอวลไปด้วยความรู้สึกอะไรที่แบบ กดดัน คุกคาม และน่าหวาดหวั่น ไปถึงขั้นพะอืดพะอม ยิ่งเรารับรู้มันด้วยจังหวะและตัวของชอลเองที่อยู่ในสถานที่นั้นอย่างต่อเนื่องด้วยลองเทค หลายๆครั้งมันจึงเหมือนเราต้องรับมันด้วยความอึดอัดทั้งๆที่บางครั้งเราไม่ได้เห็นเหตุการณ์อะไรชัดๆ แต่เราก็รับรู้ได้ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น ในตอนที่ชอลอยู่ตรงนี้ (และเราก็อยู่กับชอลด้วย)
ระหว่างนี้เราไม่รู้หรอกว่าชอลรู้สึกยังไงกับที่ที่เขาอยู่ เรื่องราวที่เขาเกึ่ยวข้อง ความคิดในหัวของเขา ต่อเรื่องที่ผ่านมา วันนี้ หรือวันข้างหน้า เราเห็นความกระตือรือร้นในการทำงานที่ต้องทำในนั้น แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องทำ การทำให้เสร็จไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือรวดเร็ว อาจดีกว่าการหลีกเลี่ยงหรือประวิงเวลาด้วยเหตุผลใดก็ตามก็ได้ แม้เราอาจไม่แน่ใจนักว่าจริงๆนั้นชอลรู้สึกยังไงกันแน่?
แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น เราก็พบว่าชอลเกิดความตั้งใจอย่างหนึ่งขึ้นมา
หลังจากนั้นเราก็เห็นความมุ่งมั่นชนิดหนึ่งประจุขึ้นในตัวชอล โดยที่เราก็ไม่ได้เข้าใจชัดเจนว่ามันคืออะไรกันแน่ หรือเรื่องที่ชอลพูดมันจริงแค่ไหน ขณะเดียวกันเราก็พบว่าตัวตนของชอลก็เกิดเป็นที่ต้องการในระหว่างการ์ดคนอื่นๆซึ่งก็ดูเหมือนจะมีความตั้งใจบางอย่างร่วมกัน และจากความตั้งใจในการขับเคลื่อนบางอย่างของแต่ละคนนี้ หลายๆคนรวมทั้งชอลก็ต้องเอาความตั้งใจความปรารถนาของแต่ละคนมาเกาะเกี่ยวกันไว้ แล้วพยายามทำอะไรๆไปตามข้อจำกัดและเวลาที่มี
อย่างไรก็ตามเราก็จะได้ติดตามเส้นทางของชอลไป โดยที่เราก็จะได้รับรู้และปะติดปะต่อไปเรื่อยๆว่าแต่ละความต้องการนั้นเป็นอย่างไร และเราก็ยังคงมีความไม่แน่ใจ ไม่ชัดเจน กระทั่งไม่เข้าใจหรือสงสัยในหลายๆเรื่อง และหนังก็ดูไม่ได้พยายามจะตอบอะไรชัดเจนในหลายๆเรื่องเหล่านี้ เราอาจพบอะไรที่ส่งผลกับความสงสัยของเรามากขึ้น แต่อย่างไรเราก็จะยังต้องติดตามเส้นทางของชอลต่อไป
หลายครั้งเราก็อดโล่งใจกับบางเหตุการณ์ไม่ได้ แต่หลายครั้งเราก็อดจะหวาดหวั่นใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นไม่ได้
ความสะเทือนใจที่เกิดขึ้นในช่วงสำคัญโดยเฉพาะในช่วงหลังของหนังนั้นอาจจะแล้วแต่ว่าแต่ละคน ตีความสิ่งที่หนังทิ้งไว้ให้อย่างไร เขาเป็นอย่างที่ควรเป็นจริงไหม? แค่เอาตัวรอดหรือไง? ความผิดพลาดนี้ความผิดพลาดนั้นไม่ควรเกิดขึ้นไหม? ทำไมจึงทำอย่างนี้? ทั้งความไม่แน่ใจในตัวหลายๆคนและความไม่แน่ใจในตัวชอลด้วย และอะไรอีกมากมายอาจประดังเข้าสู่ความรับรู้และความสงสัยของผู้ชมอย่างต่อเนื่อง
ถึงอย่างนั้นก็ตาม เชื่อว่า เรายังคงเอาใจช่วยชอล และหลายคนในจุดเดียวกันอยู่
อาจด้วยแม้เราแทบไม่เคยเห็นอะไรชัดๆ แต่เราก็สามารถสัมผัสและสัมผัสได้มากขึ้นๆถึงความโหดร้าย และน่าสะพรึงที่รายล้อมรอบตัวของชอลและคนอื่นๆอยู่แทบจะตลอดเวลา กระทั่งเวลาที่ดูจะเป็นส่วนตัวเราก็หวังไม่อยากให้อะไรเกิดขึ้นมา แต่เราก็รู้สึกว่าเราอาจแน่ใจอะไรไม่ได้ และอาจเพราะการที่หนังติดตามตัวชอลไปตลอด แม้จะรู้สึกว่าหนังก็อาจไม่สามารถเน้นสิ่งอื่นหรือส่วนอื่นได้เลย แต่กลับกลายเป็นว่ามันบังคับให้ผู้ชมเผชิญกับแทบทุกอย่างที่ชอลต้องเผชิญ ซึ่งผู้ชมก็จะได้พบว่าแต่ละอย่างมันช่าง... ซึ่งทำให้เราที่เป็นเหมือนผู้ติดตามชอลในที่ที่นี้คงอดเอาใจช่วยคนที่ต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้
อะไรที่คนเหล่านี้รู้สึกในขณะที่อยู่ที่นั่น? ในฐานะที่พวกเขาดูจะเป็นส่วนพิเศษที่ชะตากรรมแตกต่างไปจากนักโทษที่ถูกต้อนเขามาในค่ายเพื่อ'จัดการ' พวกเขาต้องมีส่วนในการ'จัดการ'หลายๆอย่างเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ ในขณะที่ดูเหมือนจะทำให้สถานะของพวกเขาดูเหนือกว่านักโทษธรรมดา แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็รับรู้ได้ว่าชะตากรรมในท้ายที่สุดของตัวเองก็จะไม่ต่างไปจากนักโทษเหล่านี้
แน่นอนว่าเราคงตอบได้ยากว่าชะตากรรมแบบไหนที่จะดีกว่ากัน?
แต่มันย่อมไม่ใช่ชะตากรรมที่จะทนรับได้ง่ายๆ
เป็นไปได้ที่แต่ละคนอาจมีความต้านทานในการรับชะตากรรมเหล่านี้ได้แตกต่างกันไป บางคนอาจสร้างสถานะเหนือกว่าไว้ได้จนวันสุดท้าย และยังมีความหวังว่าอาจมีอะไรเกิดขึ้นก่อนถึงวันนั้น หรือบางคนอาจตั้งใจจดจ่อกับงานและลำไพ่เล็กๆน้อยๆไปเพื่อจะได้ไม่จดจ่อกับความหวาดกลัวสิ่งที่อาจมาถึงก็ได้ อาจขึ้นกับความตั้งใจร่วมกันบางอย่าง และระหว่างนั้นมันอาจขึ้นกับความเชื่อของแต่ละคน ว่าตัวเองยึดเหนี่ยวอะไรไว้นอกเหนือจากลำแขนของตัวเองบ้างหรือไม่...
ความจริงสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับเหล่าทหารที่กำลังควบคุม(หรือกดขี่)พวกเขาอยู่ได้เช่นกัน
แต่ในด้านของเหล่านักโทษและซอนเดอร์คอมมานโด พวกเขาน่าจะต้องพึ่งสิ่งที่ยึดเหนี่ยวมากกว่าเหล่าทหารที่รู้สึกว่าตนถืออำนาจหรือกระทั่งประกาศิตอยู่ในมือ
กระทั่งอาจต้องพึ่งความรับรู้ว่านี่อาจเป็นเรื่องที่เป็น ชะตาลิขิต เพื่อจะทนรับสิ่งเหล่าได้ หรือแม้บางคนจะทนรับไม่ได้ก็เป็นสิ่งที่ต้องเจออยู่ดี และเมื่อผ่านพ้นช่วงแรกไปได้ มันจะอยู่ไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือ? อะไรที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต ความหวังงั้นหรือ? อะไรล่ะที่เป็นความหวัง?...
สิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงชอลและคนอื่นๆเอาไว้ก็ได้ และการจะรักษามันไว้ คงต้องเชื่อสุดใจในสิ่งนี้จริงๆ แม้ว่าในท้ายที่สุดมันก็จะต้องปะทะกับความหวังของคนอื่นๆด้วยก็ตาม แม้ไม่อาจบอกได้ว่าความหวังของคนหนึ่งที่มาปะทะกันกับอีกคนหนึ่งหรือคนอื่นๆจะมีส่วนพังทลายความหวังใดของใครไปด้วยหรือไม่?... และสิ่งที่ต้องใช้หล่อเลี้ยงความหวังนั้นไว้จะเป็นอะไรก็ดี แม้จะเพื่อให้ต่อความหวังนั้นไปได้เป็นวัน หรือเป็นนาที หรือเป็นเพียงเสี้ยววินาทีก็ตาม
สิ่งที่ชอลเห็นในช่วงท้ายจึงเป็นสิ่งที่แต่ละคนอาจจะตีความว่าอะไรทำให้ชอลแสดงความรู้สึกออกมาเช่นนั้น? เขาเห็นภาพของอีกคนซ้อนทับกับอีกคน หรือว่าเขาเห็นความหวังในความวัยเยาว์ หรือเขาคิดว่าในที่สุดมันก็จบลงเสียที เขาเห็นอนาคต หรือเขาเห็นอะไรอื่นนอกเหนือจากนั้น?...
ชอล...คงรู้...
นี่เป็นหนังที่ในแง่หนึ่งก็ถูกคิดมาอย่างดี และมันก็มีหลายสิ่งที่จู่โจมเรา มันมีประกายแสงริบหรี่แห่งความหวัง แม้มีความคลุมเครือ ไม่เข้าใจ แต่ท่ามกลางความน่าสะพรึง และความกดดันที่จู่โจมถาโถมเข้ามาไม่ว่าจะเงียบงันหรือหนักหน่วง พร้อมๆกับที่บางครั้งเราอยากเบือนหน้าหนี มันก็ทำให้เรายังอยากเอาใจช่วยเขาเหล่านั้น แม้ไม่รู้ว่า...อะไรคือทางที่ดีที่สุด? คือชีวิต? หรือคือคำตอบอื่น? ก็ตาม... 9.1 คะแนน
นึกถึง
จริงๆหนังที่เกี่ยวกับค่ายนาซีช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หรือการเอาชีวิตรอดในช่วงนั้นก็มีไม่น้อย ซึ่งหลายเรื่องก็ไม่ได้หาดูยาก (หรือจริงๆก็ไม่ได้ดูยากด้วย) เช่น THE PIANIST ของผู้กำกับ โรมัน โปลันสกี้ หรือจะเป็นอีกด้านไปเลยคือเรื่องของชาวเยอรมันนักธุรกิจที่มีส่วนช่วยชาวยิวแทน ใน SCHINDLER'S LIST หนังออสการ์ของผู้กำกับ สตีเว่น สปีลเบิร์ก เป็นต้น
แต่ช่วงนั้นนึกถึงสารคดี 2 เรื่องที่แม้ไม่ใช่เรื่องราวของค่ายนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็เป็นเรื่องระดับฆ่าล้างพันธุ์ ซึ่งเกิดขึ้นในอินโดนีเซีย เป็นสารคดีที่สำรวจเรื่องนี้โดยผู้กำกับคนเดียวกัน คือ โจชัวร์ ออฟเพนไฮเมอร์ ที่ DOCUMENTARY CLUB จัดฉายทั้งสองเรื่อง ที่ตั้งใจจะเขียนถึงเหมือนกันตั้งแต่เพิ่งไปดูมา ใกล้กับ SON OF SAUL นี่แหละ แต่...ก็นั่นแหละครับ จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้เขียน (จนสารคดีชิงออกโรงไปตั้งนานแล้ว เขามีฉายเรื่องอื่นแล้วออกโรงไปอีกหลายเรื่องแล้วด้วยซ้ำ) ก็เลย... เอาเป็นว่าคงได้เขียนแหละ แต่เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นครับ
ความแปลกของสารคดี 2 เรื่องนี้เมื่อคิดรวมกับการได้ดู SON OF SAUL ก็คือ ขณะที่ SON OF SAUL นั้นเป็นหนังที่ทำมาซะจนมันกดดันเราได้ขนาดที่เรารู้สึกว่ามันดู 'จริง' สารคดี 2 เรื่องนี้ซึ่งน่าจะเล่ากับซับเจ๊กท์ที่เป็นตัวเป็นตนจริงๆเลยมากกว่ากลับมีอะไรหลายๆอย่างที่ทำให้มันทั้งดู 'จริง' และ 'เหนือจริง' ไปด้วยซะอย่างนั้น (โดยเรื่องแรกจะรู้สึกมากกว่าเรื่องหลัง ซึ่งอาจเพราะวิธีที่เลือกเล่า แต่ในเรื่องหลังแม้จะรู้สึกน้อยกว่ามากๆ แต่ก็ยังมีอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึกแบบนั้นแบบแปลกๆบอกไม่ถูกอยู่) สารคดี 2 เรื่องนั้น คือ
THE ACT OF KILLING
และ
THE LOOK OF SILENCE
โดยที่แม้มันจะมีความรู้สึกอย่างที่ว่า แต่ทั้งสองเรื่องก็ยังส่งความรู้สึกน่าสะพรึง ระคนน่าเศร้าของความโหดร้ายที่ มนุษย์ มีต่อ มนุษย์ ให้ได้รู้สึกอย่างเข้มข้น...
เกร็ดเล็กน้อย
SON OF SAUL เป็นผลงานกำกับของ ลาซโล่ เนเมซ ซึ่งเป็นผลงานกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเขา และเขียนบทโดย คลาร่า โรเยอร์ ซึ่งไม่เคยเขียนบทภาพยนตร์มาก่อน และนำแสดงโดย เกซ่า เรอห์ริก เขาเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ยิว นักเขียน และกวี นี่เป็นการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น